กทม.พร้อมส่งเสริมสตรีทฟู้ดส์ จัดตลาดนัดชุมชน พัฒนาย่านสร้างสรรค์ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมสตรีทฟู้ดส์และย่านสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สวท.และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต มีแนวทางการพิจารณาจัดสรรพื้นที่จัดตลาดนัดชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่จัดโดย กทม. หรือภาคประชาชนเป็นผู้จัด และ กทม.ให้การสนับสนุน รวมถึงการจัดกิจกรรมถนนคนเดินบริเวณถนนสายหลัก ถนนสายรอง และในตรอกซอยที่เหมาะสม หรือพื้นที่ที่แต่ละสำนักงานเขตพิจารณา ซึ่งต้องไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนและการจราจร โดยแบ่งการจัดงานเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย ย่านสร้างสรรค์ ถนนคนเดิน และตลาดนัดชุมชน ส่วนสถานที่จัดงานอาจเปลี่ยนแปลงได้ความเหมาะสม นอกจากนั้น ผู้บริหารกรุงเทพมหานครยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่พิเศษที่เป็นย่านการค้าเดิม ได้แก่ ย่านโบ๊เบ๊ ย่านปากคลองตลาด ย่านลิตเติ้ลอินเดีย ย่านคลองถม และย่านสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในรูปแบบ แนวทาง และการใช้ประโยชน์พื้นที่เช่นกัน
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายพัฒนาย่านสร้างสรรค์นำร่อง 11 ย่าน ใน 10 เขต นั้น กทม.ได้ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายองค์กรเอกชน รวมถึงประชาชนในย่านชุมชนดั้งเดิมที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นเป็นที่รู้จัก โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖ จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อโอนให้ 10 สำนักงานเขต เป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ลาดกระบัง ธนบุรี ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ทุ่งครุ และเขตภาษีเจริญ จากนั้นฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของแต่ละสำนักงานเขต จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในย่านชุมชนและภาคประชาชนที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมในพื้นที่ที่คัดเลือกเป็นพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ โดยจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ตามบริบทพื้นที่ อาทิ กิจกรรมท่องเที่ยวแบบ one day trip หรือ haft day trip การล่องเรือในคลอง งานศิลปะชุมชน การสาธิตงานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น งานวัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อให้ประชาชน เยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงวัย และคนทุกกลุ่มสามารถมีส่วนร่วมได้ รวมถึงการแจกแผนที่ให้ผู้ที่สนใจเดินทาง เพื่อท่องเที่ยวในย่านนั้น ๆ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละชุมชนให้เติบโตต่อไป
นอกจากนั้น กทม.ยังพร้อมสนับสนุนส่งเสริมภาคประชาชน ภาคเอกชน องค์กร ชุมชนท่องเที่ยว และเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ต้องการทำงานในพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ ทั้งการจัดกิจกรรมทางศิลปะสร้างสรรค์ งานประเพณีวัฒนธรรมประจำปีประจำถิ่น ฯลฯ และต้องการให้ กทม.โดยสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ร่วมสนับสนุนกิจกรรมในพื้นที่ ทั้งด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลความเป็นระเบียบ การรักษาความสะอาด การบริการด้านสุขาภิบาล การประสานเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ของตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส.ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ต่อยอดการฝึกอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะ ทั้งการ reskills หรือ up skills รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ จากสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น ธนาคารออมสิน หรือทุนประกอบอาชีพตามระเบียบของ กทม.ให้แก่ผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย ส่วนการดำเนินงานตามนโยบายพัฒนาย่านสร้างสรรค์นำร่อง 11 ย่านใน 10 เขต ของ กทม.เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และพัฒนาชุมชนเมืองน่าอยู่ สพส.ได้ประสานสำนักงานเขตให้จัดตลาดนัด ตลาดชุมชน ซึ่งสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้จัดตลาดนัด ตลาดชุมชนไปแล้ว รวม 233 ครั้ง มียอดจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 12,569,208 บาท นอกจากนี้ สพส.ได้ดำเนินการตามโครงการตลาดชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน โดยมีร้านในชุมชนจากทั้ง 50 เขต เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าและบริการที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์ ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ ระหว่างวันที่ 1 – 5 ธ.ค.นี้
กทม.ซักซ้อมแนวทางจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหรือมีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินซึ่งลงนามโดยอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีจ่ายเงินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 (อุทกภัยเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. – 28 ต.ค.65) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พ.ย.65 ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาล นอกเหนือจากหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติ ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากไม่ได้กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว ให้นำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ พ.ศ. 2562 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 มาปรับใช้เป็นกรณีไป
ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อซักซ้อมแนวทางการให้ความช่วยเหลือฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่ง สปภ.จะได้จัดประชุมชี้แจงให้สำนักงานเขตที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้แก่ เขตลาดกระบัง มีนบุรี ประเวศ คลองสามวา และเขตหนองจอก เป็นต้น และดำเนินการตามขั้นตอนการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 (กรุงเทพมหานคร) ต่อไป โดยการดำเนินการช่วยเหลือทุกขั้นตอนจะต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงการคลัง
กทม.กำชับทุกเขตเข้มงวดตรวจสอบการแปลงสภาพที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะ ร่วมเฝ้าระวังรถขนขยะไปทิ้งในที่เอกชน
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตในกรุงเทพฯ หลายพื้นที่พบปัญหาบ่อขยะเถื่อนและการลักลอบทิ้งขยะว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการแปลงสภาพที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะโดยไม่ได้รับอนุญาต หากตรวจพบในพื้นที่มีการแปลงสภาพอาคาร หรือที่ดิน เป็นที่เก็บ หรือซื้อขายขยะ การลักลอบเก็บ ขน หรือนำขยะทิ้งในพื้นที่ของประชาชน หรือเอกชน โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงทั้งมลพิษทางอากาศ กลิ่นเหม็น การปนเปื้อนแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบกับสภาพแวดล้อมเป็นเหตุให้ประชาชนร้องเรียน ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เนื่องจาก กทม.ไม่ได้มีการออกใบอนุญาตให้ประชาชน หรือเอกชนดำเนินการดังกล่าวเป็นธุรกิจ หรือได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ แต่อย่างใด
นอกจากนั้น สสล.ยังแจ้งสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและเข้มงวดกรณีรถบรรทุกของเอกชนที่ขนย้ายขยะไปทิ้งในพื้นที่เอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะนำผ้าใบมาปกคลุมมิดชิด ทำให้ไม่สามารถมองเห็นที่บรรทุกได้ว่าเป็นสิ่งของประเภทใด จึงขอให้ตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เนื่องจากอำนาจในการตรวจค้นยานพาหนะต่าง ๆ เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
กทม.ตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ พบระบบดับเพลิง-สัญญาณเตือนภัยทำงานปกติ เตรียมพร้อมป้องกันอัคคีภัยช่วงปีใหม่
น.ส.สุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้น 2 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวันว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตปทุมวัน ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ พบระบบดับเพลิง sprinkler และระบบสัญญาณเตือนภัยทำงานปกติ เบื้องต้นได้ให้คำแนะนำศูนย์การค้าฯ ดูแลผู้ที่มาใช้บริการและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้มีความปลอดภัยตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้มีมาตรการเชิงรุกเข้มงวดตรวจความปลอดภัยสถานประกอบการในพื้นที่ โดยจัดเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมแผนอพยพหนีไฟและรับมือเหตุเพลิงไหม้อย่างสม่ำเสมอ โดยสถานประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ จะฝึกซ้อมแผนเป็นประจำตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในส่วนของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้ฝึกซ้อมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 16 – 17 ส.ค.65
นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้เตรียมความพร้อมการดูแลความปลอดภัย โดยจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและเฝ้าระวัง จัดเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบพร้อมให้คำแนะนำเจ้าของสถานที่และสถานบริการต่าง ๆ เพื่อเตรียมการป้องกันอัคคีภัยและสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นเป็นประจำทุกช่วงเทศกาลสำคัญ
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า ภายหลังรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ สปภ.ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ พบว่า จุดเกิดเหตุอยู่ที่บริเวณซุ้มถ่ายรูปเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ พื้นที่เพลิงไหม้เสียหายประมาณ 4 ตารางเมตร ซึ่งทีมดับเพลิงของศูนย์การค้าฯ สามารถดับเพลิงได้ในเบื้องต้น ส่วนกรณีข้อสังเกตเรื่องศูนย์การค้าฯ ไม่มีสัญญาณเตือนภัยและประกาศแจ้งเตือนขณะเกิดเหตุนั้น การเกิดเหตุเพลิงไหม้ในห้างสรรพสินค้า หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ รวมทั้งอาคารสูงควรจะต้องดำเนินการตามแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยของสถานประกอบการนั้น ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชน หรือผู้ใช้อาคารมีความปลอดภัย จากเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับการเตรียมความพร้อมดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาล สปภ.ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ประจำปี 2566 ของ กทม.เพื่อเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานให้หน่วยงานเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ไว้รองรับสถานการณ์อัคคีภัยและสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งจัดทำร่างประกาศ กทม.เรื่องการป้องกันอัคคีภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 เพื่อแจ้งเตือนเจ้าของสถานบริการและสถานบันเทิง ผู้ใช้บริการ รวมถึงประชาชนได้รับทราบและใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น ได้แก่ (1) การจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากผู้อำนวยการเขตพื้นที่เท่านั้น (2) ขอให้เจ้าของ/ผู้ครอบครองอาคารสถานบริการ ต้องตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัย อาทิ ระบบสัญญาณเตือนภัย ระบบไฟฟ้าสำรอง ป้ายบอกเส้นทางหนีไฟ และถังดับเพลิง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา (3) การเข้าไปพักผ่อนตามสถานบริการต่าง ๆ ควรเป็นสถานที่ที่มีผู้ใช้บริการที่ไม่แออัด มีทางเข้า-ออกสะดวก สังเกตเส้นทางหนีไฟ ประตูฉุกเฉิน และภายในอาคารสถานที่จะต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่ได้มาตรฐาน หากเกิดอัคคีภัยให้แจ้งสายด่วน โทร.199 ทันที และ (4) ประชาชนควรตรวจสอบสายไฟและปลั๊กไฟภายในบ้านให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หากชำรุดต้องซ่อมทันที ควรปิดสวิทซ์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติและเดินสายดิน เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว เป็นต้น