กทม.เร่งแก้ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่าง ถ.นราธิวาสฯ – ปี 67 เตรียมติดตั้งโคมไฟบนถนนเพิ่มอีก 30,000 โคม
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและข้อความระบุถนนนราธิวาสราชนครินทร์ บางช่วงไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง อาจเป็นอันตรายกับผู้สัญจรว่า สนย.ได้ตรวจสอบพบว่า ไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มีสภาพดับชำรุดบางพื้นที่ เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด อย่างไรก็ตาม สนย.จะเร่งดำเนินการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่างให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ส่วนข้อสังเกตไฟฟ้าส่องสว่างทางเท้า มีไม่เพียงพอ ภายหลังจากที่มีการแก้ไขไฟฟ้าส่องสว่างแล้วจะสำรวจค่าความสว่างว่า ได้ตามมาตรฐานหรือไม่ หากไม่เพียงพอ จะขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับความคืบหน้าการเปลี่ยนโคมไฟฟ้าเป็นหลอดไฟ LED ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในถนนสายหลักสายรอง แล้วเสร็จจำนวน 47 เส้นทาง 5,198 โคม ส่วนถนนซอยดำเนินการแล้วครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต จำนวน 20,213 โคม ส่วนแผนการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะติดตั้งบนถนนสายหลักและสายรอง จำนวน 47 เส้นทาง รวมทั้งหมดประมาณ 10,000 โคม ส่วนถนนในซอยเขตทั้งหมด 20,000 โคม คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างประมาณเดือนมกราคม 2567
กทม.ให้บริการเชิงรุกเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและมาตรการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค บริหารจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย และจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรค ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของ รพ.ในสังกัดให้บริการเชิงรุกเผยแพร่ความรู้ เช่น การจัดกิจกรรม นิทรรศการแก่ประชาชนที่มารับบริการและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ รพ.ให้ตระหนักถึงการดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเอง
ส่วนความคืบหน้าการให้บริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ในสถานพยาบาล กทม.ได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลของ กทม.จัดบริการแผนกฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยแจ้ง รพ.ในสังกัดรับทราบแนวทางการจัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่ได้รับสิทธิในการฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ต้องเป็นประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ (1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี (3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคคือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน (4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป (5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) (6) โรคอ้วน (ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร และ (7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง ติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่รับบริการเป็นประจำ หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ “กระเป๋าสุขภาพ” แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และจองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้า รพ.สังกัด กทม.ผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” หรือผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถโทร.สายด่วน สปสช.1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง
สำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในสถานพยาบาลของ กทม. สนพ.ได้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการและเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ด้วยการตรวจค้นพบโรคและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ตลอดจนกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายใน รพ.และชุมชนโดยรอบ ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนักทางด้านสุขภาพ รวมทั้งรับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้งนี้ สนพ.ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยให้ทุก รพ.ในสังกัดสำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน รพ.และบริเวณโดยรอบ รพ.อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนลงพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีการป้องกัน และวิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้แก่ประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรในสังกัด พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ รพ. แนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ ปิด – ปิดฝาภาชนะให้สนิท ปล่อย -ปล่อยปลากินลูกน้ำ เปลี่ยน – เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ ปรับ – ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปฏิบัติ – ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ขณะเดียวกันได้สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง และการสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากมีอาการไข้สูงให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะยากลุ่มนี้อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น หรือให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยสามารถพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชม.
รร.กทม.แจ้งเตือนฝุ่น PM2.5 ผ่านธงคุณภาพอากาศ เดินหน้าห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนว่า สนศ.ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนให้ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในโรงเรียนสังกัด กทม.ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 ของ กทม.โดยให้โรงเรียนติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านเว็บไซต์ www.airbkk.com หรือแอปพลิเคชัน AirBKK ในเวลา 07.00 น. 11.00 น. และ 15.00 น. และในช่วงที่นักเรียนต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยแจ้งเตือนผ่านกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน ดังนี้ ค่า PM2.5 0 – 15.0 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดตั้งธงสีฟ้า หมายถึง คุณภาพอากาศดีมาก ทำกิจกรรมได้ตามปกติ ค่า PM2.5 15.1 – 25.0 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีเขียว หมายถึง คุณภาพอากาศดี ทำกิจกรรมได้ตามปกติ กลุ่มเสี่ยงควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก ค่า PM2.5 25.1 – 37.5 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีเหลือง หมายถึง คุณภาพอากาศปานกลาง ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กลุ่มเสี่ยง สวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร ลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ค่า PM2.5 37.6 – 75.0 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีส้ม หมายถึง คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กลุ่มเสี่ยง สวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร ลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และค่า PM2.5 75.1 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป ติดตั้งธงสีแดง หมายถึง คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ งดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกกลางแจ้งสวมอุปกรณ์ป้องกัน PM2.5 ทุกครั้ง กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ในห้องที่ปลอดภัย
หากฝุ่น PM2.5 มีค่าตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ. สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลงและเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อนักเรียน ให้ใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอน ดังนี้ (1) ค่าระหว่าง 37.6 – 75 มคก./ลบ.ม. ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครั้งละไม่เกิน 3 วัน ผู้อำนวยการเขต ครั้งละไม่เกิน 7 วัน หากไม่ปิดการเรียนการสอนให้งดกิจกรรมกลางแจ้งและสวมหน้ากากขณะอยู่นอกอาคารเรียนและระหว่างเดินทาง พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่ Safe Zone ให้ทุกคนในโรงเรียน และดำเนินมาตรการป้องกันฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด หรือปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามความเหมาะสม (2) ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ. สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลง และเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ ครั้งละไม่เกิน 15 วัน เมื่อฝุ่น PM2.5 เกิน 2 – 5 เขต ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ โดยไม่จำกัดระยะเวลา เมื่อฝุ่น PM2.5 เกินมากกว่า 5 เขต
นอกจากนั้น สนศ.ยังได้ดำเนินโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาลของโรงเรียนสังกัด กทม.ที่เปิดการเรียนการสอนชั้นอนุบาล จำนวน 429 โรงเรียน 1,743 ห้อง ปัจจุบันมีนักเรียนชั้นอนุบาล 1-2 จำนวน 36,891 คน จากการสำรวจข้อมูลทางกายภาพห้องเรียนชั้นอนุบาล ณ วันที่ 17 ต.ค.66 มีห้องเรียนที่ติดตั้งระบบปรับอากาศ ประมาณร้อยละ 46 และห้องเรียนที่ไม่ได้ติดตั้งระบบปรับอากาศประมาณร้อยละ 54 ซึ่ง สนศ.ได้รับงบประมาณปี 2567 จัดซื้อเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ 1,743 เครื่อง สำหรับขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 60 ตารางเมตร และสามารถกรองอากาศที่อนุภาคเล็กกว่า 0.02 ไมครอน โดยเบื้องต้นจะนำไปตั้งในห้องเรียนชั้นอนุบาลที่ติดตั้งระบบปรับอากาศ เพื่อใช้เป็นห้องเรียนปลอดฝุ่น ใช้ในช่วงเวลาค่าดัชนีฝุ่นสูงเกิน และห้องเรียนชั้นอนุบาลที่ไม่ได้ติดตั้งระบบปรับอากาศ โดยใช้ห้องภายในโรงเรียนเพื่อติดตั้งเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ เพื่อใช้เป็นห้องเรียนปลอดฝุ่น อาทิ ห้องคอมพิวเตอร์ภายในโรงเรียน ห้องประชุมที่มีระบบปรับอากาศ ห้องเรียนพิเศษที่มีระบบปรับอากาศ ส่วนห้องเรียนชั้นอนุบาลที่ไม่ได้ติดตั้งระบบปรับอากาศจะประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงนำเครื่องปรับอากาศส่วนที่มีความจำเป็นน้อยมาใช้ในห้องปลอดฝุ่น และขอจัดสรรงบประมาณปรับปรุงสภาพกายภาพของห้องให้เป็นระบบปิดโดยการกรุช่องเปิด พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศต่อไป