กทม.เตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุกลดผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.66 ว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.รวมทั้งแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ.ให้บริการตลอด 24 ชม.
นอกจากนั้น สนพ.ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้ ข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง และรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันได้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกและเตรียมพร้อมรองรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ได้แก่ รพ.กลาง โทร.02 220 8000 รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02 429 3576 รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02 543 2090 หรือ 084 215 3278 รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02 326 9995 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.063 324 11216 หรือโทร. 099 170 5879 และ รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น โดยเตรียมจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ค่าปริมาณฝุ่นเป็นประจำทุกวันในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ให้ความรู้ สร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการป้องกันฝุ่น PM2.5 และสอนการเข้าถึงแอปพลิเคชัน Air Bkk เพื่อติดตามค่าฝุ่นในพื้นที่ พร้อมแนะนำการดูแลสุขภาพ การลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งและการป้องกันตนเองเมื่อปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงขึ้น กรณีค่าฝุ่นสูงเกินค่าปกติ แนะนำลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไตเสื่อม โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โดยศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.จะจัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ให้และเตรียมความพร้อมยาเวชภัณฑ์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยจากฝุ่นเบื้องต้น หรือส่งต่อคลินิกมลพิษในโรงพยาบาล กทม.ต่อไป ทั้งนี้ สนอ.อยู่ระหว่างจัดหาหน้ากากอนามัย โดยจะส่งผ่านไปให้สำนักงานเขต 50 เขต และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง มอบให้ผู้สูงอายุ ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงขึ้นในเดือน พ.ย.66 ถึงเดือน เม.ย.67 คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายได้ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.66
กทม.เดินหน้ามาตรการดูแลความปลอดภัย-จัดระเบียบสถานบริการรองรับการเปิดให้บริการถึง 04.00 น.
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลความปลอดภัยและจัดระเบียบสถานบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ รองรับการขยายเวลาเปิดให้บริการถึงเวลา 04.00 น. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลว่า กรุงเทพมหานคร โดย สปภ.ได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย พร้อมประสานความร่วมมือสำนักการโยธา กทม.และสำนักงานเขตพื้นที่ทุกแห่งตรวจสอบระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยของอาคารสถานบริการและสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ดับเพลิงภายในอาคาร ประตูทางออก ป้ายบอกทาง ทางหนีไฟ ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน และการกำหนดจำนวนผู้เข้าใช้บริการในสถานบริการและสถานบันเทิง รวมถึงมาตรการดำเนินการกับเจ้าของอาคารและสถานบริการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารแต่ละประเภทตามที่ทางราชการกำหนด โดยพร้อมให้การสนับสนุนสถานบริการและสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยในเบื้องต้น ตลอดจนวิธีเอาตัวรอดและวิธีปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเมื่อประสบเหตุเพลิงไหม้ในสถานที่ดังกล่าว
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า กทม.ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เพื่อเฝ้าระวังป้องกันดูแลให้สถานบริการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด (จำหน่ายได้เวลา 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น.) เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตให้เปิดสถานบริการสามารถจำหน่ายได้ในช่วงเวลาที่เปิดบริการ ตามกฎหมายสถานบริการ) ไม่ปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการพกอาวุธ วัตถุระเบิด หรือยาเสพติดเข้าไปในสถานที่ของตน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน ทั้งนี้ การเปิดให้บริการของสถานบริการขยายเวลาถึง 04.00 น. ยังไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายเรื่องเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงต้องบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า กทม.มีกล้องวงจรปิด (CCTV) เฝ้าดูแลความปลอดภัยของประชาชนจำนวน 63,900 กล้อง ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยดูแลบำรุงรักษากล้อง CCTV ให้มีสภาพใช้งานได้เป็นปกติตลอดเวลา พร้อมสนองรับนโยบายการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดูแลความปลอดภัยประชาชนอย่างใกล้ชิด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม กทม.จะร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตั้งกล้อง CCTV พร้อมระบบ AI เพิ่มเติมในจุดเสี่ยงต่าง ๆ ให้ครอบคลุมโซนพื้นที่นำร่องและที่อื่น ๆ ต่อไป
กทม.แนะนำประชาชนดูแลรักษาสุขภาพช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ในช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากปลายฤดูฝนสู่ต้นฤดูหนาว โดยเฉพาะเด็กเล็กและกลุ่มผู้สูงอายุว่า สนอ.ได้แจ้งเตือนมาตรการป้องกันโรคและภัยในช่วงฤดูหนาว พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติตัวไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.นักเรียนในสถานศึกษา บ้านพักคนชรา รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อสาธารณะต่าง ๆ และติดตามสถานการณ์ภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงฤดูหนาวอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงฤดูหนาว โดยเฝ้าระวังโรคจากรายงานของสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์และเตรียมรับมือกับการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หากมีการระบาดของโรคจะจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อให้บริการสอบสวนโรค และเตรียมเวชภัณฑ์สำรองหากเกิดโรคระบาด
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ พร้อมแนะนำให้ประชาชนมีความระมัดระวังดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพเมื่อสภาพอากาศเย็นลง ดังนี้ (1) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ (2) ดื่มน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำสมุนไพรเผ็ดร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต (3) รับประทานผักผลไม้ และสมุนไพรรสเปรี้ยวบรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ (4) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ (5) สวมเสื้อผ้าหนา ๆ หรือห่มผ้า ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย (6) ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ และ (7) ไม่ควรดื่มสุราแก้หนาว เพราะอาจทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน แต่หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านเว็บไซต์ สนพ.และเพจเฟซบุ๊ก : สนพ.กทม. ต้องการปรึกษาเรื่องสุขภาพ พบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” หรือ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ.ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง