Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566

กทม.กำชับมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค 2-ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงแนวทางและมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนและสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค 2 เพื่อป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ว่า สพส.ได้กำชับสำนักงานเขต รวมถึงบ้านผู้สูงอายุบางแค 2 ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการเจ็บป่วยและผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 โดยได้ประชาสัมพันธ์ช่องทางการติดตามสถานการณ์ฝุ่นและมาตรการปฏิบัติตนและการจัดการเรียนการสอน ตามสถานการณ์ค่าฝุ่นในระยะต่าง ๆ พร้อมทั้งให้ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม.วางแผนการจัดการเรียนการสอนตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างเคร่งครัด เช่น เมื่อสถานการณ์ค่าฝุ่นอยู่ในระดับ 3 ให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง และแจกหน้ากากอนามัย โดยศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนฟื้นนคร ร่มเกล้า ระยะ 4 โซน 10 เขตลาดกระบัง ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนเอื้ออารีย์ เขตสวนหลวง และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต เขตบางเขน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย โดยสถาบันสุขภาวะเขตเมือง ได้จัดทำศูนย์ต้นแบบการจัดทำห้องปลอดฝุ่นและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยได้คัดเลือกห้องที่จะดำเนินการเป็นห้องปลอดฝุ่น ให้ความรู้ความเข้าใจกับอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กเกี่ยวกับหลักการของห้องปลอดฝุ่น เช่น ป้องกันการสะสมฝุ่นตามผนังห้อง วัสดุ หรืออุปกรณ์ พื้นผิวห้อง ไม่ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นภายในห้อง เช่น จุดธูป สูบบุหรี่ เป็นต้น ขณะนี้กรมอนามัยได้ติดตั้งเครื่องเติมอากาศขนาดเล็กติดผนัง และเครื่องฟอกอากาศ ให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร
ส่วนสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค 2 ได้ติดตามข่าวสารสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากพบว่า คุณภาพของอากาศอยู่ในระดับวิกฤตมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง จัดหาหน้ากากอนามัยให้ผู้สูงอายุสวมทุกครั้งเมื่ออยู่ภายนอกอาคาร หมั่นทำความสะอาดห้องต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุอยู่อาศัย โดยทำความสะอาดแบบเปียกและหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดที่ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย ร่วมกับการติดตั้งเครื่องกรองอากาศบริเวณที่ผู้สูงอายุพักอาศัย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สื่อความรู้แก่เจ้าหน้าที่และผู้สูงอายุเรื่องฝุ่น PM2.5 หากมีอาการ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ไซนัสอักเสบ เจ็บคอ มีไข้ เหนื่อยง่าย เท้าบวม หัวใจเต้นเร็ว คันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย แสบ หรือคันตา มองไม่ชัด ตาแดง น้ำตาไหล ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อพบแพทย์ทันที

 

กทม.เดินหน้าแก้ปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ ตั้งจุดกวดขันรถบรรทุกเข้า-ออกสถานที่ก่อสร้าง

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเพิ่มความเข้มงวดการควบคุม กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะว่า กรุงเทพมหานคร โดย สจส. ตระหนักถึงความสำคัญในการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 มาโดยตลอด ด้วยการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด การลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน โดยจัดให้มีการเดินรถ BMA Feeder โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ปัจจุบันมีให้บริการเดินรถเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า ได้แก่ เส้นทาง B2 จาก กทม.2 (ดินแดง) – BTS สนามเป้า และเส้นทาง B3 จากเคหะร่มเกล้า – ARL สถานีลาดกระบัง ในช่วงเช้าและเย็นวิ่งรับส่งเด็กนักเรียนเดินทางข้ามสะพานกรุงธน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ได้จัดรถวิ่งให้บริการประชาชนจากสถานีบางขุนนนท์ไปเที่ยวตลาดน้ำในพื้นที่เขตตลิ่งชัน รวมถึงจัดให้มีการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อให้เดินทางเชื่อมต่อ ไปยังสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีหัวลำโพงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
นอกจากนั้น ยังจัดให้มีจักรยาน Bike sharing ซึ่งในปีนี้ได้เริ่มนำร่อง 2,000 คัน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ โดยได้ปรับปรุงเส้นทางเดินเท้าและทางจักรยานจากชุมชนมายังระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งที่จอดรถจักรยานให้มีความสะดวกและปลอดภัย พัฒนาระบบ ITMS (Intelligent Transportation Management System) โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดการกับการขนส่งและการจราจร เพื่อให้ส่วนต่าง ๆ มีการประสานงานที่ดีขึ้น เช่น การตั้งค่าสัญญาณไฟจราจร (Adaptive Signaling) การประมาณเวลาที่ใช้ในการเดินทาง (Travel Time Estimation) การตรวจจับความผิดปกติบนท้องถนน (Anomaly Detection) เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และมีข้อมูลประกอบการวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิด Ecosystem สำหรับรถพลังงานไฟฟ้า โดยออกประกาศเกณฑ์การอนุญาตให้ติดตั้งและบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดพื้นที่เก็บเงินค่าจราจรหนาแน่น (Congestion Charge Zone) ให้เหมาะสม โดยมีจุดมุ่งหมายการจัดเก็บ เพื่อลดความแออัดของรถและเพิ่มรายได้ให้ กทม.นำไปใช้พัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษและป้องกันสิ่งแวดล้อมของเมืองได้อีกด้วย
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท.ได้จัดชุดสายตรวจและประสานฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตออกตรวจตราดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน และห้ามใช้รถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ รวมถึงสนับสนุนการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์/เครื่องยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้ ขณะเดียวได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ไม่ให้มีการเผาขยะในที่โล่ง

ทั้งนี้ ได้กำชับพนักงานขับรถบรรทุกและบุคลากรในสังกัดให้หมั่นดูแลรักษาสภาพเครื่องยนต์ หรือกรณีที่ต้องบรรทุกวัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ต้องระมัดระวังและจัดให้มีวัสดุป้องกันสิ่งที่บรรทุกมิให้ตกหล่น รั่วไหล ปลิว ฟุ้งกระจาย บนถนนในระหว่างที่ใช้รถ โดยจะต้องนำรถส่วนกลางเข้าตรวจควันดำทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้รถส่วนกลางก่อให้เกิดควันดำ สร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้ สนท.ยังได้ตั้งจุดตรวจกวดขันรถบรรทุกดิน หรือวัสดุอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองและรถบรรทุกที่เข้า-ออกบริเวณสถานที่ก่อสร้างให้ป้องกันมิให้วัสดุที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล ปลิว ฟุ้งกระจาย และล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้างทุกครั้ง

 

เขตคลองเตยสั่งระงับก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยไผ่สิงห์โต หลังโครงเหล็กผ้าใบพลัดใส่ห้องพักใกล้เคียง

นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุโครงเหล็กผ้าใบปิดพื้นที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียมในซอยไผ่สิงห์โต พังใส่ห้องพักในคอนโดมิเนียมข้างเคียงได้รับความเสียหายว่า สำนักงานเขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบพบบริเวณซอยไผ่สิงห์โต มีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ซึ่งผู้รับเหมาใช้โครงเหล็กผ้าใบปิดคลุมพื้นที่ก่อสร้างและได้พังถล่มลงมาในช่วงที่ฝนตกหนักและพาดอยู่บนอาคารข้างเคียง โดยเจ้าของห้องผู้เสียหายระบุ ค่อนข้างกังวล เนื่องจากมีแท่งเหล็กขนาดใหญ่พุ่งเข้าหน้าต่างเข้ามาในห้องพัก ทั้งนี้ อาคารที่เกิดเหตุคือ โครงการไลน์พระราม 4 – อโศก เป็นตึก 39 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารชุดพักอาศัย ชุดพาณิชย์และจอดรถยนต์ เมื่อวันเกิดเหตุ (5 พ.ย.66) เวลาประมาณ 16.00 น. มีฝนฟ้าคะนองลมพายุกระโชกแรง ส่งผลกระทบระบบป้องกันฝุ่น (Protection) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณชั้น 33 – 36 ได้รับความเสียหาย พลัดตกกระเด็นลงหลังคาบ้านข้างเคียง ส่งผลให้หลังคาบ้านประชาชนได้รับความเสียหาย 23 หลัง รถยนต์ได้รับความเสียหาย 7 คัน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย โดยรายแรกบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อยและอีกรายบาดเจ็บที่เข่า หลังจากไปพบแพทย์ได้กลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้ออกคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง การดัดแปลงการรื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 40 (1) (แบบ ค.3) คำสั่งห้ามใช้ หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร หรือบริเวณที่มีการก่อสร้าง (แบบ ค. 4) และคำสั่งให้ยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแจ้งหรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างตามมาตรา 42 (แบบ ค. 5) จากนั้นได้ประสานบริษัท สยามมัลติคอน จำกัด ผู้รับเหมาโครงการฯ และผู้ได้รับความเสียหายทั้งหมดร่วมประชุม เพื่อเจรจามาตรการการเยียวยา การซ่อมแซมและปรับปรุงแก้ไขส่วนที่มีความเสียหายเร่งด่วน โดยบริษัทฯ จะซ่อมแซมและปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่มีความเสียหายอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ จะติดตามผลการเจรจาชดใช้ค่าเสียหายช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบและติดตามการปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการเพิ่มความเข้มงวด ควบคุม และตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างโดยเฉพาะช่วงที่มีพายุลมแรงและฝนตกหนัก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200