Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566

กทม.- BTS เดินหน้าติดตั้งประตูกั้นชานชาลาสถานีรถไฟฟ้า BTS ทั้งส่วนสัมปทาน-ส่วนต่อขยาย

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพพร้อมตั้งข้อสังเกตสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีหมอชิต ไม่มีประตูกั้นบริเวณชานชาลา โดยกังวลช่วงเวลาที่ผู้โดยสารหนาแน่นอาจเกิดอุบัติเหตุเบียดกันตกลงไปในรางได้ว่า ประตูกั้นชานชาลาบริเวณสถานีรถไฟฟ้า (Platform Screen Door : PSD) มีลักษณะเป็นประตูรั้วกั้นสูงประมาณ 1.50 เมตร มีชุดมอเตอร์ขับเคลื่อนอยู่ด้านข้างของบานประตูเลื่อน มีการเปิด-ปิดในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา ดังนี้ (1) ส่วนสัมปทาน (สายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช และสายสีลม ตั้งแต่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน) ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาไว้แต่แรก อย่างไรก็ตาม กทม.และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ผู้รับสัมปทานให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเป็นลำดับแรก จึงได้ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาดังกล่าว ซึ่งจะพิจารณาจากสถานีที่มีผู้โดยสารหนาแน่น ปัจจุบันติดตั้งแล้วจำนวน 11 สถานี ได้แก่ สถานีสยาม สถานีพญาไท สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีชิดลม สถานีอโศก สถานีพร้อมพงษ์ สถานีอ่อนนุช สถานีศาลาแดง สถานีช่องนนทรี สถานีทองหล่อ และสถานีสุรศักดิ์ โดยใช้งบประมาณของ BTSC เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาติดตั้งประตูกั้นชานชลาเพิ่มเติมให้ครบทุกสถานีในส่วนสัมปทาน (2) ส่วนต่อขยายที่ 1 (สายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีบางจาก – สถานีแบริ่ง และสายสีลม ตั้งแต่สถานีกรุงธนบุรี – สถานีบางหว้า) จำนวน 11 สถานี ปัจจุบันยังไม่มีการติดตั้ง ซึ่ง สจส.มีแผนการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาให้ครบทั้ง 11 สถานี โดยขอจัดสรรงบประมาณ ปี 2568 เพื่อดำเนินการ และ (3) ส่วนต่อขยายที่ 2 (สายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีห้าแยกลาดพร้าว – สถานีคูคต (เขียวเหนือ) และตั้งแต่สถานีสำโรง – สถานีเคหะสมุทรปราการ (เขียวใต้)) จำนวน 25 สถานี ได้ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาครบทั้งหมดแล้ว

นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยอื่น ๆ บนสถานี อาทิ การตรวจสอบการปฏิบัติงานและการจัดการบนสถานี เพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐาน การจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อสอดส่องดูแลไม่ให้ผู้โดยสารยืนล้ำเส้นสีเหลืองบนชั้นชานชาลา และติดตั้งปุ่มหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน เพื่อป้องกันเหตุคนล้มลงไปในราง ขณะเดียวกันจะได้มีหนังสือแจ้ง BTSC เพื่อขอให้พิจารณาติดตั้งประตูกั้นชานชาลาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนสัมปทานให้ครบทุกสถานี โดยเร่งพิจารณาติดตั้งจากสถานีที่มีประชาชนเดินทางจำนวนมากก่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานรถไฟฟ้าในการสัญจรต่อไป

 

รร.กทม.วางระบบดูแลช่วยเหลือ ติดตามพฤติกรรมนักเรียน – เสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ

นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงแนวทางการติดตามดูแลความประพฤติของเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงเป็นพิเศษว่า โรงเรียนสังกัด กทม.มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ให้ความรู้ ให้คำแนะนำแก่นักเรียนทั้งในกิจกรรมเคารพธงชาติตอนเช้า ชั่วโมงแนะแนว พร้อมทั้งติดต่อประสานกับผู้ปกครอง โดยจัดประชุมผู้ปกครองและติดต่อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ขณะเดียวกันในทุกต้นปีการศึกษา ครูประจำชั้นจะจัดทำข้อมูลประวัตินักเรียน เพื่อเป็นข้อมูลนักเรียนต่อเนื่อง ครูทุกคนสามารถทราบถึงประวัติและพฤติกรรมนักเรียน ในระหว่างภาคเรียนผู้บริหารโรงเรียนและครูจะออกเยี่ยมบ้านนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีปัญหา มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขาดเรียนมาก ก้าวร้าว และจะแก้ปัญหาโดยจัดกิจกรรมที่นักเรียนสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสแสดงออกและให้ความเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน กทม.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ การใช้ประโยชน์สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่างเหมาะสม สร้างสรรค์ และปลอดภัย และมีวิจารณญาณอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนสามารถประยุกต์ใช้ในหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณ รวมกิจกรรมนอกเวลาได้อย่างเหมาะสม ดังนี้ (1) เรื่องการจัดการควบคุมอารมณ์ตนเอง โดย กทม.ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซี่ส์ จำกัด พัฒนาแอปพลิเคชัน “BuddyThai” เพื่อประเมินอารมณ์ตนเอง มีช่องทางให้คำปรึกษากับกรมสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.นำไปใช้ (2) การให้ความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและการใช้อย่างมีวิจารณญาณ โดยจัดกิจกรรม BMA x Teur Safe Internet (School Tour) ให้ความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตปลอดภัยภายในโรงเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5-6 และจัดกิจกรรมโต้วาที “ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาและจะนำหลักสูตรรู้เท่าทันออนไลน์ให้โรงเรียนนำไปใช้ (TRUE&DTAC) รวมทั้งแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ “อุ่นใจไซเบอร์”(ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรมสุขภาพจิตและ AIS) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ในลักษณะเกมออนไลน์ be internet awesome (Google) และคลิปการเรียนรู้การรู้เท่าทันสื่อ (ตำรวจไชเบอร์)

 

เขตสาทรกำหนดแนวทางแก้ปัญหาน้ำไหลเข้าบ้านเรือนจากการปรับปรุงถนนในซอยจันทน์

นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร กทม.กล่าวกรณีประชาชนขอให้ทบทวนโครงการปรับปรุงถนนในซอยจันทน์ 45 และซอย 28, 32, 34, 43 เนื่องจากเมื่อยกพื้นถนนให้สูงขึ้น เวลาฝนตกน้ำจะไหลเข้าบ้านเรือนประชาชน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนว่า สำนักงานเขตสาทร ให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งจากนอกพื้นที่และในพื้นที่ จึงพยายามพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนบางส่วนในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยได้ตรวจสอบและพิจารณาแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ดังนี้ (1) โครงการปรับปรุงซอยจันทน์ 45 มีเนื้องานการวางท่อระบายน้ำเพิ่ม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเสริมผิวยางแอสฟัลต์ 5 เซนติเมตร (ซม.) โดยใช้พื้นฐานเดิม เพื่อปรับปรุงถนนที่แตกร้าวให้ราบเรียบ และแก้ไขปัญหาการตกแอ่งของถนนไปในคราวเดียวกัน (2) โครงการปรับปรุงซอยจันทน์ 28 มีเนื้องานซ่อมขอบบ่อ-ฝาบ่อที่เก่าชำรุด ส่วนผิวทางเก่าแตก ได้เสริมผิวยางแอสฟัลต์ 5 ซม. โดยใช้พื้นฐานเดิม เพื่อปรับปรุงถนนที่แตกร้าวให้ราบเรียบ และแก้ไขปัญหาการตกแอ่งของถนนไปในคราวเดียวกัน (3) โครงการปรับปรุงซอยจันทน์ 32 ไม่มีการขอหารืองบประมาณปรับปรุง พบแต่ข้อมูลโครงการปรับปรุงซอยจันทน์ 32 แยก 4 ซึ่งเป็นซอยย่อย มีเนื้องานซ่อมขอบบ่อ-ฝาบ่อ ที่เก่าชำรุด ส่วนผิวทางเก่าแตก ได้เสริมผิวยางแอสฟัลต์ 5 ซม. โดยใช้พื้นฐานเดิม เพื่อปรับปรุงถนนที่แตกร้าวให้ราบเรียบ และแก้ไขปัญหาการตกแอ่งของถนนไปในคราวเดียวกัน (4) โครงการปรับปรุงซอยจันทน์ 34 มีเนื้องานซ่อมขอบบ่อ-ฝาบ่อที่เก่าชำรุด ส่วนผิวทางใช้ผิวทางเดิม ซึ่งเป็น ค.ส.ล.ไม่มีการยกระดับ และ (5) โครงการปรับปรุงซอยจันทน์ 43 เป็นหนึ่งในจุดอ่อนน้ำท่วมพื้นที่เขตสาทรที่สำรวจพบว่า ถนนทรุดตัวและเป็นแอ่งหลายจุด จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขยายขนาดท่อระบายน้ำจาก 0.60 เมตร เป็น 0.80 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำระบายในท่อและจำเป็นต้องปรับยกถนนที่ตกแอ่ง (ค่าเฉลี่ยตกแอ่งประมาณ 0.20 เมตร) ของถนนไปในคราวเดียวกัน ส่วนกรณีประชาชนกังวลปัญหาน้ำฝนไหลเข้าบ้านจะได้กำหนดในสัญญาให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยผู้รับจ้างต้องกั้นขอบ หรือยกเนินเล็กน้อยที่เพียงพอไม่ให้น้ำไหลเข้าบ้านเรือนประชาชน

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200