ส่งเทศกิจส่องจุดเสี่ยงภัยอาชญากรรม เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ จัดระเบียบผู้ค้าถนนสรงประภา ผลักดันการคัดแยกขยะชุมชนเปรมประชา คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคารชุดย่านดอนเมือง
(8 ธ.ค.65) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดอนเมือง ประกอบด้วย
ตรวจจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม บริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีการเคหะ ถนนกำแพงเพชร 6 ทั้งนี้เขตฯ มีจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.บริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีการเคหะ ถนนกำแพงเพชร 6 2.บริเวณสะพานลอยหน้าตลาดใหม่ดอนเมือง 3.บริเวณสะพานลอยหน้าวัดดอนเมือง 4.บริเวณสะพานลอยปากทางเข้าหน้าโรงเรียนพหลโยธิน 5.บริเวณป้ายรถประจำทางปากซอยพหลโยธิน 71 ถนนพหลโยธิน 6.บริเวณป้ายรถประจำทางปากซอยพหลโยธิน 73 ถนนพหลโยธิน ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการแก้ไข ดังนี้ 1.เพิ่มความถี่ในการตรวจของเจ้าหน้าที่เทศกิจทำการตรวจ 3 ครั้ง/วัน 2.ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ด้านแสงสว่างและกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง ประชาสัมพันธ์เบอร์โทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินให้ประชาชนทราบ
เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา ณ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ถนนนาวงประชาพัฒนา โดยภายศูนย์ฯ ได้จัดสรรพื้นที่ ดังนี้ พื้นที่ 1 ไร่พอเพียง พื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่โคกหนองนาโมเดล พื้นที่การเกษตร ซึ่งแต่ละพื้นที่ประกอบด้วย อุโมงค์อาหาร แปลงปลูกผักพื้นบ้าน การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก การเลี้ยงกบในกระชัง การเลี้ยงเป็ดไข่ การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ย โรงเปิดดอกเห็ด การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่กลับกอง การปลูกผักอินทรีย์ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน หมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 ถนนสรงประภา ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 93 ราย ได้แก่ 1.ถนนสรงประภา (ขาเข้า) ตั้งแต่บริเวณหน้าร้านสวัสดิการกองบัญชาการกองทัพไทย (ทุ่งสีกัน) ถึงบริเวณอาคารเลขที่ 410 มีผู้ค้า 31 ราย 2.ถนนสรงประภา (ขาเข้า) หน้าหมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 ตั้งแต่ร้านพี่บาร์เบอร์อาคารเลขที่ 310/939 ถึงร้านดอนเมืองฟาร์มาชี อาคารเลขที่ 310/397 มีผู้ค้า 31 ราย และ3.ถนนเทิดราชัน (ขาเข้า) บริเวณหน้าวัดคลองบ้านใหม่ มีผู้ค้า 31 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 65 ราย ได้แก่ 1.หน้าสวัสดิการทหารอากาศ ถึงอาคารเลขที่ 410 ถนนสรงประภา (ขาเข้า) มีผู้ค้า 37 ราย 2.หน้าธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ เลขที่ 310/5-85 ถึงธนาคารกรุงไทย เลขที่ 310/75 ถนนสรงประภา (ขาเข้า) มีผู้ค้า 11 ราย 3.หน้าอาคารเลขที่ 570/8 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 570/407 ถนนสรงประภา (ขาออก) มีผู้ค้า 17 ราย ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กำชับผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้าเกินแนวเส้นที่กำหนด รวมถึงพิจารณาหาแนวทางปรับเปลี่ยนร่มหรือผ้าใบคลุมแผงค้าให้เป็นรูปแบบลักษณะเดียวกัน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนเปรมประชา ซอยวิภาวดีรังสิต 33 ลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว มีบ้านเรือน 242 หลังคาเรือน ประชากร 848 คน แนวทางการจัดการมูลฝอยชุมชนในเดือนตุลาคม 2565 ชุมชนเปรมประชา สำนักงานเขตดอนเมือง และโรงเรียนเปรมประชา ได้ร่วมกันหารือแนวทางการลดและคัดแยกขยะในชุมชน การสร้างวินัยในการจัดการขยะ โดยอาศัยความร่วมมือของสมาชิกในชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางในการดำเนินการจากการหารือร่วมกัน ดังนี้ ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) ทั้งของชุมชน และโรงเรียน โดยเขตฯ จัดบุคลากรให้ความรู้ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ การลด คัดแยกขยะ และนำทรัพยากรเหลือใช้มาใช้ประโยชน์มากที่สุด เมื่อมีการจัดตั้งคณะทำงานเรียบร้อยแล้วจะมีการประชุมความคืบหน้าโครงการชุมชนปลอดขยะเป็นประจำทุกเดือน เขตฯ จัดเก็บสถิติปริมาณขยะในปัจจุบันเพื่อเปรียบเทียบกับปริมาณขยะหลังการดำเนินโครงการ จัดตั้งจุดทิ้งขยะเศษอาหารเพื่อนำไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ อาทิ การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร การทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร จัดตั้งจุดจัดเก็บขยะรีไซเคิลเพื่อดำเนินกิจกรรมธนาคารขยะ การจัดทำสวนแนวตั้งในชุมชนจากวัสดุรีไซเคิล จุดรวบรวมพลาสติกแบบเหนียวที่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อรวบรวมส่งเขตฯ ปัจจุบันเขตฯ จัดเก็บมูลฝอยในชุมชนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง วันจันทร์และวันพฤหัสบดี โดยได้เริ่มดำเนินการจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะในการเข้าจัดเก็บในเดือนตุลาคม 2565 ปริมาณขยะทั้งสิ้น 22,000 กิโลกรัม
ติดตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 โครงการอาคารชุด นิว คอนเน็กซ์ คอนโด ดอนเมือง เจ้าของโครงการบริษัท คอนติเนนตัล ซิตี้ จำกัด เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 14 ชั้น จำนวน 4 หลัง ประกอบด้วยอาคาร A จำนวน 1 หลัง 213 ห้อง อาคาร B จำนวน 1 หลัง 242 ห้อง อาคาร C จำนวน 1 หลัง 241 ห้อง อาคาร D จำนวน 1 หลัง 241 ห้อง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่อยู่ในแผนการตรวจตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ของสำนักการโยธา เพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ดำเนินการต้องไม่กระทำการใดๆ อันอาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพหรือทรัพย์สิน หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักการโยธาประสานสำนักงานเขตดอนเมือง ลงพื้นที่ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตรวจสอบมาตรการด้านความปลอดภัย การติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารป้องกันฝุ่น การพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นละอองและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ การล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ การตรวจวัดควันดำรถยนต์ ตลอดจนการล้อมรั้วให้สูงขึ้นในระดับ 3 เมตร พร้อมทั้งกำชับผู้รับจ้างโครงการให้ปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดอนเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#ปลอดภัยดี #เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)