มท.1 ฮึ่มใช้ภาษี จัดการ’เจ้าหนี้’

สพฐ.สำรวจยอดเร่งช่วยแก้หนี้ครู

มท.1อนุทินนำประชุมบอร์ดแก้หนี้นอกระบบนัดแรก แจงแนวทางบูรณาการทำงาน อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหา 3 ด้าน ไกล่เกลี่ย-บังคับใช้กฎหมายช่วยเหลือเงิน ตั้งอนุกก.ให้ปลัดมท. นั่งประธาน เกาะติดปัญหา ขู่เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินต้น จะโดนมาตรการทางภาษีถ้าไม่จ่ายโดนคดีอาญา จี้คดีลูกหนี้ชนเจ้าหนี้ ดับแล้วหนี โฆษกรัฐมั่นใจแก้หนี้นอกระบบ ประโยชน์มหาศาล ทั้งดึงเงิน 5 แสนล้านกลับเข้าระบบเศรษฐกิจฟื้นภาคการผลิต ช่วยคุณภาพชีวิต 5 ล้านคน สพฐ. ถก คอนเฟอเรนซ์ จี้เขตพื้นที่ศึกษาสำรวจ ยอดหนี้-ช่วย 1.4 ล้านครูแบกหนี้ ตั้งอนุกรรมการ 7 คณะ ย้ำ ม.ค.67 ต้องมีมาตรการชัดเจน ลดดอก-ยืดชำระหนี้ยาว 75 ปี

‘มท.หนู’จี้คดีชนเจ้าหนี้ดับ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 ธ.ค. ที่ทำเนียบ รัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีลูกหนี้ขับรถชนเจ้าหนี้เสียชีวิต เนื่องจากปัญหาหนี้นอกระบบ เพราะจ่ายดอกเบี้ยเกินเงินต้นไปจำนวนมากว่า ได้ให้นายอำเภอ ผู้กำกับเข้าไปไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นเรื่องรายละเอียดที่ต้องรอให้ผู้ปฏิบัติรายงาน ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการ ไกล่เกลี่ยหนี้ สมมติลูกหนี้จ่ายดอกเกินต้นไป 3-4 รอบแล้วก็มีเหตุผลให้จบไป

“การแก้ปัญหาเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตั้งเฉพาะฝ่ายปกครอง และตำรวจ เข้ามาทำหน้าที่ดูแล แต่มีกระทรวงการคลังด้วย กรณีหากจำเป็นก็ต้องใช้กฎหมายเข้าไปดูแล พร้อมดูว่าเราจะดึงหนี้นอกระบบมาในระบบอย่างไร เราจะทำภาพรวมให้ดีที่สุด เรื่องของดอกเบี้ยก็ต้องพูดคุยกัน ว่าลูกหนี้จ่ายไปกี่รอบแล้ว ส่วนนี้ลูกหนี้ต้องบอก ถ้าหลายรอบยังไม่ยอมปลดหนี้กัน ทบไปเป็นสิบๆ รอบแล้ว ก็ต้องจบ ถ้าไม่จบดอกเบี้ยคิดเกิน ภาษี ไม่ได้จ่ายก็จะโดนเบี้ยปรับเพิ่มมากกว่าเงินต้นหลายเท่า และมีความผิดทางอาญาด้วย” นายอนุทินกล่าว

ถกนัดแรกหนี้นอกระบบ

ต่อมา เวลา 11.45 น. นายอนุทิน รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผบ.ตร. พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

นายอนุทินกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการประชุม นัดแรกหลังนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการ ต่อไปนี้จะต้องร่วมกัน ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อนำไปสู่การบรรเทาผลกระทบให้ลูกหนี้ ซึ่งต้องแบกรับภาระไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินโดยถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา การถูกข่มขู่ โดยใช้ความรุนแรงต่อไป

จากนั้น นายอนุทินได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงขั้นตอนดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามแนวนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ซึ่งจะเป็นการบูรณาการการทำงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนแรกการลงทะเบียน ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2566-29 ก.พ.2567 มีกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหน่วยงานหลัก และมีหน่วยงานอื่นเสริมคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักนายกรัฐมนตรี โดยทั้งหมดเชื่อมโยงข้อมูลกัน โดยประชาชนได้รับหมายเลขอ้างอิง (Reference Number) เพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าทางเว็บไซต์ภาครัฐได้ตลอด ขั้นตอนที่ 2 ดำเนินการไกล่เกลี่ยและติดตามผล และ ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดระยะเวลาดำเนินการ เป้าหมาย และตัวชี้วัด ที่ต้องชัดเจน

นายอนุทินกล่าวต่อว่า คณะกรรมการชุดนี้ มีภารกิจหน้าที่ครบทุกมิติทั้งในด้านการไกล่เกลี่ย การบังคับใช้กฎหมาย การรักษา ความสงบ และการแก้ไขปัญหา โดยมีผู้แทน จากหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมครบทุกหน่วย และเราจะมีการกำหนดไทม์ไลน์และตัวชี้วัด ชัดเจน รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการชุดที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานขึ้นมา ขับเคลื่อนและติดตามการทำงานท่านนายกฯ ได้มีการให้นโยบายในวันที่คิกออฟโครงการว่าขอให้ดำเนินเรื่องนี้ด้วยความรวดเร็ว เด็ดขาด เข้มงวดในการใช้กฎหมาย มีการตั้ง เคพีไอ ในการดำเนินงานขอให้ทุกคนซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนงาน ได้สั่งการผู้รับผิดชอบในการ ดำเนินการอย่างรวดเร็วต่อไป

ลงทะเบียนพุ่งแสนคน-6 พันล.

นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมมีวาระ เพื่อพิจารณาและและมีมติดังนี้ เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีปลัดมท. เป็นประธานอนุกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ โดยชุดนี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ เชิญเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ความเห็น หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยมีกรมการปครองเป็นเจ้าภาพหลัก และมีสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมสนับสนุน โดยนับแต่เริ่มปิดลงทะเบียนจนถึง 18 ธ.ค.2566 เวลา 11.30 น. ปรากฏว่ามีลูกหนี้ มาลงทะเบียนแล้ว 99,484ราย คิดเป็น มูลหนี้ 5,926 ล้านบาท โดยในระหว่าง การลงทะเบียนดังกล่าว ก็มีการเชิญเจ้าหนี้ลูกหนี้มาไกล่เกลี่ยโดยใช้กลไกของฝ่ายปกครอง บูรณาการร่วมกับตำรวจ และพนักงานอัยการ โดยทางเจ้าหนี้-ลูกหนี้ไกล่เกลี่ยกันได้ก็จะมีการทำบันทึกประนี ประนอมไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการ ไปแล้ว 20 ราย

2.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มี ตร. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยบูรณาการร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ช่วยเหลือซึ่งทาง ตร.ได้ดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้กำลังประทุษร้ายลูกหนี้ไปแล้วบางส่วน รวมทั้ง เรียกเจ้าหนี้มาทำความเข้าใจนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอีกด้วย

3.ด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน จะมีกระทรวงการคังเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสถาบันทางการเงินของรัฐในการปล่อยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขน้อยและอาจมีระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ตามสาเหตุแห่งการเป็นหนี้ ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เช่นกระทรวง แรงงาน กระทรวงกระทรวงมหาดไทยให้การ สนับสนุนด้านการหาอาชีพเสริม สนับสนุน ปัจจัยการผลิต

ชี้ดอกสูงสุด 1.5% แฟร์แล้ว

นายอนุทินกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ ตัวชี้วัดการดำเนินการทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย ตัวชี้วัดการไกล่เกลี่ยของกรมการปกครอง กำหนดการเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างน้อย ร้อยละ 80 ของลูกหนี้ในระบบและเจ้าหนี้ตามฐานข้อมูล โดยตกลงกันได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดย ตร. ดำเนินคดีได้ทั้งหมดร้อยละ 70 ของเรื่องรับดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ หากเป็นสำนวนไม่ยุ่งยากดำเนินการเสร็จใน 3 เดือน กรณีมีความซับซ้อนไม่เกิน 3 เดือน

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนของด้านการ ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดย สำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งต้องได้รับ การให้สินเชื่อโดยธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายผู้ได้รับความช่วยเหลือที่ร้อยละ 70 ของผู้ลงทะเบียน โดยการปล่อยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำธนาคารรัฐมีเงื่อนไขน้อย โดยกำหนดให้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ลูกหนี้ เคยเสีย ร้อยละ 2 บาทต่อวัน หรือร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 20 ต่อเดือนก็มี ซึ่งหากไกล่เกลี่ยลงตัวแล้วเจ้าหนี้จะได้เงินคืนอย่างแน่นอน โดยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ ร้อยละ 0.75-1.5 ต่อเดือน ขึ้นอยู่แต่ละเงื่อนไข

“หากลูกหนี้มีหลักประกัน มีความ น่าเชื่อถือ มีงานทำ มีรายได้แน่นอนอัตราดอกเบี้ยก็จะอยู่ในระหว่างที่กำหนด ซึ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ยนี้ไม่ต้องถามกันแล้วว่าแฟร์หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ลูกหนี้ ก็เคยจ่ายร้อยละ 2 บาทต่อวัน รับได้หรือไม่ได้ หรือร้อยละ 60 ต่อเดือนก็รับมาแล้ว ปีหนึ่งๆ เท่ากับเสีย อัตราดอกเบี้ย 720% ต่อปีก็รับมาแล้ว ซึ่งวันนี้เราจะทำให้เหลืออยู่ไม่เกิน ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ซึ่งนอกจากใช้กลไก และมีการสนับสนุนเรื่องของ สินเชื่อ ดอกเบี้ย ยังใช้กลไกของรัฐอย่างกระทรวงแรงงาน และมท. เข้ามาพัฒนาอาชีพ หารายได้ เพื่อสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่อไป” นายอนุทินกล่าว

ดึงเงินคืน 5 แสนล.-5 ล้านคน

ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาล ในการเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน โดยการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาลได้กำหนดแนวทางดำเนินการอย่างชัดเจนและ บูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก โดยแนวทางมาตรการแก้หนี้แต่ละกลุ่ม ที่ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน ดังนี้ กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ ได้ครอบคลุม มากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระ ในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร โดยลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการ พักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้ กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้าง หนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

“ประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้น หากการ แก้หนี้ทั้งระบบสัมฤทธิผลตามแผนงานของรัฐบาลคือจะดึงเม็ดเงินกำลังซื้อกลับคืนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 500,000 ล้านบาท และจะฟื้นคืนศักยภาพการผลิตของภาคประชาชนกลับคืนมาได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ล้านคน” นายชัยกล่าว

คนกรุงแจ้งชื่อแล้ว 6 พัน

ที่ศาลาว่าการกทม. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลัง การประชุมคณะผู้บริหาร ว่า ในที่ประชุม สำนักพัฒนาสังคม (สพส.) รายงานผล การลงทะเบียนขอความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 18 ธ.ค. มีลูกหนี้ลงทะเบียน 6,406 ราย เจ้าหนี้ 5,311 ราย รวมมูลค่าหนี้ 499.391 ล้านบาท เขตที่มีการลงทะเบียนลูกหนี้สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ เขตคลองสามวา ลูกหนี้ 327 ราย เขตสายไหม 316 ราย เขตหนองจอก 304 ราย เขตลาดกระบัง 293 ราย และเขตดอนเมือง ลูกหนี้ 252 ราย ส่วนเขตที่มีการลงทะเบียนลูกหนี้น้อยที่สุด คือ เขตสัมพันธวงศ์ 15 ราย ในการลงทะเบียน กลุ่มลูกหนี้มีความต้องการ ทั้ง 3 อย่าง คือ การเจรจาประนีประนอมหนี้ ความต้องการ เงินกู้ และความต้องการด้านอาชีพ

นายศานนท์กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนขอความช่วยเหลือหนี้นอกระบบ ผ่านช่องทางการลงทะเบียนที่สะดวก ได้แก่ เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th App ThaiID สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือที่สำนักงานเขตทุกแห่งใน กทม. จนถึงวันที่ 29 ก.พ.2567 ระหว่างเวลา 06.00 น.-23.00 น.

จี้สพท.แก้หนี้ 1.4 ล้านครู

ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมพร้อมมอบนโยบายแก่ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 245 เขตทั่วประเทศ กรณีการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านระบบระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ได้มอบหมาย สถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ สำรวจสภาพหนี้ และจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สิน เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสีแดง หรือ กลุ่มวิกฤต คือ ผู้ที่เหลือเงินเดือนไม่ถึง 30% หลังจากหักการชำระหนี้ และกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยขอเน้นย้ำให้ทุกเขตพื้นที่ เร่งช่วยเหลือเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อชะลอการดำเนินการทางกฎหมายและหาแนวทางบริหารจัดการหนี้ต่อไป 2.กลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่เหลือเงินเดือนไม่ถึง 30% มีแนวโน้มจะเป็นหนี้วิกฤต ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคุมยอดหนี้ และ3. กลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มครู ที่มีหนี้เล็กน้อย ถึงไม่มีหนี้สิน

“ในเชิงการป้องกัน ได้เน้นย้ำผู้บังคับบัญชา ทั้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และ ผู้อำนวยการโรงเรียน ตรวจสอบสภาพหนี้สินครูก่อนมีการอนุมัติกู้ในระบบต่างๆ เพื่อคงสภาพของกลุ่มสีเขียวและกลุ่ม สีเหลืองเอาไว้ เพื่อให้ครูและบุคลากร ทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ ให้เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเป็นตัวชี้วัดของสถานีแก้หนี้ ระดับเขตพื้นที่ฯ และจะมีการติดตามผล อย่างใกล้ชิด เป็นรายเดือนต่อไป” ว่าที่ ร้อยตรีธนุ กล่าว

ย้ำยืดชำระหนี้ถึง 75 ปี

ขณะที่ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการ กำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชน รายย่อย โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กรรมการ และมี รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อวิเคราะห์ปัญหา จัดทำแนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ ของประชาชนทั้งประเทศ ทั้งนี้ จากการประชุมหารือคณะกรรมการกำกับการแก้ไข หนี้สินของประชาชนรายย่อย เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมเสนอแนวทางแก้ไขหนี้กลุ่มข้าราชการ ในเบื้องต้น ดังนี้

1.ตระหนักถึงปัญหาความซับซ้อน ของหนี้ข้าราชการครู จำนวน 900,000 ราย มูลหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท 2.กำหนดให้มีเงินเหลือเพื่อดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่น้อย กว่า 30% ของเงินเดือน โดยภายในเดือนม.ค. 2567 จะต้องมีการดำเนินการเบื้องต้นที่ชัดเจน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย/ปรับจำนวน งวดให้ยาวขึ้น ไม่เกินอายุ 75 ปี 3.กำชับมาตรการของสพฐ. และการดำเนินงานของ ผอ.สพท. ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการ ภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 และ 4.ขยายผลจาก ข้อ 1-3 ไปยังหนี้ นอกระบบ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับ กับแนวทางของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ. โดยมีคณะอนุกรรมการฯ ย่อย อีก 7 คณะ เพื่อให้การปฏิบัติงานครอบคลุมทุกมิติ และขอให้สถานีแก้หนี้ครูร่วมปฏิบัติงาน ที่สำคัญนี้กับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายในการทำให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรในสังกัดดีขึ้นต่อไป

ลงทะเบียนทะลุแสนคน

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวง มหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 18 ธ.ค. นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการ ปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 6,085.977 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 100,467 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 88,669 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 11,798 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 71,202 ราย

โดยมีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1.กรุงเทพฯ มีผู้ลงทะเบียน 6,322 ราย เจ้าหนี้ 5,253 ราย มูลหนี้ 511.824 ล้านบาท 2.นครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,323 ราย เจ้าหนี้ 3,504 ราย มูลหนี้ 262.236 ล้านบาท 3.สงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,986 ราย เจ้าหนี้ 2,817 ราย มูลหนี้ 248.398 ล้านบาท 4.นครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,884 ราย เจ้าหนี้ 2,428 ราย มูลหนี้ 299.260 ล้านบาท 5.ขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,610 ราย เจ้าหนี้ 2,070 ราย มูลหนี้ 190.513 ล้านบาท

ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.แม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 133 ราย เจ้าหนี้ 86 ราย มูลหนี้ 5.394 ล้านบาท 2.ระนอง มีผู้ลงทะเบียน 207 ราย เจ้าหนี้ 132 ราย มูลหนี้ 15.167 ล้านบาท 3.สมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 267 ราย เจ้าหนี้ 187 ราย มูลหนี้ 8.575 ล้านบาท 4.ตราด มีผู้ลงทะเบียน 334 ราย เจ้าหนี้ 200 ราย มูลหนี้ 10.487 ล้านบาท และ 5.สิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 364 ราย เจ้าหนี้ 238 ราย มูลหนี้ 13.679 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับ ลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอล์กอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่

 

 

 

ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 20 ธ.ค. 2566 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200