กทม. จัดสรรงบฯ จัดซื้อนมโรงเรียนในสังกัด พร้อมกำกับดูแลการส่งมอบ-รับมอบให้มีคุณภาพ
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมด้านงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนในสังกัด กทม. หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติปรับเพิ่มราคากลางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน 46 สตางค์/กล่อง หรือถุงว่า กทม. ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาล – ประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 50 สำนักงานเขต เพื่อจัดซื้อนมโรงเรียนยู เอช ที คนละ 8.13 บาท จำนวน 260 วัน สำหรับภาคเรียนที่ 1 – 2 ปีการศึกษา 2567 เรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีงบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจาก ครม. มีมติอนุมัติปรับเพิ่มราคากลางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน 46 สตางค์/กล่อง สนศ. จะดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เป็นผู้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนี้ ได้กำชับสำนักงานเขตที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียนให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาล – ประถมศึกษาของโรงเรียนในสังกัด โดยให้ความสำคัญและเข้มงวดในขั้นตอนการส่งมอบและรับมอบนมโรงเรียน เพื่อให้การดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน สอดคล้องและเป็นไปตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ช.ช.) และถือปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนประจำปีการศึกษา 2567
สจส. คืนช่องจราจรแยกพร้อมจิต พร้อมปรับช่องทางคนเดินกว้าง 1.20 เมตร
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวชี้แจงกรณีการทดลองจัดทำช่องทางสำหรับคนเดินบริเวณแยกพร้อมจิต ซอยสุขุมวิท 39 ว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดระเบียบช่องทางคนเดิน เพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้า คนพิการ ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ และรถเข็นสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่มีพื้นที่สำหรับทางเดินที่ปลอดภัย ประชาชนต้องลงมาเดินบนผิวจราจรร่วมกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งสัญจรด้วยความเร็ว ทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ สจส. จึงทดลองแยกช่องทางคนเดินออกจากช่องทางเดินรถในซอยพร้อมจิต (ระยะทางที่ทำการทดลองประมาณ 250 เมตร) เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคนเดิน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการทดลองจัดทำช่องทางสำหรับคนเดินดังกล่าวส่งผลกระทบด้านปัญหาจราจร สจส. จึงเร่งแก้ไขโดยการคืนช่องจราจรให้รถยนต์สามารถสัญจรได้ 2 ช่องทางดังเดิม และปรับให้มีช่องทางคนเดินในฝั่งซ้าย 1 ช่องทาง ความกว้าง 1.20 เมตร พร้อมนำผลกระทบดังกล่าวมาถอดบทเรียน เพื่อระมัดระวังในการดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ และจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นต่อไป
กทม. เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวัง-ป้องกันการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงในกรุงเทพฯ
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีมีรายงานเดือน ต.ค. 67 พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายใหม่มากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ. ได้เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะย่านท่องเที่ยวและย่านพักอาศัยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของสถานพยาบาลในสังกัด เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วย หากพบการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีแนวทางส่งเสริมความรู้ สร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับลักษณะอาการ การแพร่เชื้อ รวมถึงวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิง โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยโรคฝีดาษลิง หลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือกิจกรรมพบปะสังสรรค์ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษลิง ตลอดจนข้อควรปฏิบัติเมื่อพบอาการเข้าข่ายโรค ตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้บริการคลินิกเฉพาะทาง เช่น Pride Clinic (คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย) Family & Friend (ARV Clinic) คลินิกรักปลอดภัย คลินิกโรคผิวหนัง พร้อมทั้งสร้างความตะหนักและสื่อสารสถานการณการณ์โรคฝีดาษลิงในการประชุมต่าง ๆ เช่น การประชุมคณะกรรมการศูนย์ประสานประชาคมเอดส์ (PCM) กรุงเทพมหานคร การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (M-CAB) ประชุมคณะทำงานสุขภาพเพศหลากหลาย และการประชุมประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดบริการด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น รวมถึงการสื่อสารมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิงควบคู่กับการดูแลสุขภาพอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เพจเฟซบุ๊ก “I love Club” และแอปพลิเคชันไลน์ “เพร๊พบางกอก” “BKK Pride Clinic” และการร่วมจัดกิจกรรม บูทความรู้ ในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น Pride Month วันเอดส์โลก วันวาเลนไทน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ยอดผู้ป่วยฝีดาษลิงสะสมในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-18 พ.ย. 67 พบผู้ป่วย 45 ราย โดยพบการติดเชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมากที่สุด (MSM)