นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดการมูลฝอยของ กทม. “เปิดโลกขยะ กทม.” เพื่อนำเสนอแนวทางจัดการมูลฝอยในปัจจุบัน ตั้งแต่การรวบรวม/เก็บขน และกำจัด พร้อมนำเสนอนโยบายและแผนจัดการในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องตามแผนพัฒนา กทม. ระยะ 20 ปี (ปี 56-75) ในส่วนยุทธศาสตร์ “มหานครปลอดภัย-ปลอดมลพิษ”
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม.บริหารจัดการมูลฝอยและของเสียอันตรายด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste management) มีการนำกลับมาใช้ใหม่ และทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือด้วยเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างร่างข้อบัญญัติการ คัดแยกขยะ เพื่อสร้างแรงจูงใจ ขณะนี้มีการเก็บค่าธรรมเนียมจัดเก็บเดือนละ 20 บาท ในกลุ่มที่ผลิตขยะไม่เกิน 20 ลิตร และมีแผนเพิ่มเป็นเดือน 60 บาท
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ลงทะเบียนร่วมโครงการแยกขยะกับสำนักงานเขตสามารถลดหย่อนค่าจัดเก็บได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติม ส่วนผู้ที่ไม่แยกขยะต้องจ่าย 60 บาทเต็มอัตรา ขณะที่กลุ่มสถานประกอบการ คิดค่าบริการจัดเก็บเดือนละ 2,000 บาทต่อ 1 ลบ.ม. เพิ่มตามอัตราก้าวหน้าต่อหน่วยตามปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวผ่านคณะกรรมการพิจารณาเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนก่อนบังคับใช้
นายพรพรหม ยังกล่าวถึงการเพิ่มช่องขยะประเภทต่าง ๆ ในตัวรถขยะ เช่น ช่องสีเหลืองสำหรับขยะรีไซเคิล สีส้มสำหรับขยะอันตราย ล่าสุดเพิ่มช่องสีเขียวสำหรับเศษอาหาร เพื่อลดข้อครหาว่ากทม.ให้ประชาชนคัดแยก แต่กลับนำไปรวมกันขณะเก็บขน โดยเริ่มนำร่องแล้วที่เขตปทุมวัน พญาไท ก่อนขยายให้ครบทุกเขต ซึ่งกำหนดให้ทุกเขตจัดรถเปิดข้างเก็บขนเศษอาหารโดยเฉพาะเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการแยกขยะได้รับความสะดวกและเป็นกลุ่มที่จะได้รับสิทธิลดค่าธรรมเนียมการเก็บในอนาคต
“กทม.พยายามหาวิธีกำจัดขยะที่ต้นทางในอนาคต เพราะเป็นวิธีลดขยะดีที่สุด เช่น สนับสนุนเครื่องหมักปุ๋ยสถานประกอบการต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะโดยหนอนแมลงวันลาย การหมักปุ๋ยในถัง เป็นต้น”.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 พ.ย. 2566 (กรอบบ่าย)