กทม.เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ ตรวจสอบต้นไม้ใหญ่-ป้ายโฆษณารองรับสถานการณ์ฝนถึง 29 ก.ย.นี้
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงวันที่ 29 ก.ย.66 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมเฝ้าระวังติดตามการพยากรณ์ การแจ้งเตือนลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงใช้เรดาร์ตรวจอากาศของ กทม.ติดตามกลุ่มฝน พร้อมแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ขณะเดียวกันได้เร่งลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (หน่วย BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตก พร้อมเร่งระบายน้ำตามจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง และบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงช่องรับน้ำฝน ขยะหน้าตะแกรงหน้าสถานีสูบน้ำ จัดเก็บขยะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อให้ไหลได้สะดวกรวดเร็ว จัดเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเครื่องสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำและบ่อสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และยังไม่แล้วเสร็จ โดยให้เร่งการแก้ไขปัญหา หรือเปิดทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม.เช่น โครงการก่อสร้างคูระบายน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิตของกรมทางหลวง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ
นอกจากนั้น ยังได้ประชุมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุกรณีฝนตกหนักมีน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมจัดตั้งจุดรวมพล เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในจุดเสี่ยงน้ำท่วม ซี่งแต่ละจุดจะมีเจ้าหน้าที่ประสานการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เร็ว รถยก รถซ่อมบำรุงหากมีรถยนต์ดับ หรือขัดข้องจากกรณีมีน้ำท่วมขังระดับสูง รถยกสูงไว้คอยช่วยเหลือรับส่งประชาชนในการเดินทาง ส่วนพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ ได้ประชุมหารือร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลที่อาจจะได้รับผลกระทบให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งเปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ ตลอดจนช่องทางแจ้งเหตุ เพื่อขอรับความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook : @BKK.BEST, X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม.โทร.02 248 5115 หรือแจ้งปัญหาทางระบบ Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวว่า สปภ.ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิง รวมทั้งยานพาหนะ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดหาบหาม และเครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก (ไดโว่) พร้อมให้การสนับสนุนและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ กองโรงงานช่างกล และสำนักงานเขต เพื่อลงพื้นที่อำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางเมื่อเกิดฝนตกหนัก โดยเฉพาะในเส้นทาง หรือพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้อย่างทันท่วงที กรณีมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ของสำนักงานเขตและเป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ขอให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามมาตรา 37 ประกอบกับมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 สำรวจความเสียหายต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายและออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อขอรับการสงเคราะห์ตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมขังสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติเมื่อมีสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงที่มี ฝนตก ฟ้าคะนอง และมีพายุ ทั้งก่อนฝนตก ขณะฝนตก และหลังฝนตก โดยก่อนฝนตกได้จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมยานพาหนะออกตรวจสอบบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า-สาธารณูปโภคฯ รวมทั้งได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของสิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ หากพบความไม่มั่นคงแข็งแรงให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขทันที นอกจากนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ได้ประสานจัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 เขต พร้อมยานพาหนะออกปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ พร้อมอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วมขัง โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดยานพาหนะเข้าช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความสะดวกปลอดภัยทันที
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า สสล.ได้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ขนาดใหญ่บนถนนสายต่าง ๆ เพิ่มเติมทั้งบริเวณทางเท้าและเกาะกลาง ทางที่มีประชาชนสัญจรผ่าน และต้นไม้ที่ปลูกในที่สาธารณะใกล้บ้านเรือนประชาชนและย่านชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบ หากพบลำต้นเอียงให้พิจารณาตัดแต่ง ลดน้ำหนักทรงพุ่มและค้ำยัน เพื่อลดความเสี่ยง กรณีพบต้นไม้กิ่งฉีกหัก กิ่งแห้ง กิ่งผุ หรือทรงพุ่ม ใบหนาทึบต้านลมให้ตัดแต่งตามหลักรุกขกรรม สางโปร่งให้ลมพัดผ่านได้ พุ่มใบไม่หนาทึบต้านลม เพื่อป้องกันต้นไม้ใหญ่หักโค่นล้มจากพายุฝนและลมกระโชกแรง ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมความพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเร่งด่วน 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเครื่องมือ ยานพาหนะ และอุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนตัดแต่งและเคลื่อนย้ายต้นไม้ที่อาจโค่นล้ม หรือกิ่งไม้หักกีดขวางการจราจร หรือทำความเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชน แก้ไขสถานการณ์จากเหตุต้นไม้ในที่สาธารณะฉีกหัก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนและเปิดทางสัญจรได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงประสานความร่วมมือปฏิบัติการเร่งด่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เจ้าหน้าที่ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และการไฟฟ้านครหลวง เพื่อแก้ไขเหตุที่เกิดจากพายุฝนตกลมแรงได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นต้นไม้ในที่สาธารณะที่อาจเสี่ยงต่อการหักโค่นจากพายุลมกระโชกแรง สามารถแจ้งข้อมูลและพิกัดต้นไม้ผ่านสายด่วน กทม.1555 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ โดยหากประชาชนประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้าน สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ที่บ้านเรือนตั้งอยู่ ซึ่งมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่ กทม.กำหนดไว้
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า สนย.ได้ประสานเจ้าของอาคารตรวจสอบป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2558 ได้กำหนดให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองป้ายตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทน ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง หากเป็นป้ายที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 ขณะเดียวกันได้เตรียมป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายโฆษณาล้ม โดยแจ้งเจ้าของป้ายตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับการใช้ปั้นจั่นหอสูง หรือเครนก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ผู้ดำเนินการต้องตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่นหอสูงและเดอริคเครนที่ใช้สอยเป็นประจำ ตามคู่มือผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด โดยบันทึกผลการตรวจสอบและลงลายมือชื่อไว้ทุกเดือน เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
กทม.เข้มงวดตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหารในร้าน-แผงลอยจำหน่ายอาหารรอบโรงเรียนในสังกัด
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบร้านค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณรอบโรงเรียน ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนภัยพบขนมบรรจุในขวดมีหัวเป็นลูกกลิ้ง (โรลออน) วางจำหน่ายใกล้โรงเรียนว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้จัดทำแนวทางการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากอาหารไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกันได้ประสานขอความร่วมมือสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหาร พร้อมตรวจสอบให้คำแนะนำ และขอความร่วมมือให้งดการจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหารในเครื่องหมายของ อย.และไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจมีส่วนผสมที่ไม่ปลอดภัย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการอาหารทราบข้อกฎหมายในการนำผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร และแสดงฉลากอาหารไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดมาจำหน่าย ผ่านช่องทางออนไลน์ของหน่วยงาน เช่น เว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก เป็นต้น โดย สนอ.ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น คำแนะนำและอินโฟกราฟิกเรื่อง วิธีการเลือกซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารและบนฉลากต้องแสดง ดังนี้ (1) เลือกซื้ออาหารที่มีสีธรรมชาติ ไม่มีสีสันฉูดฉาดจนเกินไป (2) อ่านฉลากทุกครั้ง (3) มีฉลากผลิตภัณฑ์ถูกต้อง เครื่องหมาย อย.และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และวันหมดอายุ (4) มีบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ไม่ฉีกขาดชำรุด และวัตถุเจือปนได้มาตรฐาน (5) มีวิธีการจัดเก็บอาหารที่ถูกต้อง เช่น หากเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปควรเก็บไว้ในความเย็นตลอดการจำหน่ายที่อุณหภูมิต่ำ 0-4 องศาเซลเซียส และบนฉลากต้องแสดงส่วนประกอบที่สำคัญ ชื่ออาหาร เลข อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร วัตถุเจือปนในอาหาร ปริมาณสุทธิของอาหาร และวันหมดอายุ ทั้งนี้ ฉลากของอาหารทุกประเภทที่ขายในประเทศไทย ต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย
นอกจากนั้น สนอ.ได้ร่วมกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล 50 สำนักงานเขต ตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหารในร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารบริเวณโดยรอบโรงเรียน ประจำปีงบประมาณ 2566 ระหว่างวันที่ 16 – 27 ม.ค.66 และระหว่างวันที่ 22 พ.ค.-2 มิ.ย.66 เพื่อตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหารที่จำหน่ายให้มีความสะอาดปลอดภัยกับนักเรียน กรณีพบข้อบกพร่องได้ให้คำแนะนำ และสำนักงานเขตได้ตรวจติดตาม ควบคุม กำกับให้ร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดทำแผนการตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหารในร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารบริเวณโดยรอบโรงเรียน ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อควบคุม กำกับ ดูแล ให้ร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารบริเวณโดยรอบโรงเรียนจำหน่ายอาหารที่สะอาดปลอดภัยกับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดแผนการตรวจประเมิน จำนวน 4 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 – 21 พ.ย.66 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 – 21 ก.พ.67 ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16 – 31 พ.ค.67 และครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 – 21 ส.ค.67
กทม.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการภายหลังศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือสะพาน ค.ส.ล.ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชันว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้พิจารณาคำพิพากษาดังกล่าวพบว่า มีประเด็นการพิจารณาข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนคือ ประเด็นกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานแห่งชาติ แม้คลองมหาสวัสดิ์จะมีลักษณะเป็นโบราณสถานตามบทนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แต่ในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 กำหนดเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถาน ให้อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขึ้นทะเบียนโบราณสถานใด ๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้ และมาตรา 7 ทวิ กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคารภายในเขตของโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ดังนั้น การขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองควบคุมดูแลรักษาโบราณสถาน ทั้งนี้ คลองมหาสวัสดิ์ มิได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามมาตรา 7 ซึ่งประชาชนและหน่วยงานราชการโดยทั่วไปมิอาจรู้ได้ว่าสถานที่แห่งใดบ้างที่เป็นโบราณสถานที่ถูกห้ามมิให้ก่อสร้างอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร
ส่วนอีกประเด็นคือ กฎหมายว่าด้วยทางหลวง เนื่องจากมาตรา 6 พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 กำหนดให้ทางหลวงมี 5 ประเภท คือ (1) ทางหลวงพิเศษ (2) ทางหลวงแผ่นดิน (3) ทางหลวงชนบท (4) ทางหลวงท้องถิ่น และ (5) ทางหลวงสัมปทาน โดยมาตรา 10 กำหนดทางหลวงท้องถิ่นคือ ทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงท้องถิ่น ทั้งนี้ สะพาน ค.ส.ล.ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เป็นการก่อสร้างสะพานโดยเอกชน ภายใต้การขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงยกให้เป็นสาธารณะ โดยยังมิได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวง จึงไม่ใช่ทางหลวงตาม พ.ร.บ.ทางหลวงฯ สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.919-920/2560 ที่ได้วางแนวทางการพิจารณาว่า ถนนใดจะเป็นทางหลวงหรือไม่ นอกจากจะมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในบทนิยามคำศัพท์ มาตรา 4 แล้ว ยังต้องมีการลงทะเบียนทางหลวงประเภทต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย และเมื่อสะพานดังกล่าวไม่ใช่ทางหลวง จึงมิได้อยู่ในข้อกำหนดที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EIA)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังเป็นปัญหาการตีความที่ยังไม่ได้ข้อยุติ โดย สนย.จะได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป
เขตหนองจอกเร่งซ่อมผิวจราจรถนนสังฆสันติสุข 36 เตรียมปรับปรุงเป็นถนนแอสฟัลต์
นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและพิจารณาแนวทางแก้ไขถนนสังฆสันติสุข 36 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก เป็นหลุมบ่อและมีน้ำขังเมื่อเกิดฝนตก ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนว่า สำนักงานเขตหนองจอก ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าซอยสังฆสันติสุข 36 เป็นซอยสาธารณะ มีลักษณะผิวจราจรเป็นหินคลุก เมื่อเกิดฝนตก ถนนจะมีสภาพเป็นหลุมบ่อและมีน้ำขัง อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ในเบื้องต้นสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาซ่อมแซมผิวจราจรด้วยการลงหินคลุกบดอัดแน่นให้ประชาชนสัญจรได้ตามปกติเรียบร้อยแล้ว ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว สำนักงานเขตฯ จะเร่งตรวจสอบและประมาณการ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณดำเนินการปรับปรุงเป็นถนนแอสฟัลต์ หรือถนน ค.ส.ล.ต่อไป