‘พิษณุโลก’สั่งเข้มคุมไฟป่า แม่กลองวิกฤตฝุ่นพิษพุ่ง

นายกฯกำชับตรวจเข้มป้องกันฝุ่นพิษ ยันไม่สั่งเวิร์กฟรอมโฮม กทม.ฝุ่นยังสูง-แม่กลองหนัก ผวจ.พิษณุโลกสั่งคุมไฟป่า

นายกฯยังไม่สั่งเวิร์กฟรอมโฮม

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กทม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวก่อนเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่า สำหรับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ฝากดูถึงวิธีการและมาตรการในการวัดและตรวจเข้มดำเนินโครงการต่างๆ ต้องเต็มที่ ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องของฝุ่นละออง PM2.5 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอให้มีการเวิร์กฟรอมโฮมพื้นที่ กทม. นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของฝุ่นมันขึ้นๆ ลงๆ เรื่องการเวิร์กฟรอม โฮม ผู้ว่าฯกทม.ได้เสนอเป็นแนวทางหนึ่ง ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดเคยทำมาก่อน แต่ช่วงเวลานี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหา เมื่อถามว่า ยังไม่ถึงขั้นจะต้องมีคำสั่งให้เวิร์กฟรอมโฮมใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า คงไม่มีคำสั่งออกไป ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัทหรือหน่วยงานนั้นๆ

กทม.ฝุ่นยังสูง-แม่กลองยังหนัก

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า (GISTDA) รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอพพลิเคชั่นเช็คฝุ่นพบว่า จ.สมุทรสงคราม มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพระดับสีแดงเพียงจังหวัดเดียว อยู่ที่ 84.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในขณะที่อีก 30 จังหวัด เกินค่ามาตรฐานระดับสีส้มที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพ ขณะที่กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 42 เขต สูงสุดที่พระโขนง ดอนเมือง หลักสี่ บางกอกใหญ่ บางนา เป็นต้น ส่วนอีก 8 เขต พบค่าฝุ่นระดับปานกลาง

ผวจ.พิษณุโลกสั่งคุมไฟป่า

ที่ จ.พิษณุโลก สำนักงานทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ประจำวันที่ 14 ธันวาคม ผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) บริเวณสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง มีค่าเท่ากับ 50.2 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าฯพิษณุโลก ออกประกาศกำหนดเขตควบคุมไฟป่าและกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาด โดยกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นวาระสำคัญของ จ.พิษณุโลก ที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งเฝ้าระวังระงับป้องกันความเสียหายจากไฟป่ากำหนดให้พื้นที่ จ.พิษณุโลก เป็นเขตควบคุมไฟป่าและขอความร่วมมือห้ามเผาโดยเด็ดขาด โดยกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566-15 มกราคม 2567

พื้นที่ผ่อนผันต้องแจ้งจนท.

นายภูสิตกล่าวว่า และกรณีมีความจำเป็นต้องเผาวัชพืชในที่ทำกินในเขตพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนผันหรือแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือพื้นที่อื่นใด ผู้ถือครองที่ดินดังกล่าวต้องจัดทำแนวกันไฟ พร้อมแจ้งกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านก่อนดำเนินการทุกครั้ง เพื่อประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมมิให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่ อื่นๆ หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติ มีโทษจำคุกและปรับตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง และตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ -31 พฤษภาคม 2567 รวม 121 วัน ห้ามมิให้มีการเผาใดๆ ทั้งสิ้น โดยให้จัดเก็บเศษวัสดุและเศษเชื้อเพลิงในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าแทนการเผา เป็นการลดปริมาณเชื้อเพลิง ลดผลกระทบและความรุนแรงของไฟป่าและฝุ่นละอองจากการเผา เน้นย้ำการป้องกันและลดมลพิษที่ต้นทางจากทุกแหล่งกำเนิด

พิจิตรประชุมป้องไฟป่า-ฝุ่นพิษ

ที่ จ.พิจิตร นายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นประธานประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก จ.พิจิตร ปี 2566-2567 โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร (กอปภ.จ.พิจิตร) ได้ประเมินและติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก พบว่าในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้งของทุกปี ประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร ดังนั้น จ.พิจิตร จึงได้มีการขับเคลื่อนเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสรุปเบื้องต้นให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร สำรวจวัสดุ อุปกรณ์ให้พร้อม ให้ทุกหน่วยและทุกอำเภอ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และร่วมกันประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนงดจุดเผาป่า เผาตอซัง และขยะมูลฝอยต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

วาง10มาตรการเฝ้าระวัง-รับมือ

สำหรับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤต/มาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง/มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ดังนี้ 1.ให้ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างใกล้ชิด 2.จัดทำแผนเผชิญเหตุให้ครอบคลุมทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ 3.เมื่อปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน (37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ให้บูรณาการหน่วยงานในการแก้ไขปัญหา 4.รณรงค์ประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำในการปฏิบัติตนให้แก่ประชาชน 5.ให้ดำเนินมาตรการด้านการขนส่งและจราจร 6.ให้ดำเนินมาตรการควบคุมการเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด 7.ให้ดำเนินมาตรการในการตรวจสอบ และควบคุมการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ 8.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่รับผิดชอบ 9.ให้จัดระเบียบการเผาตามลักษณะพื้นที่แบ่งเป็นช่วงเวลาตามความเหมาะสมและสอดคล้องตามหลักวิชาการ 10.ส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างความตระหนัก และปรับพฤติกรรมของประชาชนในการลดการเผาในที่โล่ง และการเผาขยะในที่ชุมชน/เมือง ทั้งนี้ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ให้รายงานไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 16 ธ.ค. 2566 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200