กทม.-กรมควบคุมโรคเร่งรณรงค์ ลดบริโภคเกลือ-โซเดียมในอาหาร ชี้คนไทยกินเกินมาตรฐานWHO 2 เท่า

กทม.จับมือกรมควบคุมโรค-ภาคี ขับเคลื่อนปฏิบัติการลดบริโภคเกลือ-โซเดียมในอาหาร เสริมสร้างสุขภาพดี เผยคนไทยบริโภคเกลือเกินเกณฑ์ WHO 2 เท่า

วันที่ 26 ต.ค. 2566 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในกรุงเทพมหานคร โดยมี นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรม ควบคุมโรค ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ ผู้แทนองค์การ อนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO) นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกัน ควบคุมโรคเขตเมือง ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม วิทยากร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม วิภาวดี บอลรูม โรงแรมปริ๊นส์ตัน เขตดินแดง

จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ.2561-2562 และการสำรวจปริมาณการบริโภคโซเดียมของ คนไทยจากการเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ในประชากร อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,388 ราย พบว่า ร้อยละ 67 มีการบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม ต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึง 1.5-2 เท่า ซึ่งการบริโภคเกลือและโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานาน เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะ ความดันโลหิตสูง และส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อันตราย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งพบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อที่มีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารรสเค็ม 22.05 ล้านคน (โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจ ขาดเลือด 0.75 ล้านคน และโรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน) และมีแนวโน้มความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อจากการบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด เป้าหมายการลดค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือและโซเดียมลงร้อยละ 30 เป็น 1 ใน 9 ตัวชี้วัดของการ ป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับโลก (9 global targets for noncommunicable diseases) อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน เฝ้าระวังการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การป้องกันโรคไม่ติดต่อระดับโลก

กรมควบคุมโรค โดยกองโรคไม่ติดต่อ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมประเทศไทย พ.ศ.2559-2568 และจัดทำมาตรการการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดำเนินงานสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วย Salt meter และการสำรวจความตระหนักรู้ การบริโภคเกลือ และโซเดียมของประชาชน อีกทั้งมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงาน เฝ้าระวังการบริโภคเกลือ และโซเดียมของประชาชน ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุมจากสังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ฝ่ายสิ่งแวดล้อมสำนักงานเขต กองสุขาภิบาลอาหาร กองสร้างเสริมสุขภาพ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ ผู้จัดการตลาดในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นภาคีสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารปรับสูตรลดโซเดียมในอาหาร รวมทั้งสิ้น 250 คน

รองปลัดกทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทย เป็นพื้นที่เขตเมือง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัว และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งหน้าทำมาหากิน จนละเลยการดูแลสุขภาพ กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างครบวงจรด้วยภารกิจในการให้บริการอันหลากหลาย ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การศึกษา และคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ โดยมีเป้าหมายให้ชาวกรุงเทพฯ ทุกคนมีชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมที่ดี ดังนั้น ในเรื่องของประเด็นการเฝ้าระวังเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ถือเป็นประเด็นท้าทาย และเร่งด่วนในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ยังไม่มีข้อมูลการบริโภคโซเดียมของประชาชนในแต่ละเขต พื้นที่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญต่อการวางแผน ในการป้องกันและควบคุมการก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในประชาชน ขอให้ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม และสุขาภิบาล สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และตลาด ร่วมกันดำเนินการสำรวจอาหารในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในกรุงเทพมหานครสำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป

 

 

ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 27 ต.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200