Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566

กทม.เฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่-เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีการระบาดโรคไข้เลือดออก

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.ได้เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยจัดทำสื่อทั้งแผ่นพับและสื่อออนไลน์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อจากฝอยละอองจากการไอ หรือจามรดกัน หรืออาจติดต่อจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย วิธีการป้องกัน ได้แก่ การดูแลสุขภาพ และ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปิด – ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ชุมชน ล้าง – ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ เลี่ยง – หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หยุด – หยุดเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด และหากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากพบว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ต้องรับประทานยา พักผ่อนมาก ๆ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำสะอาด ประมาณ 5-7 วัน หรือจนอาการดีขึ้น โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิต ได้แก่ (1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (2) เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี (3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน (4) ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป (5) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ (6) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการด้วย และ (7) ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง

ส่วนแนวโน้มและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 มีการแพร่ระบาดมากกว่าปี 2565 มาก จำนวนผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 28 ต.ค.66 จำนวน 9,431 ราย มีผู้เสียชีวิต 8 ราย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 5 – 14 ปี รองลงมาอายุ 15 – 34 ปี และ 0 – 4 ปี ตามลำดับ มีอัตราผู้ป่วยสะสม 3 อันดับแรกในเขตจตุจักร เขตสะพานสูง และเขตหนองจอก ตามลำดับ โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในเขตประเวศ เขตบางกะปิ และเขตจตุจักร ตามลำดับ ทั้งนี้ สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตพัฒนาปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือและจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big Cleaning ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานที่ราชการ โดยสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง
นอกจากนั้น สนอ.ยังร่วมกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการโรงเรียนติด Guard ห่างไกลไข้เลือดออก ผ่านโรงเรียนนำร่องที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงสูง เพื่อให้ครูและนักเรียนตัวแทนได้เรียนรู้และรู้จักวิธีป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพและนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สามารถป้องกันได้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่ประชาชนสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไข้เลือดออกด้วยการเฝ้าระวังยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรค เช่น มาตรการ 5 ป. 1ข. คือ ปิด – ปิด หรือคว่ำภาชนะ เพื่อป้องกันยุงไข่ เปลี่ยน – เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอ ปล่อย – ปล่อยปลาลงในอ่างเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับ – ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ปฏิบัติ – ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ขัด – ควรขัดขอบภาชนะเป็นประจำเพราะยุงลายชอบวางไข่ตามขอบภาชนะ หรือมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้านไม่ให้รก เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง เป็นต้น ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองและการสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เช่น สื่อมัลติมีเดีย แอปพลิเคชัน หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีอาการเลือดออกส่วนใหญ่พบที่ผิวหนัง ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยให้รับประทานยาพาราเชตามอล (Paracetamol) และให้หลีกเลี่ยงยาประเภท NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ทั้งนี้ สนอ.ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีการประชุมทุกสัปดาห์และแจ้งเตือนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกให้กับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาด รวมทั้งอบรมพัฒนาความรู้และจัดการอบรมซ้อมแผนการดำเนินงานการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อให้บุคลากรเจ้าหน้าที่มีความรู้ ความสามารถ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที

 

กทม.เปิดศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินกรณีฝุ่น PM2.5 จัดมาตรการเชิงรุกดูแลกลุ่มเปราะบางช่วงค่าฝุ่นสูง

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมดูแลสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางว่า สนพ.ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. ได้เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ดังนี้ รพ.กลาง โทร.02 220 8000 รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02 429 3576 ต่อ 8522 รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02 543 2090 หรือ 084 215 3278 รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02 326 9995 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.063 324 11216 หรือ 099 170 5879 และ รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน พร้อมให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ขณะเดียวกันได้จัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของ รพ.ในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ. ให้บริการตลอด 24 ชม.
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้ ข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง โดยติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

 

เขตสัมพันธวงศ์แจงตัดต้นไม้เสี่ยงโค่นล้มบนถนนตรีมิตร เตรียมปลูกต้นรวงผึ้งทดแทนให้เหมาะกับขนาดทางเท้า

นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กทม. กล่าวชี้แจงกรณีประชาชนร้องเรียนการตัดต้นไม้บนถนนตรีมิตรข้างโรงเรียนประถมปทุมคงคาว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบต้นไม้บริเวณถนนตรีมิตรพบว่า เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ มีปลวกที่ลำต้น แกนกลางและระบบรากต้นไม้มีสภาพทรุดโทรม ไม่เหมาะสมกับบริเวณพื้นที่ทางเท้าที่แคบ และมีความสุ่มเสี่ยงต่อการโค่นล้ม อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่พักอาศัย รวมถึงผู้ที่สัญจรไปมา โดยที่ผ่านมามีประชาชนที่สัญจรผ่านบริเวณทางเท้าถนนตรีมิตรเคยประสบอุบัติเหตุสะดุดรากไม้ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ประกอบกับรากไม้แทรกอยู่ในระบบท่อระบายน้ำและบางส่วนดันท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าแตกเสียหาย ส่งผลให้การระบายน้ำล่าช้า เพราะมีเศษปูนและหินที่ชำรุดจากรากไม้บดบังท่อระบายน้ำ และรากไม้ยังทำลายผนังบ้านเรือนของผู้พักอาศัยในบริเวณดังกล่าวได้รับความสียหาย
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้รับงบประมาณปรับปรุงทางเท้าและภูมิทัศน์ทั้งสองฝั่ง จากถนนทรงวาดถึงถนนเยาวราชที่ชำรุดเสียหายจากรากไม้ขนาดใหญ่ที่ดันกระเบื้องปูพื้นทางเท้าแตกเสียหายตลอดแนว โดยได้หารือแนวทางปรับปรุงทางเท้าและภูมิทัศน์บริเวณถนนตรีมิตรร่วมกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งเห็นด้วยกับการปรับปรุงทางเท้าและสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าว รวมถึงได้ทอดแบบสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่พักอาศัยและผู้สัญจรไปมาบริเวณถนนตรีมิตร จำนวน 45 ราย ผลการสำรวจปรากฏว่า ร้อยละ 73.33 เห็นว่า ต้นไม้บริเวณทางเท้าถนนตรีมิตรทั้งสองฝั่งมีขนาดใหญ่เกินไป และร้อยละ 71.11 เห็นด้วยกับการตัดต้นไม้ ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่พักอาศัยและสัญจรไปมาบริเวณถนนมิตรไมตรี สำนักงานเขตฯ จึงอนุญาตให้ตัดต้นไม้ จำนวน 24 ต้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ สำนักงานเขตฯ จะปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงทางเท้า โดยปรับเปลี่ยนประเภทของต้นไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ทางเท้าที่มีความแคบและไม่ทำลายพื้นกระเบื้องทางเท้า ด้วยการปลูกต้นรวงผึ้งทดแทน ประกอบกับเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200