กทม. ปรับแผนให้บริการเรือไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษมในปี 68 – ส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดแนวคลอง
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงแนวทางการจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวทางเรือเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษมว่า ปัจจุบัน กทม. ได้ให้บริการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า โครงการพัฒนาระบบการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมระยะที่ 2 ให้บริการตั้งแต่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง – ท่าเรือตลาดเทวราช ในวันจันทร์ – วันอาทิตย์ โดยวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) ให้บริการเวลา 06.00 – 09.00 น. และเวลา 16.00 – 19.00 น. ความถี่ทุก ๆ 20 นาที และวันเสาร์ – อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้บริการเดินเรือทุก ๆ 60 นาที จากการประเมินผลการใช้บริการปี 2567 พบว่ามีประชาชนใช้บริการประมาณ 700 คน/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2566 สำหรับการให้บริการในปี 2568 กทม. มีแผนปรับเพิ่มความถี่การให้บริการในช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ โดยมีมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง
นอกจากนี้ ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวทางเรือเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านชุมชนสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดย กทม. มีแผนพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมและเส้นทางต่อเนื่องเชื่อมโยงกับคลองผดุงกรุงเกษมตามนโยบายของ กทม. อาทิ คลองบางลำพู ในช่วงวัน เสาร์ – อาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันได้ทดลองเดินเรือในคลองบางลำพู เพื่อสำรวจความต้องการของประชาชนและความเหมาะสมของลักษณะกายภาพของคลอง เพื่อให้การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวในเส้นทางแนวคลองผดุงกรุงเกษมต่อไป
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวว่า ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สจส. สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สำนักงานเขตดุสิต และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พิจารณาจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวทางเรือเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านชุมชนสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน โดย สวท. ได้นำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษมในเส้นทางต่าง ๆ ได้แก่ (๑) เส้นทางอิ่มบุญอิ่มท้อง เริ่มจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง สักการะพระพุทธเทวราชปฏิมากร พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และองค์เทวานิรมิต ณ วัดเทวราชกุญชร รวมทั้งชอป ชิมอาหารขึ้นชื่อที่ตลาดนางเลิ้ง (2) เส้นทางไหว้สองวัดคู่คลอง เริ่มจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง เยี่ยมชมวัดโสมนัสราชวรวิหาร และวัดมกุฏกษัตริยาราม (3) เส้นทางพหุวัฒนธรรมสองฝั่งคลอง เริ่มจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง เยี่ยมชมมัสยิดมหานาค และวัดสมณามันมบริหาร
สำหรับท่าเรือขึ้นแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม ได้แก่ (1) ท่าเรือตลาดเทวราช – ตลาดเทวราช วัดเทวราชกุญชร (2) ท่าเรือเทเวศร์ – วัดอินทรวิหาร (3) ท่าเรือประชาธิปไตย – วัดมกุฏกษัตริยาราม (4) ท่าเรือราชดำเนินนอก – สนามมวยราชดำเนิน วัดโสมนัสราชวรวิหาร (5) ท่าเรือนครสวรรค์ – ตลาดนางเลิ้ง วัดสมณานัมบริหาร (6) ท่าเรือแยกหลานหลวง – ตลาดโบ๊เบ๊ ตลาดมหานาค ตลาดสะพานขาว มัสยิดมหานาค (7) ท่าเรือยศเส – วัดเทพศิรินทราวาส ตรอกยศเส วัดพลับพลาไชย (8) ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง – สถานีรถไฟกรุงเทพ วัดไตรมิตร ตรอกนานา ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา
สนพ. ดำเนินโครงการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตความโปรงใสในการดำเนินโครงการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ว่า โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. แบ่งออกเป็น 2 รายการ คือ (1) ชุดศูนย์กลางติดตามการทำงานของสัญญาณชีพ 6 พารามิเตอร์ระบบรวมศูนย์ขนาด (8, 9, 12, 15, 16) เตียง และระบบ Teleconference สำหรับประชุมวางแผนการรักษา 13 ชุด วงเงิน 161 ล้านบาท สำหรับโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติยกเลิกการประมูลด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เนื่องจากมีผู้ยื่นเสนอราคา จำนวน 3 ราย แต่มีผู้ผ่านการพิจารณาเพียงรายเดียว เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 56 ในกรณีที่มีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย แต่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียว ให้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์นั้น ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาผลฯ พิจารณาแล้วเห็นสมควรยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ และขอดำเนินการเปิดประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ครั้งที่ 2 และ (2) ชุดระบบตรวจคัดกรองผู้ป่วย Smart OPD, Electronic Medical Charting IPD และ ER Status ประสิทธิภาพการให้บริการด้านการแพทย์ 1 ชุด พร้อมชุดเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการแพทย์ 1 ชุด วงเงิน 92 ล้านบาท สำหรับโรงพยาบาลนคราภิบาล ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาผลฯ อยู่ระหว่างกำหนดร่าง TOR และราคากลาง
ทั้งนี้ สนพ. ดำเนินการตามแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดซื้อครุภัณฑ์ 2 รายการดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวง หนังสือสั่งการ และระเบียบที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ซึ่งการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ได้คำนึงถึงคุณภาพ เทคนิค และวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อครุภัณฑ์ โดยมิได้กำหนดคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ให้ใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งหรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อให้มีผู้เสนอราคาสามารถเข้าแข่งขันเสนอราคาได้มากราย ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและกรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับหลักการคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้
กทม. เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจอดรถกีดขวางทางสัญจรในซอยพหลโยธิน 56
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีที่ประชาชนที่พักอาศัยในซอยพหลโยธิน 56 เขตสายไหม ได้รับความเดือดร้อนจากรถยนต์ที่ผู้พักอาศัยในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งนำมาจอดบนถนนในซอยว่า จากการตรวจสอบภายในซอยพหลโยธิน 56 มีโครงการอาคารชุด ชื่อ เดอะ คิวบ์ พลัส พหลโยธิน 56 ซึ่งได้รับอนุญาตก่อสร้างและรับรองการก่อสร้างจากสำนักงานเขตสายไหม เป็นอาคารสูง 7 ชั้น จำนวน 2 หลัง ห้องพักทั้งหมด 282 ห้อง ที่จอดรถ จำนวน 12, 14 และ 65 คัน ตามลำดับ รวม 91 คัน เป็นอาคารที่ได้เห็นชอบ EIA ทส 1010.5/14832 ลงวันที่ 26 ต.ค. 2561 และ ทส 1010.5/15685 ลงวันที่ 12 พ.ย. 2561 ปัจจุบันบริเวณหน้าโครงการอาคารชุดดังกล่าวมีการตีเส้นขาว-แดง ห้ามจอด แต่ยังมีผู้ใช้รถบางรายนำรถจอดภายนอก ซึ่ง สนย. จะได้ประสานความร่วมกับสำนักงานเขตพิจารณาแนวทางแก้ไขและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป