กทม. – สธ.ลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการจำหน่ายกัญชาในที่สาธารณะ
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวถึงการเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดจำหน่ายกัญชาบริเวณถนนข้าวสาร เขตพระนคร ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนท.ได้กำหนดมาตรการเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 กรณีพบการจำหน่ายกัญชาในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ลักลอบจำหน่าย หรือแปรรูปกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จับกุมดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในอัตราโทษสูงสุด หากเป็นผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าลักลอบขายด้วย ให้สำนักงานเขตพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำการค้าเพิ่มเติมอีกกรณีหนึ่ง นอกจากนั้น ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจทุกสำนักงานเขตตรวจตราและกวดขันอย่างจริงจังไม่ให้มีการฝ่าฝืนจำหน่ายกัญชาในที่ หรือทางสาธารณะ รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย หากพบการฝ่าฝืนให้จับกุมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ รวมทั้งให้สำนักงานเขตจัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบบริเวณจุดทำการค้าที่มีความเสี่ยงสูงและจุดอื่น ๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า ในส่วนของ สนอ.ได้เชิญผู้แทนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าร่วมชี้แจงข้อกฎหมายและแนวทางดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.๒๕๕๒ และประกาศ สธ.เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขตและกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดทำแผนลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตและอยู่ในระหว่างยื่นคำขออนุญาต รวมทั้งสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการ ประชาชน และนักท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับข้อมูลและแนวทางปฏิบัติในการใช้ จำหน่ายกัญชาให้ถูกต้องตามข้อกฎหมายและสอดคล้องกับเป้าหมายการอนุญาตให้ใช้กัญชา โดยนำร่องในพื้นที่ย่านทองหล่อ เขตวัฒนา ถนนข้าวสาร เขตพระนคร พื้นที่เขตลาดพร้าว พื้นที่เขตบางกะปิ พื้นที่เขตตลิ่งชัน พื้นที่เขตบางขุนเทียน พื้นที่เขตห้วยขวาง และพื้นที่เขตบางรัก
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้รณรงค์เน้นย้ำการจำหน่ายกัญชาและเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย โดยร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สธ.และสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ชนะสงคราม ตรวจสอบ ติดตาม กำชับ สื่อสาร สร้างความรู้ความเข้าใจประชาชน ผู้ประกอบการ ร้านค้า และสถานบันเทิงในการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าใจบทบาทของกัญชาและไม่ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภคกัญชา รวมถึงป้องกันการใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันได้รณรงค์สร้างความเข้าใจผู้ประกอบการเกี่ยวกับการขออนุญาตจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม (กัญชา) เพื่อการค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการอย่างถูกต้องภายใต้กฎหมายกำหนด รวมทั้งจัดประชุมชี้แจงแนวทางรณรงค์สร้างความเข้าใจผู้ประกอบการเกี่ยวกับการขออนุญาตจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า (กัญชา) ที่สำนักงานเขตฯ และร่วมลงพื้นที่ เพื่อสำรวจสถานที่ ตรวจสอบให้คำแนะนำ ณ ที่ตั้งของสถานประกอบการตามคำขออนุญาตจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า (กัญชา)
นอกจากนั้น ยังได้บังคับใช้กฎหมาย ตาม (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดฯ ไม่ให้ทำการค้าจำหน่ายสินค้าผิดประเภท (กัญชา) และ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ กรณีสูบกัญชาในที่สาธารณะ (เหตุเดือดร้อนรำคาญ) โดยลงพื้นที่ตรวจสอบและสำรวจสถานประกอบการจำหน่ายกัญชาในพื้นที่ถนนข้าวสาร รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการขออนุญาตจำหน่าย/แปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ตามประกาศ สธ.เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภคกัญชา รวมถึงการใช้กัญชาในทางที่ผิดกฎหมาย และกวดขันไม่ให้มีการจำหน่ายในรูปแบบของแผงลอยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง หากพบเห็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องจะเร่งประสานกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สธ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ดำเนินการต่อไป
คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ประสานทุก รพ.เร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่ม 608 จัดบริการเชิงรุกถึงบ้าน – องค์กร
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้เพิ่มมาตรการเชิงรุกเร่งรัดและติดตามกลุ่ม 608 หรือผู้ที่รับวัคซีน หรือติดเชื้อมาแล้วเกิน 3 – 4 เดือนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงมาตรการยกระดับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยการเพิ่มเวลาให้บริการฉีดวัคซีนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) รวมทั้งเปิดบริการฉีดวัคซีนในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น. ที่ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง อย่างต่อเนื่อง และเปิดบริการศูนย์ฉีดวัคซีนประจำกลุ่มเขตเพิ่มเติมทุกวันเสาร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ขณะเดียวกันคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ยังได้ทำหนังสือถึงสถานพยาบาลทุกแห่งในกรุงเทพฯ เร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ให้ครบถ้วน จัดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกถึงบ้านผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ ที่ ศบส.ดูแล home health care/ home visit โดยประชาชนสามารถประสาน ศบส.ในพื้นที่ หรือสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อติดต่อให้ ศบส.ไปฉีดวัคซีน รวมทั้งลงพื้นที่นัดหมายแบบองค์กร (Group vaccination) ในสถานดูแลผู้สูงอายุในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อเพิ่มความสะดวกและครอบคลุมการรับวัคซีน ส่วนกลุ่มเป้าหมาย 608 (โรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ทุกราย ที่มารับบริการที่ ศบส.จะสอบถามประวัติการรับวัคซีนโควิด 19 หากยังได้รับวัคซีนไม่ครบ จะแนะนำให้รับวัคซีนโควิด 19 ทันที ตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและป้องกันการป่วยหนัก หรือเสียชีวิต
นอกจากนั้น กองควบคุมโรคติดต่อ สนอ.ร่วมกับและสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ลงพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาด (sentinel surveillance) เช่น ในโรงพยาบาล ตลาด สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานบันเทิง เพื่อติดตามสถานการณ์หลังปรับโควิด 19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กทม.ได้ให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด 19 ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.64 – 9 ธ.ค.65 เข็มที่ 1 จำนวน 10,020,171 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 9,338,577 โดส เข็มที่ 3 จำนวน 5,940,916 โดส เข็มที่ 4 จำนวน 2,376,769 โดส เข็มที่ 5 จำนวน 404,166 โดส และเข็มที่ 6 จำนวน 16,192 โดส
กทม.แนะสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน เปิดให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ใน 11 รพ.
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การรับวัคซีนในกลุ่มเด็กลดลง อาจเกิดการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้ปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กำหนดแนวทางการฉีดวัคซีนเด็กและเน้นย้ำแนวทางการให้บริการสำหรับเด็กให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานการให้บริการอย่างปลอดภัย จัดสถานที่โดยเฉพาะ เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้วัคซีน พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ภายในสถานพยาบาลของ กทม. รวมถึงศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ในการดูแลของ กทม. โดยผู้ปกครองสามารถติดต่อพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนได้ตามที่กำหนด ขณะเดียวกันได้แนะแนวการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนเป็นกลวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูงและคุ้มค่ามากที่สุด
นอกจากนั้น ยังเปิดให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ใน 11 รพ.สังกัด กทม.บริการวัคซีนโควิด 19 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คอตีบ บาดทะยัก หัด และวัคซีนที่จำเป็นอื่น ๆ ให้ประชาชน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น โดยเปิดให้บริการในแผนกอายุรกรรมและเป็นไปตามสิทธิของผู้ป่วย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ลดป่วยและลดโรคให้ประชาชน ซึ่งสามารถเข้าถึงวัคซีนตามสิทธิประโยชน์ของตนเองและป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง รวมทั้งสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเว้นระยะห่าง หากมีโรคประจำตัว หรือมีประวัติการแพ้วัคซีนแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้ารับบริการ สามารถดูรายละเอียดการให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ทั้ง 11 รพ.กทม.ได้ที่ https://shorturl.asia/Qs5EL