Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566

กทม.เร่งปรับปรุงกายภาพ-ติดตั้งกล้อง CCTV พร้อมระบบ AI เพิ่มความปลอดภัยทางม้าลายหน้า รร.โยธินบูรณะ

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุรถจักรยานยนต์ชนนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ 5 คน ขณะเดินข้ามถนนบริเวณทางม้าลายหน้าโรงเรียนว่า บริเวณทางข้าม (ทางม้าลาย) หน้าโรงเรียนโยธินบูรณะถือเป็นพื้นที่เปราะบาง สจส.จึงได้ทาสีพื้นทางด้วยสีโคลด์พลาสติก (สีแดง) ให้เห็นได้อย่างชัดเจน พร้อมติดตั้งสัญญาณไฟจราจรชนิดกดปุ่ม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินข้ามถนน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) พบว่า ผู้ก่อเหตุขับขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาท ไม่ชะลอความเร็ว และไม่หยุดให้คนเดินข้ามถนน ทั้งที่มีสัญญาณไฟแดงให้รถหยุด ซึ่งเป็นเจตนากระทำผิดและไม่เคารพกฎหมายจราจร
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว สจส.จึงได้ดำเนินการปรับปรุงด้านกายภาพเพิ่มเติมและใช้เทคโนโลยีช่วยบังคับใช้กฎหมาย โดยด้ายกายภาพจะจัดทำเส้นเตือนชะลอความเร็วและเครื่องหมายจราจรแสดงเขตโรงเรียน เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่รถชะลอความเร็วก่อนทางข้าม ส่วนด้านการบังคับใช้กฎหมายจะติดตั้งกล้อง CCTV พร้อมระบบ AI ตรวจจับผู้ฝ่าฝืนที่ไม่ชะลอ หรือจอดรถที่ทางข้ามและจะส่งข้อมูลภาพของผู้กระทำผิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี จับ-ปรับสูงสุดตามกฎหมายจราจรต่อไป

 

กทม.ติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคฝีดาษวานรในกลุ่มเสี่ยงทั้งเชิงรับ-เชิงรุก

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 – 27 ต.ค. 66 มีผู้ป่วยจำนวน 342 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ 313 รายและทราบว่าติดเชื้อ HIV 157 ราย ติดเชื้อซิฟิลิส 27 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 31-40 ปี 139 ราย และอายุ 21-30 ปี 113 ราย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 9 ราย โดย สนอ.ได้ติดตามแนวโน้มสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการสนับสนุนส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอาการ วิธีการแพร่เชื้อ วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษวานร รวมถึงข้อควรปฏิบัติเมื่อพบอาการเข้าข่ายโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว หรือย่านพักอาศัยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งการลงพื้นที่ให้ความรู้และสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ กทม.มีระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยง โดยเฝ้าระวังทั้งเชิงรับ ได้แก่ การตรวจจับการระบาดจากระบบรายงานโรค การลงสอบสวนโรคทุกเคส และการเฝ้าระวังเชิงรุกโดยร่วมมือกับสำนักงานเขตและองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ให้ความรู้กับสถานบริการ ซาวน่า และสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มชายรักชาย
สำหรับประชาชนที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ดังนี้ หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวานร ให้สังเกตตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย โรคฝีดาษวานรสามารถป้องกันได้โดยงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สำส่อนทางเพศ ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เน้นย้ำว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ เนื่องจากสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสแบบแนบชิดเนื้อ โดยหมั่นสังเกตผู้ที่พบปะว่ามีอาการไม่สบายหรือไม่ การใส่หน้ากากจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ลงได้

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้ติดตามและเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลสังกัด กทม. เฝ้าระวังคนไข้ทั้งแผนกฉุกเฉิน (ER) และแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึงโรงพยาบาลที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อ HIV หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย เฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้โรงพยาบาลสิรินธรเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูล ควบคุม ดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุขทราบทันที
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์ หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ แม้จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันทีได้ที่ “คลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร” หรือพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว แล้วแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร. 1646 บริการตลอด 24 ชั่วโมง

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200