กทม.เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บมูลฝอยคลองลาดพร้าว ปริมาณขยะลดลงต่อเนื่อง เดินหน้ารณรงค์สร้างจิตสำนึกไม่ทิ้งขยะลงคลอง
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตปัญหาขยะในคูคลอง โดยเฉพาะคลองลาดพร้าวว่า สำนักงานเขตจตุจักร ได้แก้ไขปัญหาขยะในคูคลองในพื้นที่ โดยจ้างอาสาสมัครชักลากมูลฝอยในชุมชน 18 ราย จำนวน 17 ชุมชน ทั้งชักลากมูลฝอยสู่ท่าทิ้งขยะริมคลอง เพื่อจัดเก็บทางเรือทุกวันและชักลากมูลฝอยสู่จุดทิ้งขยะของชุมชน เพื่อจัดเก็บโดยรถเก็บขนมูลฝอยตามรอบเฉลี่ยประมาณ 3 ครั้ง/สัปดาห์ ส่วนขยะชิ้นใหญ่ ขยะอันตราย และสิ่งของเหลือใช้ ได้จัดทำแผนการจัดเก็บทุกวันอาทิตย์หมุนเวียนและกระจายตามพื้นที่ นอกจากนั้น ยังได้จัดทีมลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ พร้อมแจกประกาศห้ามทิ้งขยะลงคูคลองสาธารณะ เพื่อบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตห้วยขวาง ได้จัดเก็บขยะตามบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมคลองลาดพร้าวทุกวัน โดยมีปริมาณมูลฝอยที่จัดเก็บได้เฉลี่ย 860 ลิตร/วัน ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมคลองไม่ทิ้งขยะลงคลอง รวมทั้งคัดแยกขยะก่อนนำทิ้ง เพื่อลดปริมาณมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด กำหนดจุดทิ้งขยะและเวลาเข้าจัดเก็บขยะมูลฝอย ตลอดจนจัดโครงการนัดทิ้งนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ในชุมชนริมคลอง
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีคูคลอง ลำราง และลำกระโดงที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ 1,980 คูคลอง ความยาวรวมทั้งหมด 2,743 กิโลเมตร ซึ่งคูคลอง ลำราง และลำกระโดงดังกล่าว ได้ใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการคมนาคมขนส่ง โดยแบ่งความรับผิดชอบการจัดเก็บขยะมูลฝอยและวัชพืชที่อยู่ในคลอง คูน้ำ ลำกระโดง โดย สนน.ดูแลรับผิดชอบคลองระบายน้ำสายหลัก 233 คลอง ความยาว 1,003 กิโลเมตร และสำนักงานเขต 50 เขต ดูแลรับผิดชอบคูคลองระบายน้ำสายรอง 1,747 คูคลอง ความยาว 1,740 กิโลเมตร
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจากข้อมูลสถิติปริมาณขยะและวัชพืชในคลองลาดพร้าวย้อนหลังช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2563 มีปริมาณขยะและวัชพืช 2,127 ตัน ปี 2564 มีปริมาณขยะและวัชพืช 1,773.80 ตัน และปี 2565 มีปริมาณขยะและวัชพืช 1,022.25 ตัน ซึ่งปริมาณขยะในคูคลองลาดพร้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการก่อสร้างเขื่อน คสล.และการสร้างบ้านมั่นคงให้ประชาชนได้อยู่อาศัย ตามแนวริมคลองทั้งสองฝั่ง อย่างไรก็ตาม กทม.ได้รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลองและให้ชุมชนรับรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมช่วยคัดแยกขยะ สร้างรายได้จากขยะรีไซเคิลให้ชุมชน ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์การนัดทิ้งนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ รวมถึงรณรงค์ร่วมกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้า เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ชุมชนที่อยู่ริมคลองให้นำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น
กทม.จัดบริการเชิงรุก – ขยายเวลาฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นให้ประชาชน
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีแพทย์เตือนโรคโควิด 19 มีแนวโน้มแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น แนะประชาชนฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นตามกำหนดว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ขยายเวลาการฉีดวัคซีนทั้งในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และนอก ศบส.โดยเปิดจุดบริการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ต่อเนื่องในวันเสาร์ – อาทิตย์ ถึงเดือน ม.ค.66 มีบริการฉีดวัคซีนในคลินิกโรคเรื้อรัง หากผู้ป่วยที่มารับยา แล้วยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เชิญชวนผู้ป่วยรับบริการได้ทันทีขณะเดียวกันได้จัดบริการเชิงรุกฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วยและผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านติดเตียงในระบบเครือข่ายศูนย์ส่งต่อเพื่อการพยาบาลต่อเนื่องที่บ้าน (BMA Homeward Referral) ในชุมชนที่ ศบส.ดูแล รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มผู้สูงอายุที่ดูแลโดยผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (care giver) ที่ผ่านการอบรมโดย ศบส. นอกจากนั้น ยังได้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังรับวัคซีนไม่ครบ เพื่อรวมกลุ่มและนัดวันลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้รณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4 – 6 เดือนตามความสมัครใจ โดยสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษา ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ และ Walk in ทั้ง 11 โรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการ DMHT และ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด และควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หากอยู่ในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่ม 608 และกลุ่มเด็กเล็ก ทั้งนี้ หากต้องการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ สามารถติดต่อสอบถามผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ 1646 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง