Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2566

กทม.กำชับเข้มงวดตรวจสอบความปลอดภัยนั่งร้าน-ค้ำยันขณะก่อสร้าง

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุโครงเหล็กผ้าใบปิดพื้นที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียมในซอยไผ่สิงห์โต พังใส่ห้องพักในคอนโดมิเนียมข้างเคียงได้รับความเสียหายว่า จากการตรวจสอบอาคารที่เกิดเหตุคือ โครงการก่อสร้างอาคารชุด ไลฟ์ พระราม 4 – อโศก โดยมีบริษัท เอพี เอ็มอี 12 จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ เป็นอาคารชนิดตึก 39 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ชั้นลอย 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง ใช้เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย (1,237 ห้อง) ชุดพาณิชย์ (ร้านค้า 2 ห้อง) และจอดรถยนต์ สนย.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับสำนักงานเขตคลองเตย พบว่า โครงค้ำยันผ้าใบป้องกันฝุ่นละอองที่ติดตั้ง เพื่อใช้ระหว่างก่อสร้างเกิดการพังถล่มบางส่วนเนื่องจากพายุฝน ทำให้บ้านเรือนข้างเคียงได้รับความเสียหาย โดยสำนักงานเขตฯ ได้ออกคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารตามมาตรา 40 (1) คำสั่งห้ามใช้ หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคาร หรือบริเวณที่มีการก่อสร้างอาคารตามมาตรา 40 (2) และคำสั่งให้ยื่นคำขออนุญาต หรือดำเนินการแจ้ง หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างอาคารตามมาตรา 41 แล้ว รวมทั้งกำชับให้โครงการฯ เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยผู้รับเหมาโครงการฯ ได้เข้าซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายแล้วหลังจากเกิดเหตุ

อย่างไรก็ตาม สนย.จะเพิ่มความเข้มงวดและกำกับโครงการก่อสร้างให้ยื่นแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของนั่งร้านและค้ำยัน รวมทั้งกำกับให้ตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของนั่งร้านและค้ำยันที่สร้างขึ้นเป็นประจำ

 

 

โรงเรียน กทม.เข้มงวดมาตรการ “นับ ตรวจตรา อย่าประมาท” เพิ่มความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียน 

นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงแนวทางการสร้างเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โดยกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และผู้ประกอบการรถรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.มีหนังสือสั่งการผู้อำนวยการสถานศึกษากำชับผู้ปกครอง หรือผู้ประกอบการรถตู้ที่ใช้รถตู้ในการรับ-ส่งนักเรียนให้ตรวจสอบภายในรถตู้ทุกครั้งเมื่อส่งนักเรียนที่โรงเรียนแล้ว โดยได้กำหนดมาตรการให้โรงเรียนเข้มงวดและปฏิบัติตามกฎ หรือระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถรับ-ส่งนักเรียนจนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 “นับ” พนักงานขับรถรับ-ส่งนักเรียน ครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องนับจำนวนเด็กก่อนขึ้นและหลังลงจากรถทุกครั้ง โดยครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง และพนักงานขับรถฯ ควรมีกลุ่มไลน์ เพื่อตรวจนับนักเรียนผ่านกลุ่มไลน์ว่า นักเรียนถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ กรณีพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง หากต้องให้นักเรียนเดินทางไปกับรถส่วนบุคคล หรือรถของบุคคลอื่น หรือขาดเรียน ให้แจ้งผ่านกลุ่มไลน์ หรือโทรศัพท์แจ้งให้โรงเรียนและพนักงานขับรถฯ ทราบ เพื่อบันทึกไว้ในสมุดตรวจสอบรายชื่อนักเรียน มาตรการที่ 2 “ตรวจตรา” ตรวจตรายานพาหนะและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ถังดับเพลิง ค้อนประจำรถให้มีความปลอดภัยเหมาะสมต่อสภาพการใช้งาน ตรวจตราจำนวนนักเรียนทุกครั้งที่มีการขึ้น-ลงรถ และก่อนล็อกประตูรถ โดยตรวจสอบภายในรถทุกครั้งว่า มีเด็กอยู่ในรถหรือไม่ และมาตรการที่ 3 “อย่าประมาท” อย่าทิ้งเด็กไว้เพียงลำพังแม้ช่วงเวลาสั้น ๆ หากพบเห็นเด็กอยู่ในรถ ขอให้คนรอบข้างช่วยเหลือและโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 รวมถึงพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือประชาชนทั่วไป ควรช่วยสอดส่องดูแล หากพบเห็นรถรับ-ส่ง หรือพนักงานขับรถโรงเรียน มีลักษณะขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย ควรเรียกร้องให้โรงเรียนแก้ไขปรับปรุง

ขณะเดียวกัน กทม.ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยและกำชับให้โรงเรียนในสังกัด กทม.เข้มงวดเรื่องการรับ-ส่งนักเรียนและปฏิบัติตามกฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถรับ-ส่งนักเรียน จนอาจเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งร่างกายและจิตใจ โดยโรงเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง และชุมชน จัดทำมาตรการแนวทางการปฏิบัติในการรับ-ส่งนักเรียน ร่วมกันจัดระบบรักษาความปลอดภัยการเดินทางและกำหนดหน้าที่ผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน เช่น ครูเวรดูแลการรับ-ส่งนักเรียนด้านหน้าประตูโรงเรียน ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยดูแลในช่วงเช้าและช่วงเวลาเลิกเรียน กรณีโรงเรียนอยู่ในซอยลึกให้โรงเรียนประสานเจ้าหน้าที่สายตรวจดูแลจุดเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง

นอกจากนั้น กทม.ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กทม.และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 ได้ดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) โดยจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนจากครอบครัวที่ยากจน/ด้อยโอกาส เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา รวมถึงค่าเดินทางมาเรียนของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ที่ผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ในอัตรา ดังนี้ ชั้นอนุบาล คนละ 4,000 บาท/ปี ชั้นประถมศึกษา คนละ 3,000 บาท/ปี และชั้นมัธยมตอนต้น คนละ 3,000 บาท/ปี ซึ่งเริ่มคัดกรองนักเรียนยากจนในปีการศึกษา 2/2565 มีนักเรียนได้รับทุนเสมอภาค จำนวน 1,091 คน คิดเป็นเงิน 1,706,000 บาท และดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีการศึกษา 1/2566 มีนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาค จำนวน 1,194 คน คิดเป็นเงิน 1,846,000 บาท

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนและที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ หลายโครงการ อาทิ การกำหนด School Zone เพื่อติดตั้งเครื่องหมายจราจร อุปกรณ์ความปลอดภัย และกล้องวงจรปิด (CCTV) หน้าโรงเรียน โครงการเด็กเริ่มผู้ใหญ่ร่วม โครงการแจกหมวกกันน็อกให้นักเรียนสังกัด กทม.และโครงการเดินรถ BMA Feeder ย่านสามเสนเชื่อมต่อฝั่งธนบุรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักเรียนช่วงก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ

ทั้งนี้ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ย.66 สจส.จะได้นำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ศปถ.กทม.เพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งคณะทำงานฯ จัดทำแผนความปลอดภัย แก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200