กทม.เดินหน้าจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย – นำร่องปรับภูมิทัศน์พื้นที่ทำการค้าในกรุงเทพฯ
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวถึงแนวทางการบริหารและการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนท.ได้พิจารณากำหนดพื้นที่ทำการค้าของหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า หรือที่สาธารณะ โดยคำนึงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดของบ้านเมือง ความสะดวกปลอดภัยในการสัญจรบนทางเท้า และการใช้รถใช้ถนนของประชาชน โดยต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ตามประกาศ กทม.เรื่อง การกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ และตามความเห็นชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในการกำหนดเป็นพื้นที่อนุญาตให้ทำการค้า สำหรับการทำการค้าหาบเร่แผงลอยในพื้นที่มีลักษณะพิเศษ มีความเป็นอัตลักษณ์ วิถีชุมชน หรือเป็นย่านพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่รัฐบาลให้การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เช่น ถนนข้าวสาร ถนนเยาวราช หรือพื้นที่อื่น ๆ จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่ กทม.กำหนดไว้เช่นเดียวกัน
ส่วนการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า สนท.ร่วมกับสำนักงานเขตจัดระเบียบการตั้งวางแผงค้าของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยให้เป็นไปตามประกาศ กทม.ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตั้งวางแผงค้าต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนด ไม่กีดขวางการสัญจร และแผงค้าต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีสิ่งปกคลุม หรือใช้วัสดุไม่สะอาดสวยงามทำลายทัศนียภาพของพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการในจุดนำร่อง อาทิ ถนนรางน้ำ เชิงสะพานหัวช้าง เขตราชเทวี หน้าห้าง Rolex ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน หน้าห้างบิ๊กซี เขตบางนา หน้าตลาดพรานนก เขตบางกอกน้อย เป็นต้น ซึ่ง กทม.จะดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณจุดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป
กทม.ประสาน KT เร่งแก้ปัญหากลิ่น-มลพิษ พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศรอบโรงงานกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียนปัญหากลิ่นและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมบริเวณโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศว่า โรงงานกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ เป็นโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ขนาด 800 ตัน/วัน ดำเนินการบริหารจัดการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ซึ่งบริษัทฯ ได้ปรับปรุงสถานประกอบการและมีแผนการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น สิ่งที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ติดตั้งประตูทางเข้า – ออก ซ่อมแซมผนังอาคารรับมูลฝอยและอาคารจัดเก็บ RDF ให้เป็นระบบปิด ติดตั้งม่านอากาศบริเวณประตูทางเข้า – ออก เพื่อป้องกันกลิ่นจากภายในออกสู่ภายนอกอาคารรับมูลฝอยและอาคารจัดเก็บ RDF ติดตั้งม่านพลาสติกใสบริเวณประตูทางเข้า – ออกอาคารรับมูลฝอย ติดตั้งระบบสเปรย์น้ำยาดับกลิ่นอัตโนมัติในอาคารรับมูลฝอยและอาคารจัดเก็บ RDF ติดตั้งและปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นภายในอาคาร ปรับปรุงแนวท่อดูดอากาศที่จะนำไปบำบัดให้ครอบคลุมแหล่งกำเนิดกลิ่น ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous – Emission Monitoring Systems : CEMS) ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถและช่วงเวลาการทำงานใหม่ เพื่อป้องกันกลิ่นตามทิศทางลมและเสียงรบกวนจากการทำงาน ปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการโดยขนกากตะกอนจากสายพานลำเลียงออกสู่รถบรรทุกและกำจัดกากตะกอนให้หมดวันต่อวัน ไม่มีตกค้าง และเสริมกำแพงโรงงานเพิ่มเติมจากเดิม 2 เมตร เป็น 4 เมตร
ส่วนในระยะยาว จะปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวกันชน (Buffer Zone) 3 ชั้น ตลอดแนวรอบโรงงาน ซึ่งเริ่มดำเนินการปลูกต้นไม้แล้ว โดยก่อนหน้านี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าและโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ส่วนโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะให้หยุดดำเนินการในส่วนของการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดน้ำเสียและจุดที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ซึ่งบริษัทฯ ได้ปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้าตรวจสอบและยุติคำสั่งดังกล่าว โดยอนุญาตให้บริษัทฯ สามารถเดินระบบเพื่อทดสอบได้ มีเงื่อนไขให้ทดลองเดินระบบ 21 วัน และรับมูลฝอยได้ไม่เกิน 400 ตัน/วัน ส่วนการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวชุมชนโดยรอบที่ได้รับผลกระทบ สสล.ได้แจ้งให้บริษัทฯ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศรอบโรงงาน เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศและเก็บข้อมูลโดยรอบโรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลผลการตรวจวัดที่ได้ไปพิจารณาต่อไป
กทม.เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นช่วงต้นปี 66
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีกรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะรุนแรงมากขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้เตรียมพร้อมรับมือปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะสถานประกอบกิจการเชิงรุก และตรวจสอบระบบบำบัดมลพิษอากาศให้กำจัดมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างเดือน ก.ย. – ต.ค.65 โดยเน้นกิจการที่ก่อให้เกิดปริมาณฝุ่นละอองสูง ได้แก่ กิจการผสมซีเมนต์ (แพลนท์ปูน) และกิจการหลอมโลหะ รวมจำนวน 256 แห่ง และตรวจติดตามในช่วงที่ฝุ่นละออง PM2.5 มีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งกำหนดมาตรการดำเนินงานตามปริมาณค่าฝุ่นละออง PM2.5 เป็น 4 ระดับ โดยระดับที่ 1 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงานและสถานประกอบกิจการ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศเกินค่ามาตรฐานกำหนด มีกำหนดการตรวจระหว่างเดือน ต.ค.65 – มี.ค.66 ตรวจทุกแห่งอย่างน้อย แห่งละ 2 ครั้ง/เดือน พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด จัดหานวัตกรรม หรืออุปกรณ์สำหรับฟอกอากาศในพื้นที่ปิด เพื่อติดตั้งในบริเวณที่เหมาะสมในโรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชมรมผู้สูงอายุของเขต ระดับที่ 2 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. พิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายออกคำสั่งให้โรงงานและสถานประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น แก้ไขปรับปรุงในกรณีที่สถานประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้คำแนะนำและกำกับดูแลฌาปนสถานปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ควบคุมการเผาในที่โล่ง ขอความร่วมมือและรณรงค์ลดการจุดธูป เผากระดาษ หรือวัสดุในพิธีกรรม แนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มความถี่การแจ้งเตือน ให้คำแนะนำการปฏิบัติตน (2 ครั้ง/วัน) เฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองด้วย Web Application 4health พิจารณาเปิดห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียน หรือสถานที่อื่น ๆ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมลดฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ออกหน่วยบริการสาธารณสุข และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แจกหน้ากากอนามัยสำหรับกลุ่มเปราะบาง ระดับที่ 3 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. ดูแลป้องกันผลกระทบในโรงเรียนและสนับสนุนหน้ากากอนามัยสำหรับกลุ่มเสี่ยง และระดับที่ 4 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone ขอให้สถานประกอบการหลอมโลหะ หรือกิจการที่มีการใช้หม้อต้มไอน้ำด้วยเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล ชีวมวล และถ่านหินในพื้นที่วางแผนลดการผลิต 100% พิจารณาออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกรณีที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน 3 วัน จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งบูรณาการข้อมูลทั้งด้านสถานการณ์ฝุ่นละอองและด้านสุขภาพร่วมกันระหว่าง สนอ. สำนักการแพทย์ และสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน