กทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบ-เร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการคอนโดฯ ปากซอยพระ
นคเรศนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีชุมชนพระนคเรศฟ้อง กทม.อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการ พาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน (PARK ORIGIN CHULA-SAMYAN) บริเวณปากซอยพระนคเรศ ถนนพระราม 4 โดยใช้กระจกเป็นผนังรอบอาคาร ก่อปัญหาแสงสะท้อนเข้ามาในบ้านเรือนรอบชุมชน รวมทั้งส่งผลกระทบจากฝุ่นละอองและเสียงดังว่า จากการตรวจสอบโครงการดังกล่าวได้รับใบแจ้งการก่อสร้างอาคาร ตามแบบ ยผ.4 เป็นอาคารตึก 42 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย (499 ห้อง) ชุดพาณิชย์ (ร้านค้า 2 ห้อง) เป็นของบริษัท พาร์ค ออริจิ้น พระราม 4 จำกัด ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) และได้รับใบรับรองการก่อสร้าง ตามแบบ อ.5
ส่วนกรณีผลกระทบเรื่องฝุ่นละออง เสียงดัง เศษวัสดุและเศษปูนตกใส่หลังคาบ้านตลอดระยะเวลาที่โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โครงการฯ ได้เยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว ขณะที่ผลกระทบด้านการสะท้อนแสงแดดของโครงการฯ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้กำหนดให้กระจกโดยรอบอาคารมีคุณสมบัติการสะท้อนแสงได้ไม่เกินร้อยละ 30 ตามข้อ 27 ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2527) แก้ไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 48 (พ.ศ.2540) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดให้โครงการฯ ต้องจัดให้มีการชดเชยค่าเสียหาย หรือดำเนินการแก้ไขผลกระทบให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากกระจกสะท้อนให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบกับบริษัท พาร์ค ออริจิ้น พระราม 4 จำกัด โดยมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างและสิ้นสุดลงภายในระยะ 1 ปี นับตั้งแต่จดทะเบียนอาคารชุด ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ จะแต่งตั้งคณะกรรมการประสานแก้ไขปัญหาจากการพัฒนาโครงการ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดแนวทางการชดเชยที่เหมาะสม เป็นรูปธรรม และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ทั้งนี้ สนย.ได้เข้มงวดตรวจสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อประกอบการพิจารณาการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันได้มีหนังสือแจ้งโครงการฯ ให้เยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนตามรายงาน EIA นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 สนย.ได้เข้าร่วมประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับสำนักงานเขตบางรัก ผู้ได้รับความเดือดร้อน และเจ้าของโครงการฯ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าว
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า คชก.กทม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการ พาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน (PARK ORIGIN CHULA-SAMYAN) ในการประชุม คชก.กทม.ครั้งที่ ๘๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 โดยได้พิจารณาตามหลักฐานทางวิชาการและข้อกฎหมาย ความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แล้ว โดยประเด็นการสะท้อนแสงของอาคารโครงการฯ ต่อชุมชนโดยรอบ โครงการฯ ได้ออกแบบอาคารเป็นลักษณะกระจกโดยรอบอาคารซึ่งวัสดุกระจกที่ใช้มีคุณสมบัติการสะท้อนสูงสุดร้อยละ 19 เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2572) แก้ไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 48 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 27 ที่ระบุว่า “วัสดุที่เป็นผิวของผนังภายนอก อาคาร หรือที่ใช้ตกแต่งผิวภายนอกอาคารต้องมีปริมาณการสะท้อนแสงได้ไม่เกินร้อยละ 30 พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม การชดเชยเยียวยากรณีชุมชนโดยรอบได้รับผลกระทบจากการสะท้อนแสงแดด รวมทั้งในประเด็นฝุ่นละออง เสียงดัง เศษวัสดุ เศษปูนตกใส่หลังคาในช่วงก่อสร้าง และผลกระทบด้านการบดบังทิศทางลม โดยโครงการฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้อย่างครอบคลุมแล้ว และหากมีการร้องเรียนจะต้องดำเนินการตามผังกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ คชก.กทม.เห็นว่า โครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงาน EIA เป็นไปตามแนวทางรายละเอียดและประเด็นที่กำหนด ประกอบกับได้รับฟังความคิดเห็นของชุมชน และได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการชดเชยเยียวยาไว้อย่างครบถ้วน จึงได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โดยมาตรการต่าง ๆ ในรายงาน EIA จะกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้าง หรือรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร ซึ่งโครงการจะต้องถือปฏิบัติ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA จะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมอาคาร ส่วนการติดตามตรวจสอบให้ปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA มีทั้งการติดตามตรวจสอบโดยหน่วยงานที่อนุญาต ได้แก่ สำนักการโยธา กทม.และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตบางรัก นอกจากนี้ เจ้าของโครงการจะต้องจัดส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการในการรายงาน EIA ให้ กทม.เพื่อส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นที่โครงการฯ จะต้องถือปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด
นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางรัก กทม.กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนขณะดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งได้ติดตามแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนจากชุมชนซอยพระนคเรศที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างอาคาร ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการในช่วงประมาณปี พ.ศ.2563 – 2566 อย่างต่อเนื่อง โดยจัดประชุมร่วม เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เสียงดัง เศษวัสดุ และเศษปูนตกใส่หลังคาบ้าน รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายร่วมกับชุมชน ตัวแทนผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าของโครงการฯ ตลอดจนประสานแจ้งสำนักการโยธา กทม.ร่วมตรวจสอบแก้ไขปัญหาตลอดระยะเวลาการก่อสร้างอาคารดังกล่าว
กทม.-หน่วยงานสาธารณูปโภคร่วมวางแผนรื้อย้ายสิ่งกีดขวางบนทางเท้าถนนสุทธิสารวินิจฉัย
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการปรับปรุงทางเท้าถนนสุทธิสารฯ ไม่มีการรื้อสิ่งกีดขวางและไม่เป็นไปตามมาตรฐานว่า สนย.ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภค ได้แก่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT การประปานครหลวง (กปน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.และสำนักงานเขตพญาไท พร้อมลงพื้นที่สำรวจและหาวิธีการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางบนทางเท้าถนนสุทธิสารวินิจฉัย ช่วงจากถนนวิภาวดีรังสิต – ถนนพหลโยธิน ซึ่งภายหลังจากการประชุมและลงพื้นที่ได้กำหนดแผนการดำเนินงานของหน่วยงานสาธารณูปโภคและกรุงเทพมหานครในการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางไปตามลำดับ เช่น การดำเนินการของ กปน.การรื้อย้ายตู้ชุมสายที่ไม่ได้ใช้งานแล้วของ NT เป็นต้น โดยการปรับปรุงดังกล่าวได้ยกระดับทางเข้า-ออกต่าง ๆ ให้มีระดับเสมอทางเท้า และจัดทำทางลาดคนพิการในจุดที่เป็นทางข้าม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการที่ใช้ทางเท้าเป็นเส้นทางสัญจร โดย สนย.อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไขจุดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ ปัจจุบันงานซ่อมคันหินและทางเท้าถนนสุทธิสารวินิจฉัย ช่วงถนนพหลโยธิน-ถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทางประมาณ 1,400 เมตร มีความคืบหน้าร้อยละ 90
กทม.เดินหน้าปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลอง-เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตพระนคร
นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.เร่งแก้ปัญหาไขมันและขยะในท่อระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตพระนครว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดทำแผนการตรวจสุขาภิบาลอาหาร โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล จะลงพื้นที่ตรวจสุขลักษณะทางด้านกายภาพสถานประกอบการให้ติดตั้งบ่อดักไขมันที่มีประสิทธิภาพ มีการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้คำแนะนำ กวดขัน ผู้ประกอบการสถานที่จำหน่ายอาหาร หาบเร่แผงลอยในพื้นที่เขตพระนคร ไม่ให้ทิ้งขยะ เศษอาหาร และไขมันลงท่อระบายน้ำตามแผนเป็นประจำทุกวัน อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ จะกวดขัน เฝ้าระวัง ติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขที่เป็นระบบ ยั่งยืน และลดความเดือดร้อนของประชาชน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.ถึงแนวทางการปรับปรุงคุณภาพในคลองและการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เขตพระนครว่า สนน.ได้ขุดล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ปิด-เปิดประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ รวมถึงสถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อฝนตกหนักมักจะเกิดปัญหาน้ำรอการระบายในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เป็นลักษณะของการเกิดปัญหาน้ำท่วมขังที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชน รวมถึงร้านค้าไม่ทิ้งขยะ สิ่งของลงในท่อระบายน้ำ เพื่อช่วยให้น้ำไหลได้สะดวกรวดเร็วและไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรอการระบาย
ทั้งนี้ สนน.ได้ให้บริการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เขตพระนคร ประกอบด้วย โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์และโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ครอบคลุมตลอดแนวคลองรอบกรุง (คลองบางลำภู) คลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง) แนวคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) และคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อรวบรวมน้ำเสียจากชุมชนและสถานประกอบการต่าง ๆ แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างนอกแนวพื้นที่บริการเพิ่มขึ้น บางแห่งมีการต่อเติม ดัดแปลงอาคาร ส่งผลให้มีจุดปล่อยน้ำเสียที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบท่อรวบรวมน้ำเสียและปล่อยลงสู่คลองโดยตรง ดังนั้น เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำคลอง กทม.จึงประสานขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาฟื้นฟูคลองในพื้นที่เขตพระนคร ดังนี้ จัดการน้ำเสียต้นทาง
โดย สนน.และสำนักงานเขต ประชาสัมพันธ์และเฝ้าระวังแหล่งกำเนิดน้ำเสีย เช่น ร้านอาหาร ตลาด และโรงแรม ให้ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียและปล่อยน้ำทิ้งให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จัดการน้ำเสียกลางทาง โดยกรมควบคุมมลพิษและสำนักงานเขต บังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมการระบายน้ำจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หากพบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้ง จะออกคำสั่งเป็นหนังสือให้จัดการแก้ไขปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย สั่งให้หยุด หรือปิดกิจการ หรือสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตต่อไป และจัดการน้ำเสียปลายทาง โดย สนน.และสำนักงานเขต สำรวจจุดที่มีน้ำเสียที่ยังไม่เข้าระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย เพื่อวางแผนการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมเข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง
นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูคุณภาพน้ำและภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง โดยขอสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์จากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.และสำนักงานเขต เป็นต้น รวมถึงมีมาตรการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันผู้ค้า ร้านค้า และหาบเร่แผงลอยในพื้นที่เขตพระนครไม่ให้ทิ้งขยะเศษอาหารและไขมันลงท่อระบายน้ำ การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนรณรงค์ขอความร่วมมือผู้ค้าและประชาชนติดตั้งบ่อดักไขมันก่อนปล่อยลงท่อระบายน้ำ จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เชิงวิชาการด้านกฎหมายแก่เจ้าของอาคารและผู้ประกอบการ เพื่อให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามข้อกฎหมายต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง อาทิ การติดตั้งบ่อดักไขมันก่อนปล่อยลงท่อระบายน้ำ การห้ามทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ คู คลอง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารให้ปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ประกอบกับข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2565 ที่กำหนดให้สถานที่จำหน่ายอาหารต้องมีถังดักไขมันและน้ำทิ้งต้องได้มาตรฐานตามกฎหมายที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกวดขันไม่ให้ผู้ใดเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครก หรือสิ่งอื่นใดลงบนถนนหรือในทางน้ำ หากฝ่าฝืนมีโทษสูงสุดปรับ 10,000 บาท