( 5 ต.ค.66) เวลา 14.00 น. : รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2566 โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ผู้แทน NECTEC และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.2 (ดินแดง)
ที่ประชุมหารือการขับเคลื่อนและยกระดับภารกิจป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอแนวทางการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการอาหารเช้าและอาหารกลางวัน โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยชมรม STRONG ดังนี้
1. ขั้นตอนและการตรวจคุณภาพของอาหาร มีแนวทาง ดังนี้ 1.1 การถ่ายรูปลงระบบส่งถึงผู้อำนวยการเขตในทุกวัน และลงในไลน์กลุ่มชมรม STRONG 1.2 ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครสุ่มตรวจโรงเรียน โดยมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และคณะทำงานชมรม STRONG ร่วมสังเกตการณ์ (ไม่เกิน 2 คน) 1.3 คณะทำงานชมรม STRONG ที่ร่วมลงพื้นที่กับทีมผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครมี Checklist ที่ชัดเจน เพื่อให้มีมาตรฐานในการตรวจเยี่ยม ตามแนวทางของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งมีการประเมินการทำงานในพื้นที่นำร่อง ทั้งนี้ ให้มีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และผู้แทนชมรมฯ ร่วมสังเกตการณ์ด้วยตามโอกาสและความเหมาะสม
2.โรงเรียนในสังกัดใช้ระบบ Thai School Lunch ในการจัดรายการอาหารให้มีคุณภาพและถูกต้องตามหลักโภชนาการ
3.สนับสนุนแนวทางที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการนำร่อง 10 โรงเรียน โดยให้โรงเรียนถ่ายรูปอาหารส่งลงระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ร่วมกับ NECTEC ถึงผู้อำนวยการเขต รวมถึงผู้ปกครอง หรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้าดูได้ตลอด และขยายให้ครบทั้ง 437 โรงเรียน
4.ส่งเสริมนโยบายเปิดผยสัญญาที่กรุงเทพมหานครทำร่วมกับเอกชน ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร
จะมีการเปิดเผยลงระบบเพื่อความโปร่งใส โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการด้านระบบ
5.สำนักงาน ป.ป.ช. ขับเคลื่อนผ่านกลไกกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 โดยทางสำนักงาน ป.ป.ช. จะนำผลสรุปที่ได้รับจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมาเสนอเป็นมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะ โดยอาจเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อเสนอแนะ เช่น ในกระบวนการจัดหาร้านค้า เพื่อให้กระบวนการมีความถูกต้องและโปร่งใส
สำหรับประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมแจ้งว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครโดยสำนักการศึกษาได้ร่วมกับ NECTEC ในการจัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่โรงเรียนสามารถถ่ายรูปอาหารและอัปโหลดลงระบบดังกล่าวถึงผู้อำนวยการเขต รวมถึงผู้ปกครองหรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้าดูได้ โดยจะมีโรงเรียนดำเนินการนำร่องจำนวน 10 โรงเรียน และขยายให้ครบทั้ง 437 โรงเรียน โดยจะเริ่มทดสอบระบบประมาณเดือนตุลาคม 2566 และจะมีการประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนผ่านระบบ Z00M ในช่วงเดือนตุลาคม สำนักการศึกษาจะเชิญสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมมติเห็นชอบในหลักการของข้อเสนอการขับเคลื่อนและยกระดับภารกิจป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร และในประเด็นข้อสังเกตมอบหมายสำนักการศึกษาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้สะดวกและถูกต้องตามระเบียบต่อไป
นอกจากนี้ได้หารือการยกระดับภารกิจป้องกันการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามตัวชี้วัด 1.2 ประชาชนมีวัฒนธรรมค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอแนวทางการเพิ่มสมาชิกเครือข่าย STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจากทุกชุมชน จำนวน 2,014 ชุมชน เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังการทุจริต อย่างน้อยชุมชนละ 1 คน ให้ความรู้/ข้อมูล ผ่านวิทยากร/สื่อประเภทต่าง ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ขยายผลการนำโมเดล STRONG การคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริต พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม ไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน และการดำรงตน และกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อร่วมกันเป็นเครือข่ายจับตามองและแจ้งเบาะแส (Watch &Voice) ผ่านช่องทางของสำนักงาน ป.ป.ช. ระดมความคิด/แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันของเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สู่การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้ทุจริต (CPI)การขยายผล/ต่อยอด เพื่อพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายภาคประชาชน สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภารกิจสำคัญเพิ่มเติม คือ ดำเนินการสนับสนุนภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (กองทุน ป.ป.ช.) ผ่านชมรม STRONG ระดับโซน และระดับเขต เป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอำนาจรัฐ และรณรงค์ป้องกันการทุจริต
สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 จะมีเอกสารโครงการที่ชัดเจน และขอเชิญสำนักพัฒนาสังคมร่วมประชุมและประสานความร่วมมือสำหรับดำเนินกิจกรรมเพื่อเพิ่มสมาชิกเครือข่าย STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต จาก 2,014 ชุมชน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบ และจะดำเนินการประสานสำนักพัฒนาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับสถิติการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร ประจำเดือนกันยายน 2566 จำนวนทั้งสิ้น 43 เรื่อง แจ้งผ่าน Traffy Fondue จำนวน 26 เรื่อง แจ้งผ่านช่องทาง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ จำนวน 17 เรื่อง จำแนกตามสายงาน โยธา 5 เรื่อง เทศกิจ 21 เรื่อง รายได้ 3 เรื่อง สิ่งแวดล้อม 1 เรื่อง รักษาความสะอาด 6 เรื่อง พัฒนาสังคม 1 เรื่อง การศึกษา 2 เรื่อง หัวหน้าหน่วยงาน 1 เรื่อง ไม่ทราบสายงาน 3 เรื่อง รวมจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย.66 รวม 249 เรื่อง
——