กทม.ปรับแผนจัดซื้อนมโรงเรียนตามที่ ครม.อนุมัติเพิ่มราคากลาง
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงแนวทางการสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2565 ของโรงเรียนสังกัด กทม.ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนศ.ได้สร้างความเข้าใจแก่หน่วยจัดซื้อขายอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 โดยให้ทำสัญญาซื้อขายอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในราคาเดิมไปก่อน และกำหนดแนบท้ายสัญญาว่า “หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับราคากลางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนแล้ว ให้หน่วยจัดซื้อสามารถแก้ไขสัญญาซื้อขายอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี” นอกจากนั้น กทม.ยังได้เตรียมความพร้อมด้านงบประมาณ เพื่อจัดซื้อนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 2/2565 ของโรงเรียนสังกัด กทม.ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติปรับเพิ่มราคากลางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพิ่มขึ้น 0.31 บาท/กล่อง หรือถุง โดยแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาปรับแผนการจัดซื้อนมโรงเรียนตามราคากลางที่ ครม.อนุมัติเพิ่มราคากลาง กรณีที่งบประมาณไม่เพียงพอ กทม.จะเสนอเรื่องขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ไปยังสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนสังกัด กทม.ต่อไป
สำหรับแผนการจัดซื้อและแจกจ่ายนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนในสังกัด กทม.ระดับชั้นอนุบาล – ประถมศึกษา ในปีการศึกษา 2565 กทม.ได้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2565 โดยทำสัญญาเป็นรายปีการศึกษา หรือรายภาคเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับนมครบ 260 วัน พร้อมทั้งจัดทำปฏิทินการส่งมอบนมโรงเรียนและการดื่มนมของเด็กนักเรียน ให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมตั้งแต่วันแรกของการเปิดภาคเรียน โดยมีคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ติดตาม กำกับ ดูแลการบริหารจัดการคุณภาพนมโรงเรียนและติดตามการดำเนินโครงการในเขตพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ รวมถึงคณะทำงานประเมินผลการดำเนินการโครงการทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติของภาคส่วนต่าง ๆ ในโครงการและจัดทำรายงานผลการประเมินต่อคณะอนุกรรมการบริหารกลางภายใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นสุดแต่ละปีการศึกษา
ปี 65 กทม.สุ่มตรวจสารฟอร์มาลินในอาหารกว่า 13,000 ตัวอย่าง พบปนเปื้อน 0.05%
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบและสุ่มตรวจความสะอาด คุณภาพ และความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสารฟอร์มาลินและสารเร่งเนื้อแดงในตลาดที่อยู่ในความดูแลของ กทม.และตลาดเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ร่วมกับ 50 สำนักงานเขต ตรวจสอบสุขลักษณะการจำหน่าย โดยกำหนดให้ผู้ที่จะทำการค้าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ผู้ค้าและผู้สัมผัสอาหารทุกรายต้องผ่านการอบรมด้านการสุขาภิบาลอาหาร ตามหลักสูตรของ กทม. ขณะเดียวกันได้สุ่มตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหาร ตรวจวิเคราะห์หาสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในอาหาร ได้แก่ บอแรกซ์ ฟอร์มาลีน สารฟอกขาว สารกันรา สีสังเคราะห์ กรดแร่อิสระ (น้ำส้มสายชูปลอม) ยาฆ่าแมลง ไอโอเดท สารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ รวมทั้งตรวจสอบด้านจุลินทรีย์ ตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหาร ตรวจความสะอาดของภาชนะอุปกรณ์และมือผู้สัมผัสอาหารในสถานประกอบกิจการอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุม 50 เขต ได้แก่ ตลาดประเภทที่ 1 (มีโครงสร้างอาคาร) ตลาดประเภทที่ 2 (ตลาดนัด) ร้านอาหารพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร (ตร.ม.) ร้านอาหารพื้นที่ 200 ตร.ม.ขึ้นไป แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท ร้านขายของชำ ทั้งที่มีและไม่มีใบอนุญาต/หนังสือรับรองการแจ้ง โดยผลการวิเคราะห์หาสารฟอร์มาลินในอาหารประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีผลการตรวจจากทุกประเภทสถานประกอบกิจการอาหาร 25,433 ราย จำนวนตัวอย่างอาหาร 13,178 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนในปลาหมึกกรอบ 5 ตัวอย่าง และกุ้งสด 1 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 0.05 อย่างไรก็ตาม กรณีตรวจพบไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตจะวิเคราะห์หาจุดเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต พร้อมทั้งสืบค้นหาสาเหตุการปนเปื้อนในอาหาร โดยรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงต้นเหตุและแหล่งที่มาของการปนเปื้อนที่เกิดขึ้น เพื่อกำกับดูแล ปรับปรุงแก้ไข และใช้ในการดำเนินคดีต่อไป
นอกจากนั้น สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมลงพื้นที่สุ่มตรวจเฝ้าระวังการใช้สารฟอร์มาลินในตลาดและร้านจำหน่ายปิ้งย่าง ชาบู ครอบคลุมทุกกลุ่มเขตระหว่างวันที่ 13 – 29 ธ.ค.65 หากประชาชนผู้บริโภคพบเบาะแสการกระทำผิด หรือสงสัยว่า มีการกระทำผิด สามารถแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน BKK Food Safety หรือ Traffy Fondue หรือสายด่วน 1555