Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2566

กทม. – สน.ประเวศตรวจสอบแก้ไขสัญญาณไฟจราจรแยกศรีนุชให้ใช้งานได้ตามปกติ

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนบริเวณแยกศรีนุชมีปัญหาการจราจรติดขัดว่า สจส.ได้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ประเวศ ลงพื้นที่ปรับปรุงแก้ไขสัญญาณไฟจราจรบริเวณดังกล่าวให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรและสามารถใช้งานได้ตามปกติ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ทั้งนี้ หากประชาชนพบสัญญาณไฟจราจรชำรุดสามารถแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue มายัง สจส.ได้ทันที เพื่อจะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

 

 

กทม.เข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัย-ป้องกันเหตุอันตรายในสถานศึกษา-ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยและป้องกันเหตุอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในโรงเรียนสังกัด กทม.ว่า กทม.ได้กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยโรงเรียนในสังกัดและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โดยผู้อำนวยการสถานศึกษาและคณะกรรมการชุมชน เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โดยห้ามมิให้บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงผู้มาติดต่อกิจธุระมี หรือครอบครองสารเสพติดทุกประเภทที่กฎหมายระบมิให้ทำร้าย หรือรังแก จัดพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดอาวุธ รวมถึงการจัดการจราจรโดยรอบสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ขณะเดียวกันได้จัดให้มีกล้องวงจรปิด (CCTV) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเครื่องมือการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้รัดกุม เหมาะสม สำหรับการรักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคล ได้จัดให้มีกล้อง CCTV เพียงพอครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งบริเวณรอบโรงเรียน พื้นที่การใช้งานในโรงเรียน จุดอับต่าง ๆ และตรวจสอบการใช้งานให้เป็นปกติสม่ำเสมอ รวมถึงจะเพิ่มจุดในห้องเรียนด้วย โดยจะเพิ่มระบบวิเคราะห์ภาพพิสูจน์บุคคลยืนยันตัวตนของผู้ปกครองที่จะเข้ามาในบริเวณโรงเรียนทุกจุดทางเข้า-ออกต่อไป

สำหรับบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาในพื้นที่สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ต้องได้รับการตรวจ สอบถาม รวมถึงการแสดงตนอย่างเคร่งครัดทุกราย ส่วนสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จะต้องปิดประตูในระหว่างเวลาเรียนตลอดเวลา และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องสอบถามบุคคล ตลอดจนยานพาหนะที่จะผ่านเข้าบริเวณสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมทั้งติดตั้งระบบเตือนภัยในจุดที่เหมาะสมในสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อแจ้งเตือนเป็นส่วนรวมเมื่อเกิดเหตุการณ์บุกรุกในลักษณะเดียวกับการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ นอกจากนั้น ได้จัดให้มี “ประตูทางออกฉุกเฉิน” ของสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นจากช่องทางปกติ รวมถึงจัดซักซ้อม อบรม ชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ทุกคนในสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทุกภาคเรียน หรืออย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง โดยเฉพาะ “เส้นทาง” การออกจากพื้นที่เกิดเหตุและจัดทำลูกศรชี้ทิศทางการอพยพเคลื่อนย้ายเด็กนักเรียน

นอกจากนี้ สนศ.ได้จัดโครงการเปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ (Open Education) ตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ เพื่อให้นักเรียนมีพื้นที่ทำกิจกรรมทั้งในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน (After School) และในช่วงวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) (Saturday School) ด้วยการใช้พื้นที่ของโรงเรียนจัดกิจกรรมตามความสนใจของนักเรียน เช่น กีฬา นันทนาการ ทำอาหาร เสริมทักษะความรู้ กิจกรรมสอนเอาตัวรอด เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้เรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก มีทัศนคติแบบเติบโต หรือ Growth Mindset รวมถึงการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนภายในบริเวณโรงเรียน มีบุคลากรดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาของกิจกรรม

อย่างไรก็ตาม จากเหตุดังกล่าว กทม.มีความห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนสังกัด กทม. ตลอดจนผู้ปกครอง และเพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นในสถานศึกษา กทม.ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยให้โรงเรียนสังกัด กทม.ถือปฏิบัติและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายการศึกษา หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนอาสาสมัครกวดขัน ย้ำเตือน กำกับดูแลมาตรการรักษาความปลอดภัย ตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด ขณะเดียวกันบุคลากรในสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของสถานีตำรวจที่รับผิดชอบในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถติดต่อสื่อสารได้ทันทีกรณีเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น รวมทั้งประสานชุมชนบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมถึงฝ่ายเทศกิจ สถานีตำรวจ และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยแจกเอกสาร พบปะสนทนา เพื่อสร้างแนวร่วมการแจ้งเตือนทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเหตุฉุกเฉิน

 

 

เขตตลิ่งชันออกคำสั่งห้ามใช้อาคารทรุดตัวในซอยบรมราชชนนี 33 เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย

นางชดาวรรณ ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสาเหตุบ้านประชาชนในซอยบรมราชชนนี 33 (ซอยวัดไก่เตี้ย) ถนนบรมราชชนนี เกิดเหตุทรุดตัวว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับประธานชุมชมและเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ตลิ่งชัน ตรวจสอบรายละเอียดสถานที่เกิดเหตุในเบื้องต้น พบว่า เป็นอาคาร ค.ส.ล. 2 ชั้น (ดาดฟ้า) ขนาด 8.00 x 6.00 เมตร สูงประมาณ 7.00 เมตร มีลักษณะเอียง โดยสาเหตุมาจากฐานรากของอาคารทรุดตัว จึงได้ออกคำสั่งให้บรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือห้ามใช้อาคารกรณีฉุกเฉิน ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบกับข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (แบบ ค.11) โดยปิดคำสั่งดังกล่าวในบริเวณอาคารที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนายช่างตรวจสอบอาคารความมั่นคงแข็งแรงของอาคารดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่า มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย จำนวน 5 คน ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลวชิรพยาบาล จำนวน 2 คน เป็นหญิงตั้งครรภ์กับชายอีก 1 คน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.เพื่อให้คำแนะนำผู้ประสบภัย 2 ครัวเรือน รวม 7 คน ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร พร้อมใบแจ้งความ เพื่อออกหนังสือรับรองต่อไป

 

 

เขตประเวศเร่งปรับระดับถนนซอยอ่อนนุช 74/1 เตรียมของบฯ ปรับปรุงเป็นถนน ค.ส.ล.

นายดิชา  คงศรี ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม.กล่าวกรณีมีประชาชนร้องเรียนถนนในซอยอ่อนนุช 74/1 มีสภาพชำรุดว่า สำนักงานเขตประเวศ ได้ตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเป็นทางเชื่อมได้ทั้งถนนอ่อนนุชและถนนพัฒนาการตัดใหม่ ความยาวรวม 776 เมตร โดยช่วงแรกจากถนนอ่อนนุช ความยาวประมาณ 234 เมตร ได้ปรับปรุงวางท่อระบายน้ำและถนน ค.ส.ล.แล้ว เนื่องจากมีบ้านพักอาศัยของประชาชนจำนวนมาก ส่วนช่วงที่เหลือยังไม่ได้รับการปรับปรุง เพราะเดิมมีบ้านเรือนจำนวนน้อย โดยปัจจุบันมีบ้านเรือนอยู่ประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน ซึ่งขณะนี้ได้บรรจุอยู่ในแผนการขอจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ.2568

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้จัดหน่วยบริการเร่งด่วน (BEST) ลงพื้นที่เร่งปรับระดับถนนและเสริมหินคลุกบริเวณถนนส่วนที่ชำรุดเป็นหลุมและบ่อน้ำขัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้แก่ประชาชน ส่วนกรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวที่อยู่ในระบบ Traffy Fondue สำนักงานเขตฯ ได้ขอย้ายสถานะเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปอยู่ในกล่องของบประมาณ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200