Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2566

กทม.พร้อมรับมือแผ่นดินไหว – เตรียมติดตั้ง Sensor วัดความสั่นสะเทือน 7 อาคาร รพ.ในสังกัด

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้ติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด โดยประสานสำนักงานเขตพื้นที่ร่วมตรวจสอบผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว ขนาด 6.4 ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.66 ไม่พบอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยและการควบคุมอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้ (1) ช่วงการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร นับตั้งแต่กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2564 บังคับใช้ ซึ่ง สนย.ได้กำชับตรวจสอบอาคารที่เข้าข่ายตามกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างเคร่งครัด (2) ช่วงดำเนินการใช้อาคาร อาคารที่เข้าข่ายตามมาตรา 32 ทวิ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เช่น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมชน โรงมหรสพ อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรม หรือด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณีตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคาร อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและระบบการจัดแสงสว่าง ระบบการเตือน การป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย ระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเครื่องกล หรือระบบอื่น ๆ ของอาคารที่จำเป็นต่อการป้องภยันตรายต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน แล้วรายงานผลการตรวจสอบต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบสภาพอาคาร (แบบ ร.1) โดย สนย.ได้วางแผนเข้าตรวจสอบอาคารที่ได้รับใบรับรองการตรวจสอบสภาพอาคาร (แบบ ร.1) ทุกอาคาร เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและให้คำแนะนำแก่เจ้าของอาคารในการดูแลรักษาสภาพอาคารให้มีความปลอดภัยต่อสภาพการใช้งานอยู่เสมอ หากพบว่า มีความผิดปกติด้านความมั่นคงแข็งแรงของอาคารจะแจ้งให้เจ้าของอาคารจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้าตรวจสอบอาคารอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยปี 2566 ได้เข้าตรวจสอบแล้วมากกว่า 350 อาคาร

นอกจากนั้น สนย.ได้ติดตั้ง Sensor ที่ด้านบนอาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง โดยกำหนด ค่าการแจ้งเตือนเป็น 0.015 m/s2 (1.5 milli-g) เป็นค่าความสั่นสะเทือนที่คนสามารถรู้สึกได้ โดยค่าความสั่นสะเทือนที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารจะมีค่าประมาณ 0.1 – 0.2 m/s2 ซึ่งจะมากกว่าค่าที่คนรู้สึกได้ประมาณ 10 เท่า และเมื่อวันที่ 17 พ.ย.66 เครื่องมือตรวจวัดค่าความสั่นสะเทือนขณะเกิดแผ่นดินไหว วัดได้ 0.023 m/s2 (2.3 milli-g) ซึ่งเป็นระดับที่คนรู้สึกได้ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารรวมทั้ง สนย.อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อติดตั้ง Sensor ตรวจวัดระดับการสั่นสะเทือนและประเมินกำลังต้านทานการรับแรงแผ่นดินไหวเพิ่มเติมอีก จำนวน 7 อาคาร ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) เจริญกรุงประชารักษ์ 24 ชั้น อาคาร 72 พรรษา รพ.กลาง 20 ชั้น อาคารอนุสรณ์ 100 ปี (ยกเลิกเนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอทุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ดำเนินการเอง) รพ.วชิระ 19 ชั้น อาคารเพชรรัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 24 ชั้น รพ.ตากสิน 17 ชั้น อาคารพระเจ้าตากสิน รพ.ตากสิน 20 ชั้น อาคารธนบุรีมหาสมุทร และอาคารธานีนพรัตน์ 35 ชั้น ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง (ทดลองติดตั้งแล้ว)

นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า สปภ.ได้เตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564 – 2570 และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม รวมทั้งจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยพร้อมยานพาหนะ อุปกรณ์สำหรับปฏิบัติการกู้ภัยและช่วยชีวิตจากอาคารถล่ม สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหากมีสถานการณ์แผ่นดินไหวและอาคารถล่มเกิดขึ้น สำหรับวิธีการเอาตัวรอดตามหลักวิชาการ ผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวจะต้องหาพื้นที่แข็งแรง เช่น เตียง โต๊ะ ตู้ และพยายามหลบบริเวณมุมของสิ่งเหล่านั้น เพราะหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว สิ่งของดังกล่าวจะเกิดการพาดระหว่างกัน เป็นลักษณะสามเหลี่ยมชีวิตที่มีลักษณะเป็นช่องว่างสามารถคลานได้ และเมื่อเหตุการณ์สงบแล้วพยายามออกจากอาคารให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

กทม.เร่งจัดเก็บข้อมูลถนน-สะพานทรุด พร้อมทำแผนที่บ่อพักโครงการก่อสร้างหน่วยงานสาธารณูปโภค

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.เก็บข้อมูลถนนยุบ-สะพานถล่ม พร้อมทำแผนที่จุดเสี่ยงเพิ่มความปลอดภัยประชาชนว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.มีแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานเมื่อเกิดเหตุถนน-สะพานทรุด หรือพังถล่มในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยประสานแจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคและผู้รับเหมาเมื่อเกิดเหตุถนนทรุด เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบแก้ไขให้เปิดการจราจรโดยเร็ว ในระหว่างการตรวจสอบจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเก็บข้อมูล บันทึกภาพถ่ายความเสียหาย และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกภาพเคลื่อนไหวขณะซ่อมแซมชั่วคราวไว้เป็นหลักฐาน โดยที่ผ่านมาเมื่อมีอุบัติเหตุ เหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างขนาดใหญ่ หรือมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก สนย.ได้ประสานผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าตรวจสอบความเสียหายและนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ ถอดบทเรียน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ

สำหรับกรณีรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อันอาจจะสร้างความเสียหายให้โครงสร้างสะพานและถนนในกรุงเทพฯ สนย.ในฐานะเจ้าพนักงานทางหลวงท้องถิ่น สำนักเทศกิจ กรมทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมลงพื้นที่กวดขันตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.66 เป็นต้นมา และยังมีแผนการกวดขันตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกเป็นประจำทุกวัน โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปในถนนสายต่าง ๆ นอกจากนั้น กทม.ได้จัดทำแผนที่แสดงโครงการก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่ดำเนินการก่อสร้างบนพื้นผิวจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยระบุตำแหน่งบ่อพักและรายละเอียดโครงการ ชื่อผู้ประสานงาน ซึ่งประชาชนสามารถใช้ติดต่อแจ้งปัญหาร้องเรียนได้โดยตรงและสามารถตรวจสอบแผนที่ได้ผ่านเว็บไซต์สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

 

กทม.เตรียมพร้อมดูแล-ตรวจตราความปลอดภัยพื้นที่จัดงานเทศกาลลอยกระทงปี 66

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลและตรวจตราความปลอดภัยพื้นที่จัดงานเทศกาลลอยกระทงในกรุงเทพฯ ว่า สนพ.ได้ร่วมกับสำนักอนามัย (สนอ.) สนับสนุนหน่วยแพทย์พยาบาล รถกู้ชีพ และจัดจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าสถานที่จัดงานลอยกระทง จุดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) จัดเรือดับเพลิงและเรือกู้ชีวิต ลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 – สะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 20.4 กิโลเมตร แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 – สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต 1 ลำ เรือเจ็ทสกี 2 ลำ เรือกู้ชีพ โรงพยาบาล (รพ.) วชิระ 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ ช่วงที่ 2 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า – สะพานตากสิน (สะพานสาทร) ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต 2 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.ตากสิน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ และช่วงที่ 3 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานสาทร) – สะพานพระราม 9 ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต 2 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.เจริญกรุง 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ

นอกจากนั้น ยังได้เตรียมมาตรการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดย รพ.สังกัด กทม.เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งภายในและภายนอก รพ.ตลอด 24 ชั่วโมง จัดหน่วยปฏิบัติการด้านการแพทย์ประจำกองอำนวยการร่วม 2 แห่ง คือ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด (ฝั่งธนบุรี) และบริเวณคลองโอ่งอ่าง ขณะเดียวกันได้จัดหน่วยเรือกู้ชีวิตออกตรวจทางลำน้ำ ได้แก่ บริเวณคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตั้งแต่สะพานพระราม 7 – สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.ตากสิน ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า – สะพานกรุงเทพ และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ ตั้งแต่สะพานกรุงเทพ – สะพานพระรามเก้า นอกจากนี้ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) จะได้รวบรวมข้อมูลการให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และร่วมกับทุกภาคส่วนตรวจสอบความปลอดภัยท่าเทียบเรือและโป๊ะริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงตรวจความพร้อมของเรือกู้ชีวิตประจำจุดต่าง ๆ ตลอดลำน้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งผลิตสื่อแนะนำการช่วยชีวิต “คนจมน้ำ” https://youtu.be/cZDYGOSGN10 เพื่อเป็นแนวทางป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณ สนพ.ได้เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินจากเหตุอัคคีภัย อุบัติภัยทางน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเกิดเหตุในชุมชน หรือสถานที่ท่องเที่ยวอาจมีผู้บาดเจ็บ หรือป่วยฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณจะจัดรถปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินไปในพื้นที่เกิดเหตุ หากประชาชนที่ประสบเหตุและมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถขอรับบริการได้ผ่านสายด่วนศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ โทร.1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200