กทม.เฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงโรคฝีดาษลิงในกรุงเทพฯ แนะวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการติดตามแนวโน้มสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า จากการตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 ก.ค.65 – 6 ต.ค.66 พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง 308 คน โดย สนอ.ได้ติดตามแนวโน้มสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการสนับสนุนส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับอาการ วิธีการแพร่เชื้อ วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิง รวมถึงข้อควรปฏิบัติเมื่อพบอาการเข้าข่ายโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว หรือย่านพักอาศัยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในกรุงเทพฯ โดยลงพื้นที่ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ดังนี้ หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษลิง หรือผู้ป่วยฝีดาษลิง ให้สังเกตตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย
ทั้งนี้ กทม.มีระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงทั้งเชิงรับ โดยตรวจจับการระบาดจากระบบรายงานโรคและลงสอบสวนโรคทุกเคส และการป้องกันเชิงรุกโดยร่วมมือกับสำนักงานเขตและองค์กรภาคประชาสังคม NGO ให้ความรู้สถานบริการ ซาวน่า และสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มชายรักชาย ตลอดจนเพิ่มความเข้มงวดป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้บริการในคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิงควบคู่กับการดูแลสุขภาพอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิง โดยงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ เนื่องจากสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสแบบแนบชิดเนื้อ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และ ผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อ HIV หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย เฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันได้มอบหมาย รพ.สิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูล ควบคุม ดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหารและ สธ.ทราบทันที พร้อมเน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว แล้วแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
เขตราษฎร์บูรณะเร่งทำหมัน – ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าสุนัขจรจัดในซอยตลาดบางปะกอก
นายดลจิตร์ เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ กทม.กล่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนพบสุนัขและแมวจรจัดจำนวนมากในซอยตลาดบางปะกอกว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด โดยการลดจำนวนประชากรสุนัขจรจัดด้วยการทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และนำกลับคืนพื้นที่เดิม โดยขอความร่วมมือจากชุมชนให้อาศัยอยู่ร่วมกันได้ ส่งผลให้ประชากรสุนัขจรจัดลดลง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบริเวณซอยตลาดบางประกอก พบสุนัขจรจัด จำนวน 70 ตัว สำนักงานเขตฯ จึงได้ร่วมกับสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย และมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ทำหมันและฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัขจรจัด รอบแรกเมื่อวันที่ 1 ส.ค.66 จำนวน 31 ตัว และเมื่อวันที่ 21 – 22 ส.ค.66 สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิ Soi Dog ลงพื้นที่ทำหมันและฉีดวัคซีนฯ เพิ่มอีกจำนวน 29 ตัว รวมเป็น 60 ตัว แต่เนื่องจากบริเวณที่สุนัขจรจัดเหล่านี้อาศัยอยู่ มีลักษณะเป็นพื้นที่เปิด ทำให้ยากต่อการจับ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทำหมันสุนัขจรจัดที่เหลือให้ครบทั้งหมดต่อไป