กทม.เร่งสร้างความเข้าใจผู้ค้าถนนข้าวสาร – จัดระเบียบตั้งวางแผงค้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวกรณีมีการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างเจ้าหน้าที่เทศกิจ เขตพระนคร และผู้ค้าบริเวณถนนข้าวสารว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบสาเหตุเกิดจากผู้ค้าในอาคาร ซึ่งได้รับสิทธิให้มีพื้นที่ทำการค้าได้ 1 แผง (แผงค้าที่ 71) ตั้งวางโต๊ะและเก้าอี้กีดขวางพื้นที่ทำการค้าของผู้ค้าที่อยู่ชิดติดกัน (แผงค้าที่ 70) ทำให้ผู้ค้าในแผงค้าที่ 70 ไม่สามารถตั้งแผงค้าได้ เจ้าหน้าที่เทศกิจ จึงเชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าบริเวณถนนข้าวสารรับทราบว่า ผู้ค้าแผงลอยถนนข้าวสารเป็นผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาลร่วมกับ กทม.และคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขต เสนอให้เป็นจุดผ่อนผัน โดยผู้ทำการค้าจะต้องมีชื่อในทะเบียนผู้ค้าและเลขแผงค้า จึงจะทำการค้าในถนนข้าวสารได้ และหัว-ท้ายถนนต้องมีระยะร่น 30 เมตร พร้อมทั้งกำชับให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการทำการค้าอย่างถูกต้องภายในวันที่ 6 ธ.ค.65 จากนั้นมีผู้ค้ารายอื่นที่อ้างว่า เป็นประธานและรองประธานชมรมหาบเร่แผงลอยต้องการให้เจ้าหน้าที่ยกโต๊ะและอุปกรณ์ทำการค้าของผู้ค้าในแผงค้าที่ 71 เจ้าหน้าที่เทศกิจจึงชี้แจงว่า ได้ประชาสัมพันธ์แล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน แต่ผู้ค้าไม่พอใจ กล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เจ้าหน้าที่เทศกิจจึงชี้แจงว่า การกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงและเป็นการดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ จึงเกิดเหตุโต้เถียงกันดังที่ปรากฏตามสื่อดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบริเวณถนนข้าวสาร ตามประกาศ กทม.ฉบับลงวันที่ 6 มี.ค.63 โดยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร กำหนดให้ทางเท้าบริเวณถนนข้าวสารเป็นจุดผ่อนผันตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 โดยได้จัดทำผังรูปแบบการตั้งวางแผงค้าและกฎเกณฑ์การทำการค้า ดังนี้ (1) ขนาดแผงค้า 1.5 x 2.00 เมตร จัดวางแผงค้าติดกัน 3 – 7 แผง แล้วเว้น 1.5 เมตร แล้วแต่สภาพพื้นที่ (2) ช่วงเวลาทำการค้าตั้งแต่เวลา 09.00 – 24.00 น. (3) ให้ใช้ร่มที่สำนักงานเขตฯ กำหนด (4) ให้ทำการค้าในพื้นที่ที่สำนักงานเขตกำหนด (5) ผู้ทำการค้าต้องมีรายชื่อในจุดผ่อนผันถนนข้าวสาร ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขตเท่านั้น จึงจะจำหน่ายสินค้าในจุดผ่อนผันได้ ส่วนการพิจารณาแก้ไขปัญหาการให้สิทธิพื้นที่ค้าขายแก่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ตั้งหน้าอาคารและที่พักอาศัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ค้ามาโดยตลอด แต่ยังมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว จึงได้แนะนำให้ยื่นคำร้อง หรือดำเนินการตามสิทธิ เพื่อให้ผู้บริหาร กทม. คณะกรรมการฯ หรือผู้เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันต่อไป
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบริเวณถนนข้าวสารต้องดำเนินการตามประกาศ กทม.ที่กำหนดให้คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขต มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการจัดระเบียบแผงค้าและการพิจารณาให้สิทธิผู้ทำการค้าในจุดดังกล่าว ซึ่งจากการประสานสำนักงานเขตพระนคร ทราบว่า คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเขตพระนคร ได้พิจารณาเห็นชอบให้ผู้ค้าทำการค้าในจุดดังกล่าวแล้วและยังมีผู้ค้าบางรายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯ อย่างไรก็ตาม สนท.ได้สร้างความเข้าใจแก่เจ้าของอาคาร ผู้ค้า และประชาชน เกี่ยวกับแนวทางดำเนินการตามประกาศ กทม.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ทำการค้าที่มีเอกลักษณ์ วิถีชุมชน ย่านพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้หลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตรวจตรา กวดขัน จัดระเบียบการตั้งวางแผงค้า การจำหน่ายสินค้า โดยให้ทำการค้าตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด ส่วนผู้ค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนเข้าไปทำการค้า เจ้าหน้าที่จะประชาสัมพันธ์และตักเตือนให้รับทราบหลักเกณฑ์ฯ และการไม่มีสิทธิทำการค้า เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตเข้าทำการค้าสอดคล้องกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดไว้
กทม.เตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุกป้องกันแก้ไขฝุ่น PM2.5 เดินหน้าควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤต โดยข้อมูลจาก คพ.แจ้งเตือนช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จะมีค่าเกินมาตรฐานมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กทม.จึงเตรียมพร้อมยกระดับความเข้มข้นแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความเข้มข้นตามระดับค่าฝุ่นละออง ได้แก่ การควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง โรงงานและสถานประกอบการ การเผาในที่โล่ง รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการประเภทต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ คพ.เข้มงวดตรวจวัดรถควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดเป็น 20 จุด เพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งตรวจสอบพร้อมให้คำแนะนำเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ อาทิ กิจการแพลนท์ปูน กิจการพ่นสี กิจการหลอมโลหะ กิจการที่มีหม้อไอน้ำเชื้อเพลิงดีเซล โดยลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างน้อยแห่งละ 2 ครั้ง/เดือน โดยเฉพาะช่วงเดือน ต.ค.65 ถึงเดือน มี.ค.66 เพื่อควบคุมการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด
นอกจากนั้น ยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดปริมณฑลในการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษ งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ขับช่วยดับเครื่องยนต์ เป็นต้น ขณะที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม โดยแจ้งเบาะแสแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว สร้างเสริมการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลสำหรับเด็กนักเรียนผ่านกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง รวมถึงแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ พร้อมรายงานข้อมูลและให้คำแนะนำการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และแอปพลิเคชัน : AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ และจอแสดงผลอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ