กทม.เปิด Walk in ฉีดวัคซีนโควิดที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ประชาชนว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.มีแนวทางการเร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงประชาชนทั่วไปในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนแบบ Walk in ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่งในวันพุธและวันศุกร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. และเปิดให้บริการฉีดวัคซีนในวันเสาร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 เขตดุสิต ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 เขตมีนบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 เขตวัฒนา ศูนย์บริการสาธารณสุข 51 เขตพญาไท ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 เขตจอมทอง และศูนย์บริการสาธารณสุข 40 เขตบางแค
ส่วนจุดฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล ได้แก่ ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 กรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์เยาวชน กทม.(ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เขตดินแดง เปิดให้บริการในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ขณะเดียวกันทีมสหวิชาชีพของศูนย์บริการสาธารณสุข ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ขณะนี้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แพทย์จ่ายยาและรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ แต่ สนอ.ได้สำรองยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนไว้อย่างเพียงพอ โดยเปิดให้บริการโครงการเจอ แจก จบ ในวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น. ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง และในวันเสาร์ เวลา 08.00 – 12.00 น. ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 เขตยานนาวา ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 เขตบางนา ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 เขตพระนคร ศูนย์บริการสาธารณสุข 11 เขตพญาไท ศูนย์บริการสาธารณสุข 18 เขตบางคอแหลม ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 เขตจตุจักร ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 เขตบางกอกใหญ่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 เขตดุสิต ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 เขตคลองเตย ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 เขตบางขุนเทียน ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 เขตมีนบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 เขตลาดกระบัง ศูนย์บริการสาธารณสุข 47 เขตภาษีเจริญ ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 เขตหนองแขม ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 เขตดอนเมือง และศูนย์บริการสาธารณสุข 63 เขตสาทร เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
กทม.คัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานเชิงรุก ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนห่างไกลโรคเบาหวาน
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีมีการเสนอข่าวผลสำรวจสุขภาพคนไทย พบคนกรุงเทพฯ ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากกว่าจังหวัดอื่นเกือบเท่าตัวว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.และศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ได้ให้การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่และรายเก่าในคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตามเกณฑ์แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำหนดตามแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560 (Clinical Practice Guideline for Diabetes 2017) โดยจ่ายยารักษา ตรวจติดตามระดับน้ำตาล ตรวจประเมินภาวะแทรกซ้อนและให้ความรู้ในการปฏิบัติตน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ หากผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขึ้นจอประสาทตา อัมพาต อัมพฤกษ์ มีภาวะไตวายตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป จะได้รับการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าตามสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย ขณะเดียวกันได้จัดทีมสหวิชาชีพของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามอาการผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนในชุมชน พร้อมทั้งให้คำแนะนำและส่งต่อ เพื่อรับการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาล โดยในปีงบประมาณ 2564 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับการขึ้นทะเบียนรักษาในศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 19,529 คน ได้รับการดูแลตามเกณฑ์ร้อยละ 57.90 สามารถควบคุมระดับน้ำตาลสะสมได้ร้อยละ 40.12
นอกจากนั้น สนอ.ยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนผ่านการให้บริการคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานของศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ด้วยหลักการ 3 อ. คือ อาหาร เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม อารมณ์ แนะนำวิธีจัดการความเครียดด้วยตนเอง กิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกาย ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกาย เลือกออกกำลังกายให้เหมาะสมและเพียงพอ และ 2 ส. คือ สุรา ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ โทษเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคำแนะนำการลด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ให้ความรู้เรื่องโทษของการสูบบุหรี่ ยาสูบ ให้คำแนะนำการลด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และยาสูบ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้คัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานเชิงรุก เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว และลดความรุนแรงของโรคเบาหวานทางระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยในปี 2564 สามารถคัดกรองผู้ป่วยได้ จำนวน 94,240 ราย ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันเลือดสูง เบาหวาน ทั้งนี้ ยังพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานทั้งเรื่อง ตา ไต และเท้าเพิ่มขึ้นทุกปี จึงต้องพัฒนาเชื่อมโยงการดูแลเบาหวานในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง รวมถึงสร้างการดูแลทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิให้สอดคล้องกัน โดย สนพ.ได้วางเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบบูรณาการ ยกระดับการรักษาสู่มาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันได้ให้บริการดูแลรักษา 2 รูปแบบ คือ ศูนย์เบาหวาน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก โรงพยาบาล (รพ.) ตากสิน และศูนย์เบาหวาน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ และคลินิกเบาหวาน 7 แห่ง ได้แก่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.สิรินธร นอกจากนั้น สนพ.ยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการเข้าข่าย เช่น คอแห้ง กระหายน้ำ ร่างกายอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย ปวดศีรษะ อาการง่วงนอน แผลหายช้า และโรคอ้วน ควรพบแพทย์รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะผิดปกติรุนแรงทางร่างกายที่อาจเกิดตามมา
กทม.แจงแนวถนนใหม่ซอยงามวงศ์วาน 59 ออกแบบตามมาตรฐาน
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีข้อสังเกตถึงโครงการปรับปรุงซอยงามวงศ์วาน 59 ซึ่งแบบแปลนของแนวถนนใหม่ มีลักษณะวกวนไปมา อาจเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบสภาพถนนซอยงามวงศ์วาน 59 พบว่า ถนนซอยดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุภายใต้ความดูแลของกรมธนารักษ์ มีลักษณะเป็นถนนลาดยางและไม่มีท่อระบายน้ำ พื้นผิวถนนชำรุดเสียหาย กรมธนารักษ์จึงอนุญาตให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ก่อสร้างบ้านมั่นคง ซึ่งแนวการก่อสร้างบ้านมั่นคงจะทับกับแนวถนนเดิม ทำให้ประชาชนไม่มีถนนและไม่สามารถออกสู่ถนนใหญ่ได้ จึงต้องสร้างในแนวถนนใหม่ที่ออกแบบตามมาตรฐาน มีความกว้าง 10 เมตร ผิวการจราจรเป็นคอนกรีต เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรของประชาชน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีมีการระบุอาคารของสำนักการระบายน้ำ ก่อสร้างขวางแนวถนนในซอยงามวงศ์วาน 59 ว่า ในซอยงามวงศ์วาน 59 มีอาคารพักหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน 2 อาคาร เป็นอาคาร 5 ชั้น 1 อาคาร และอาคาร 6 ชั้น 1 อาคาร โดยสภาพปัจจุบันอาคารดังกล่าวไม่ได้ขวางแนวถนนซอยงามวงศ์วาน 59 ส่วนการทุบถนนเดิมแล้วรื้อย้ายแนวถนนใหม่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักงานเขตจตุจักร และได้มีการขออนุญาตก่อสร้างในที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ ซึ่งก่อสร้างเมื่อปี 2538 ปัจจุบันใช้งานมาแล้วประมาณ 26 ปี โดยเป็นที่พักของข้าราชการและลูกจ้างหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บขยะและดูแลรักษาคลอง อาคารดังกล่าว จึงไม่ได้ก่อสร้างผิดกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งนี้ คลองเปรมประชากรบริเวณซอยงามวงศ์วาน 59 อยู่ในพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ซึ่ง สนน.ร่วมกับสำนักงานเขตจตุจักรเจรจาสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่รุกล้ำแนวก่อสร้างเขื่อนและได้ก่อสร้างเขื่อนแล้วความยาวประมาณ 440 เมตร คงเหลืออีกประมาณ 330 เมตร เป็นพื้นที่ชุมชนสามัคคีเทวสุนทร ซึ่งมีบ้านรุกล้ำกีดขวางอยู่ในแนวก่อสร้างเขื่อนประมาณ 30 หลัง ทำให้ยังไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนช่วงดังกล่าวได้ ส่วนการรื้อย้ายบ้านรุกล้ำและก่อสร้างบ้านมั่นคงอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์