ศศวัชร์ คมนียวนิช : เรื่อง
ยิ่งยศ เอกมานะชัย : ภาพ
33 ตารางกิโลเมตร คือพื้นที่กว้างใหญ่ของเขตจตุจักรกว่าแสนคน ยังไม่นับประชากรแฝง คือจำนวนคนในเขตเดียวกันและนั่นคือหน้าตักอันหนักอึ้ง ของ ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักรคนใหม่ในฤดูกาลเกษียณอายุราชการที่ผ่านมา
ทว่า เป็นภารกิจที่เต็มใจรับอย่างภาคภูมิ หลังทำงานในพื้นที่นานกว่า 8 ปี เลื่อนขึ้นจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตจตุจักร มาเป็นผู้อำนวยการเขตจตุจักร ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2566
ไต่เต้าด้วยความสามารถล้วนๆ จากข้าราชการ ซี1 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด กระทั่งนั่งเก้าอี้ ผอ.เขต
เส้นทางชีวิตย่อมไม่ธรรมดาไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็น ผู้หญิงคนแรก ในตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ ภัทร์กร เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด เกิดที่เขตบางกอกน้อย คุณพ่อเป็นคนกรุงเทพฯ ส่วนคุณแม่เป็นคน จ.ตาก แต่ย้ายมาอาศัยที่กรุงเทพฯ
จบการศึกษาปริญญาตรี ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระดับปริญญาโท ที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก่อนหน้าที่จะมา สอบบรรจุข้าราชการ กทม. หลังทำงานเป็นธุรการอยู่บริษัทเอกชนมาได้ไม่นาน ก็สอบขึ้นบัญชีไว้ ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ซี1 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด อยู่ในฝ่ายพัฒนาชุมชน ที่สำนักงานเขตพญาไท
ต่อมาไปสอบเป็นข้าราชการ ซี5 ที่สำนักสิ่งแวดล้อม สอบซี6 ที่สำนักงานเขตบางซื่อ แล้วย้ายมาเป็นหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดที่สำนักงานเขตจตุจักร ในปี 2559 ก่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตจตุจักร ในปี 2563 ถือว่ามีความคร่ำหวอดในเขตจตุจักรมาอย่างยาวนานถึง 8 ปี
ภารกิจต่อจากนี้นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
ตั้งแต่รับราชการมาเรื่องอะไรมีความท้าทายสุด?
เรื่องคลองเปรมประชากร ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับหลายเขต ตั้งแต่บางซื่อ จตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง ไปถึงปทุมธานี ซึ่งจะมีปัญหาในเรื่องการรุกล้ำแนวคลองที่เป็นสาธารณะ ที่บอกว่าท้าทายก็คือต้องไปพูดคุยกับประชาชน ในการรื้อย้ายบ้านออก เราพูดคุยกับประชาชนตรงแนวปากคลองลาดยาว ตอนนั้นมีบ้าน 3 หลังใหญ่มาก ตอนแรกก็ไม่ยอม เข้าไปพูดคุยจนกระทั่งสนิทกับสุนัขที่บ้านเขา จากที่มันไม่ชอบพี่ ไล่กัด จนกระทั่งเป็นเพื่อนกัน เวลาเข้าไปหาก็ซื้อขนมไปฝาก จนยินยอมย้ายออก โดยเราช่วยทั้งการรื้อและขนย้าย โดยเฉพาะท่าน ผอ.เขตในขณะนั้น (พรเลิศ เพ็ญพาส) ที่ท่านเข้าไปคุยก่อน และเราก็เป็นคนเข้าไปสานต่อ
จนบัดนี้ไล่มาจนถึงช่วงสุดท้ายจะเป็นในส่วนของชุมชนวัดเทวสุนทร อันนี้ก็ไม่ใช่ว่าประชาชนจะยินยอมทั้งหมด มีบ้านที่ไม่ยินยอมที่จะให้มีการสร้างบ้านมั่นคง มีการเข้าไปพูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิฯ ร้องเรียนไปทุกที่เลย เราก็เข้าไปชี้แจง ใช้ทั้งข้อกฎหมายด้วย มีการยืดหยุ่นอะลุ่มอล่วยด้วย
ตอนนี้เริ่มมีการสร้างเขื่อนของสำนักการระบายน้ำได้แล้ว โครงการบ้านมั่นคงก็เข้าได้แล้ว ทำถนนจากวัดเทวสุนทรถึงถนนงามวงศ์วาน จะแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่ตอนนี้กำลังเร่งรื้อย้ายอยู่ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนา โดยการเข้าไปพูดคุยกับหลวงพ่อวัดเสมียนนารีซึ่งมีกำแพงแนวยาวเลย ท่านให้ความเมตตามาก
มีการฝึกอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยริมคลองด้วย?
ตอนนี้ที่เขตมีศูนย์ฝึกอาชีพอยู่แล้ว อยู่ตรงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ซึ่งเปิดให้เรียนวิชาชีพหลากหลาย มีทั้งคอมพิวเตอร์ มีการทำอาหาร การแต่งหน้าทำผม ในส่วนของการส่งเสริมอาชีพของชุมชนริมคลองที่เห็นเป็นรูปธรรมเลยก็จะเป็นชุมชนของพี่ภัสสร ทำพวกสานตะกร้าเดือนที่แล้วเขาก็ส่งไปเมืองนอกเลย แล้วเราก็กำลังจะต่อยอด ซึ่งฝ่ายพัฒนาชุมชนกำลังจะมีแนวคิดในเรื่องของการประกวดชุมชนยั่งยืน ที่ชุมชนนี้ เดือนนี้มีอะไรเด่น ชุมชนนี้มีอะไรเด็ด แล้วเราก็มาคุยกันในที่ประชุมกรรมการชุมชน แล้วก็จะมีการประกวดกัน ให้เขามีความรู้สึกว่าเขาได้มีส่วนร่วม แล้วก็มีการส่งเสริมอาชีพด้วย ในการทำจะเป็นในเรื่องของหน้าร้าน แล้วก็ตลาดออนไลน์
วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเขตจตุจักร?
จตุจักรต้องเป็นเลิศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้บริการประชาชนที่จะต้องรวดเร็ว รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน การรับเรื่องของทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งพอพูดถึงจตุจักร รถติด เขตจตุจักรส่วนมากจะเป็นซอยลัดซอยแยกซะเยอะ เราเสนอไปแล้วทางสำนักการโยธาก็จะมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของถนนลาดพร้าวก็มีปัญหาเพราะก่อสร้างรถไฟฟ้า ก็ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยง ไปไหนก็จะติดเป็นเส้นวงกลมไปหมดเลยโดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย มีแนวทางดำเนินการอย่างไร?
เรากำลังพยายามจัดระเบียบ ปีนี้จะจัดระเบียบตรงถนนรัชดาภิเษก ซอย 32 มีผู้ค้าประมาณ 10 กว่าราย อันนั้นเราก็จะไม่ให้มี ตอนนี้แถวสถานี รถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิตก็ไม่มีแล้ว ถนนลาดพร้าว ซอย 1 ก็ไม่มีแล้ว ช่วงนั้น ทั้งซอย เราก็จะจัดให้มาอยู่ตรงหน้ายูเนี่ยนมอลล์ ซึ่งไปทำความร่วมมือกับ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ให้ผู้ค้าเข้าไปอยู่ตรงนั้น โดยที่ไม่สะเปะสะปะไปตามถนน แล้วเราก็ขอความร่วมมือทำแผงให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเราจัดระเบียบให้อยู่ตรงนี้ ห้ามมีการเพิ่มผู้ค้าแล้ว และเราก็จะไม่มีการเพิ่มจุดผ่อนผัน พยายามที่จะดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้า แผงลอยตอนนี้จะพยายามไม่ให้มีในพื้นที่จตุจักรแล้ว
ปัญหาที่กำลังจะเร่งทำอีกอย่างหนึ่งในถนนลาดพร้าว ซอย 1 คือ ไม่มีทางเท้า เป็นซอยดั้งเดิมมาก มีของขายทั้งสองฝั่ง ซึ่งร้านขายของก็คือพื้นที่ของบ้านเขา เราเข้าไปดูแล้ววัดเรียบร้อย เพราะฉะนั้นคนกับรถต้องใช้เส้นเดียวกัน อันตรายก็เกิดใช่ไหม ไหนจะต้องหลบผู้ค้า ไหนจะต้องหลบรถ ก็คิดที่จะประสานกับ สจส. (สำนักการจราจรและขนส่ง) ตีเส้นให้คนเดินโดยเฉพาะ อย่างน้อยต้องรู้แล้วว่าตรงนี้ที่คนเดินนะ
ส่วนการทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ค่อนข้างจะยากตรงที่จะต้องเป็นศูนย์รวมของการนั่งรับประทานอาหาร เลยไปประสานกับทางตลาด กรีนวินเทจ เขาก็ยินดีให้ผู้ค้าเข้าไป เพียงแต่ว่าตอนนี้ค่าเช่าแผงราคายังสูง ผู้ค้าบางรายยินยอมที่จะเข้าไป แต่บางรายไม่ไหวก็เลยต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะติดด้วยเงื่อนไขว่าเราจะไม่ให้ทำการค้าตรงบริเวณนั้นแล้ว แต่ไม่ใช่ว่า ไล่เลยนะ ก็ให้เวลาเขา ตอนนี้ทุกเขตก็ประสบปัญหานี้อยู่เหมือนกัน เช่นตรงหน้ายูเนี่ยนมอลล์ที่เรารวบรวมผู้ค้าเป็น 10 เจ้า แล้วเราก็บอกว่าเป็น Hawker Center ก็ไม่เข้าเงื่อนไขของท่านผู้ว่าฯ เพราะว่าไม่ได้มีการนั่งทานเป็น ศูนย์อาหาร แต่ก็พยายามหาอยู่ ประกอบกับพื้นที่จตุจักรเป็นทำเลทองหมด
ปัญหาน้ำท่วมขังตามซอยมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร?
ปัญหาน้ำท่วมเช่นที่ซอยเสือใหญ่อุทิศ (รัชดาภิเษก 36) ตอนนี้ทางเขตได้รับงบประมาณมาแล้วกำลังดำเนินการอยู่ โดยการขยายท่อระบายน้ำ ยกฝาบ่อ ตามซอยแยกต่างๆ ก็จะเสร็จประมาณต้นปีหน้า ทำทั้งหมดหลายซอยอยู่เหมือนกัน เพราะว่าถ้าซอยหลักท่วมซอยแยกไม่เหลือ ซึ่งตอนนี้สังเกตได้เลยว่าจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ถึงจะท่วมแต่ว่าระบายน้ำได้เร็ว
ตอนนี้เราเริ่มที่จะดำเนินการทำในซอยต่างๆ ที่มีผลกระทบ ทั้งนี้ได้ทำไปแล้ว 40-50 ซอย ซึ่งมีบางซอยปรับปรุงเสร็จแล้ว แต่ว่ามีงบประมาณเหลื่อมปีกันมาที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จอย่างน้อยก็ไม่เกิน 2-3 เดือนนี้ อาจจะต้องแล้วเสร็จ อีกหน่อยเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่จตุจักรจะเบาบางลง
ด้านการศึกษาภายในเขตเป็นอย่างไร?
เรามีโรงเรียน 7 แห่ง โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงลำดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ ทางผู้บริหารอยากให้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส โดยจะมีโรงเรียน 3 แห่งของเขตเพิ่มชั้นเตรียมอนุบาล เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาของพ่อแม่ผู้ปกครอง
ทีมงานของเขตมีความพร้อมหรือไม่?
ทีมงานค่อนข้างดีมีความเข้มแข็ง ก็เบาใจได้ อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องหนักใจกับบุคลากรในเขต เจ้าหน้าที่ตอนนี้ยังมีไม่เต็มอัตรา แต่ว่าใช้วิธีการบริหารจัดการ เช่นฝ่ายรายได้ช่วงการจัดเก็บภาษี ก่อนหน้านั้นเขาจะต้องทำเอกสาร เพื่อที่จะให้ประชาชนในพื้นที่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทราบว่าถึงเวลาที่ต้องเสียภาษีแล้ว ก็จะไปขอความร่วมมือจากฝ่ายพัฒนาชุมชนบ้าง ฝ่ายรักษาบ้างให้มาช่วยเขียน เราก็บริหารจัดการคนในเขต
เขตจตุจักรสามารถเก็บขยะอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามที่ผู้ว่าฯชัชชาติสั่งการได้หรือไม่?
ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าที่มีการร้องเรียนในทราฟฟี่ฟองดูว์จะเป็นเรื่องของบางครั้งขยะเก็บไปแล้ว แต่ว่าประชาชนอาจจะไม่ได้เอาออกมา ต่อมาส่วนที่สอง จะเป็นปัญหาขยะในที่ว่าง ส่วนที่สาม จะเป็นการทิ้งขยะนอกเวลาการจัดเก็บ เช่นขยะที่อยู่ริมถนน บางทีเราจะไม่มีถังขยะแล้ว แต่ว่าจะมีจุดพักขยะ ซึ่งในจุดพักขยะเราจะบอกแล้วว่าให้มาทิ้งในเวลาหลัง 18.00 น. บางครั้งก็ได้รับความร่วมมือบ้างไม่ได้บ้าง แต่ว่าทางเขตก็ได้ทำงานเชิงรุก อย่างน้อยก็ต้องมีชุดเร่งด่วนออกไปวิ่งทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย จัดเก็บขยะพวกนี้
ส่วนขยะในที่ว่างก็ใช้วิธีการพัฒนาทำความสะอาด เพราะว่าของเราจะมีแขวงแล้วก็จะมีสายตรวจที่อยู่ตามเส้นต่างๆ อันนี้เราก็จะบอกเขาเลยว่าให้ไปสำรวจที่ว่างในพื้นที่ของคุณ และเข้าไปทำความสะอาด แต่ไม่ได้หมายความว่าไปทำความสะอาดในที่ว่างของเขานะ เพราะที่เอกชนเราเข้าไม่ได้ เราก็ทำได้แต่ในส่วนที่เป็นที่สาธารณะ แล้วส่วนหนึ่งก็ประสานกับเจ้าของที่ อย่างน้อยคุณต้องมาทำพื้นที่ให้สะอาดเรียบร้อย เพราะคุณก็โดนภาษีด้วย ตอนนี้ปัญหาที่ว่างก็ลดลง
การจัดเก็บภาษีปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
เก็บได้ทะลุเป้า ทั้งภาษีที่ดินและภาษีป้าย ทางเขตได้รางวัลเจ้าหน้าที่ดีเด่น แล้วก็การจัดเก็บภาษีได้อันดับสูงสุด อันดับ 3 ภาษีที่ดิน อันดับ 2 เป็นภาษีป้าย ก็มีประชาชนที่ยังไม่มาจ่ายภาษี แต่ว่ามันก็มีมาตรการ ถ้าไม่มาจ่าย ก็มีการทวงถาม มีการเสียค่าปรับ ถ้าเลยระยะเวลาต้องมีค่าปรับ ก็คือจะมีเจ้าหน้าที่ประจำแขวงเป็นคนที่ติดตาม เพราะบางทีก็สำรวจไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์
ประชาชนร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์เรื่องใดมากที่สุด?
เรื่องของโยธา รองลงมาเป็นเทศกิจ รองลงมาอีกก็จะเป็นของฝ่ายรักษาซึ่งไม่ใช่เรื่องขยะอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องต้นไม้ด้วย บางทีต้นไม้ในบ้านยื่นล้ำออกมา เราก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องไปคุยกับเจ้าของบ้าน
อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องต้นไม้ตรงกรมการขนส่งทางบก จตุจักร ช่วงที่เลี้ยวไปในซอยจะมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ แล้วเวลาคนเดินต้องเดินลงถนน พอเราไปติดประกาศก็โดนโจมตีว่าไม่ให้ตัด เพราะต้นโพธิ์อยู่มาเป็น 30-40 ปีแล้ว เราก็ทำประชาพิจารณ์ บางส่วนก็ให้ตัด บางส่วนก็ไม่ให้ตัด ก็เลยจำเป็นต้องชะลอเอาไว้ ค้างอยู่ประมาณเกือบ 20 เรื่อง ที่เราไม่สามารถปิดเคสได้
ส่วนในเรื่องของเทศกิจก็จะเป็นรถมอเตอร์ไซค์จอดบนทางเท้า เรื่องป้ายที่ติดตามซอย ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไปดำเนินการแล้ว ปิดเรื่องอย่างรวดเร็ว
ส่วนของโยธาจะเป็นเรื่องทางเท้า ฝาท่อระบายน้ำ ไฟ เรื่องไฟเราต้องประสานกับทาง กฟน. (การไฟฟ้านครหลวง) ในเรื่องของทางเท้าเรามีงบประมาณซ่อมแซม แต่ไม่สามารถซ่อมได้ทั้งซอย
เรื่องของอาคาร มีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ต้องออก ม.30 ภายใน 30 วัน จากนั้นออก ข.2 ข.3 ข.4 บางทีเขาจะร้องมาว่าให้ไปตรวจสอบว่าอาคารนี้ก่อสร้างได้รับการก่อสร้างถูกต้องไหม เราก็ต้องไปตรวจสอบ แล้วก็อาจจะทำหนังสือถึงเจ้าของบ้านว่าขอเข้าไปตรวจสอบ ทุกอย่างมันจะมีระยะเวลาให้เขา ไม่ใช่ว่าเราเข้าไปเลย ทำไม่ได้ เรื่องก็จะคงค้างอยู่ อย่างเช่น รอผลการรังวัด ซึ่งตอนนี้กำลังจะก่อสร้างคอนโดแล้วมีปัญหาร้องเรียนมา ซึ่งในเขตจตุจักรยังไม่ได้สร้าง เพียงแต่ทำอยู่ระหว่างการขออีไอเอ ข้อกฎหมายการวัดเขต ขอบนี้จนถึงขอบนี้ 6 เมตร เขาสามารถดำเนินการได้ เป็นเรื่องระยะร่นอะไรก็แล้วแต่เขา แต่คนร้องเราก็เข้าใจ มันจะมีเสาไฟอยู่ แต่เขตทางอยู่ตรงนี้ เขาก็บอกว่าเสาไฟมันไม่ควรนับ ควรจะมานับตั้งแต่เสาไฟเป็นเขตทาง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บอกแบบนั้น พอมีปัญหาเราก็ทำเรื่องไปขอรังวัดจากกรมที่ดิน หนึ่ง ผลรังวัดยังไม่ออกก็เลยทำอะไรไม่ได้ อันนี้ต้องรอ สอง ในเรื่องของการอุทธรณ์ อย่างเช่นพอแจ้งความ เขาอุทธรณ์กลับมาว่าไม่จริง เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น เขามีหลักฐาน ก็ต้องรอผลอุทธรณ์ เพราะฉะนั้นเรื่องคงค้างอยู่ 3 ฝ่าย ทำอะไรไม่ได้
สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงพี่น้องประชาชนในเขตจตุจักร?
เพิ่งจะได้มารับตำแหน่ง แต่ก็ปวารณาตัวว่าจะทำงานรับใช้พ่อแม่ พี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเดือดร้อนอะไร จะพยายามแก้ไขให้ดีที่สุดและรวดเร็วที่สุด ตอนนี้การทำงานต้องเป็นเชิงรุกทั้งหมด แล้วก็รับตำแหน่งมาแบกความคาดหวังเอาไว้ทั้งสองบ่า คือเป็นผู้อำนวยการเขตหญิงคนแรกของเขตจตุจักร ประกอบกับไม่เคยมีใครที่ขึ้นจากหัวหน้าฝ่ายมาเป็นผู้ช่วย และ ผู้ช่วยมาเป็นผู้อำนวยการเขต เพราะฉะนั้นมีความคาดหวังของทั้งผู้บริหาร ที่เหมือนกับมองว่าเราสามารถที่จะเข้ามาและเดินหน้าเลย ไม่ต้องมานั่งนับหนึ่งอีก เพราะเราเห็นปัญหามาตั้งแต่แรกแล้ว
เจ้าหน้าที่ในเขตซึ่งบังเอิญโชคดีที่คุ้นเคยกันมานาน แต่ว่าการทำงานมันก็ต้องมีการปรับว่าเราก็จะต้องเข้มขึ้น ไม่ใช่ว่าเป็นแค่ฝ่าย หรือเป็นแค่ผู้ช่วยจะต้องขอความร่วมมือจากทีมให้มาก รวมทั้งส่วนที่สำคัญก็คือส่วนของประชาชน วันก่อนก็ภาคภูมิใจตรงที่มีการประชุมกรรมการชุมชน ก็ได้การต้อนรับอย่างอบอุ่น รู้สึกว่ามันเป็นนิมิตหมายที่ดี
ฝากประชาชนเขตจตุจักรทุกท่าน จะทำให้เป็นเลิศในทุกเรื่อง ทั้งในเรื่องของการให้บริการที่รวดเร็ว รวมทั้งการแก้ไขปัญหาประชาชน ทำอย่างดีที่สุด
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 22 ต.ค. 2566 (กรอบบ่าย)