กทม.เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติด้านการแพทย์ – สาธารณสุข รองรับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยและติดตามสถานการณ์ เพื่อออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น และหากมีการรายงานค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ กทม.มีมาตรการ ดังนี้ (1) ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของอาคารที่ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล (รพ.) (2) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีฝุ่นละออง PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และ (3) สั่งการให้ รพ.สังกัด กทม. เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ได้แก่ รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 (วันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 08.00 – 12.00 น.) รพ.กลาง โทร.02 225 1354 (วันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น.) รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7198 (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.30 น.) รพ.สิรินธร โทร.02 328 6900 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 15.30 น.) และ รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.02 444 0163 ต่อ 8946 (วันอังคาร เวลา 08.00 – 16.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาและบริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 ขณะเดียวกันได้จัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของ รพ.สังกัด กทม. รวมทั้งประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นละอองสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคาร หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที
นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” (สสส.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ “เตรียมพร้อมรับมือ PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”(วช.) เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละออง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพฯ ให้ครอบคลุม และได้ผลลัพธ์ ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5
กทม.เร่งเยียวยาผู้เสียหายเหตุป้ายบอกทางล้มทับรถยนต์บนสะพานข้ามแยกศิริราช
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายกรณีป้ายจราจรบนสะพานข้ามแยกศิริราช โครงการต่อขยายสะพานอรุณอมรินทร์ ล้มใส่รถยนต์ของประชาชนว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ค.65 เบื้องต้นผู้เสียหายได้ประสานไปยังสำนักการจราจรและขนส่งและต่อมาได้ส่งเรื่องให้ สนย.เพื่อประสานกับผู้เสียหาย โดยสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ประกันภัยฝ่ายผู้เสียหายเรียกร้อง เป็นเงิน 30,000 บาท ซึ่งผู้รับจ้างได้ชำระเรียบร้อยแล้ว และในระหว่างที่ซ่อมรถ ผู้รับจ้างจะจ่ายค่าเสียเวลาให้ผู้เสียหาย วันละ 500 บาทจนกว่าจะซ่อมรถเสร็จ และส่วนที่ผู้เสียหายเรียกร้องโดยตรงเป็นค่าสินไหม จำนวนเงิน 400,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้รับจ้าง ทั้งนี้ สนย.ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ติดตามเรื่องค่าสินไหมที่เรียกร้อง โดยนัดหมายผู้เสียหายและผู้รับจ้างมาเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 13 ธ.ค.2565 อย่างไรก็ตาม สนย.ได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบและกำชับผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของ กทม.ให้ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัย หมั่นตรวจสอบสภาพป้ายที่ติดตั้งในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ หากพบความชำรุดบกพร่องให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทางสัญจร
กทม. – สธ.ลงพื้นที่แจ้งเตือนการจำหน่ายลูกโป่งหัวเราะบริเวณถนนข้าวสาร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวกรณีพบผู้ค้าลักลอบจำหน่ายลูกโป่งหัวเราะบรรจุก๊าซไนตรัสออกไซด์บริเวณถนนข้าวสาร เขตพระนคร ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับกรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ.ลงพื้นที่บริเวณถนนข้าวสาร เพื่อแจ้งเตือนผู้ที่นำก๊าซไนตรัสออกไซด์มาจำหน่าย หรือนำบรรจุใส่ลูกโป่ง ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ.2510 และ พ.ศ.2561 ในข้อหาจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากยาดังกล่าวเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ผู้ใดผลิต/นำเข้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (ก๊าซหัวเราะ) ในทางการแพทย์ใช้เป็นก๊าซดมสลบก่อนการผ่าตัด หรือถอนฝัน ลดอาการปวดได้ดี ออกฤทธิ์รวดเร็ว และหมดฤทธิ์เร็วเช่นกัน ตามกฎหมายถือเป็นยาที่ใช้ตามโรงพยาบาล (รพ.) และความในข้อ 5 (2) ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ยาฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมาย ว่าด้วยยาเฉพาะในเขตจังหวัด/อำเภอที่ตนมีอำนาจหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 91 ยกเว้น (4) ของมาตรา 91 ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งในสังกัด สธ. (คณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมปศุสัตว์ และกรมประมง)
กทม.เข้มงวดตรวจสอบคุณภาพอาหาร – สารปนเปื้อนตลาดในความดูแล
น.ส.สมฤดี จันทรพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการตรวจสอบความสะอาดคุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสารฟอร์มาลีนและสารเร่งเนื้อแดงในตลาดที่อยู่ในความดูแลของ กทม.ว่า สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักอนามัย และสำนักงานเขตที่ตลาดในกำกับดูแลทั้ง 12 แห่งตั้งอยู่ ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอาหารเป็นประจำทุกเดือน เพื่อตรวจคุณภาพอาหารทางด้านเคมีและจุลชีววิทยา โดยเจ้าหน้าที่จะเดินเก็บตัวอย่างเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ผักสด ขิงซอย ถั่วงอก ลูกชิ้น น้ำแช่ของหมักดอง อาหารทะเล น้ำแช่กุ้ง หมึก อาหารคาว – หวาน อาหารปรุงสุก อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มและน้ำแข็ง ฯลฯ นำมาตรวจหาสารปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ ได้แก่ สารบอแรกซ์สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน กรดซาลิซิลิค ยาฆ่าแมลง ซึ่งผลการตรวจจะแจ้งให้สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครและตลาดในสังกัดได้รับทราบเป็นหนังสือจากสำนักงานเขตต่าง ๆ โดยผลการตรวจไม่พบสารปนเปื้อนในอาหารแต่อย่างใด ตลอดจนผู้ค้า
ที่ประกอบการค้าภายในตลาดในสังกัด ได้ให้ความร่วมมือตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในการจัดซื้อสินค้าบริโภคมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคให้มีความสะอาด ปลอดสาร ปลอดภัย โดยผู้ค้าจะระมัดระวังการสั่งซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และมีเอกสารรับรองจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2245 4964 และ 09 7046 7549 รวมทั้งกำชับให้ผู้อำนวยการตลาดและผู้จัดการตลาดประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย เพื่อให้ข้อมูลเมื่อได้รับสารฟอร์มาลีนเข้าสู่ร่างกายให้ทราบอย่างทั่วถึงต่อไป
เขตราษฎร์บูรณะกำจัดวัชพืชเปิดทางน้ำไหลแก้ไขปัญหาน้ำในลำรางไหลเข้าบ้านเรือนประชาชน
นายดลจิตร์ เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ กทม. กล่าวถึงการแก้ปัญหากรณีประชาชนในซอยประชาอุทิศ 17 ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำเน่าเสียในลำรางสาธารณะไหลเข้าบริเวณบ้านว่า สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า บ้านดังกล่าวอยู่ติดกับลำรางสาธารณะ ซึ่งเชื่อมกับคลองแจงร้อง โดยในลำรางมีวัชพืชขึ้นจำนวนมากและมีเศษใบไม้ทับถม ทำให้การระบายน้ำไม่สะดวก เกิดน้ำขัง สำนักงานเขตฯ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่กำจัดวัชพืชและเก็บเศษใบไม้ รวมทั้งวัชพืชออกจากลำราง เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลลงคลองแจงร้องได้สะดวก ซึ่งปัจจุบันไม่มีน้ำขังแล้ว