กทม.ตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้าง MRT สายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ พร้อมแก้ไขไฟฟ้าชุมชนโชติวัฒน์-ริมทางรถไฟบางซ่อน
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาประชาชนไม่ได้รับความสะดวกจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และถนนในชุมชนโชติวัฒน์ และริมทางรถไฟบางซ่อน เขตบางซื่อ ไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอว่า ที่ผ่านมา สนย.ได้ประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาโดยตลอด ในเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ อาทิ ปัญหาการจราจรติดขัด น้ำท่วมขัง ถนนเป็นหลุมบ่อ ไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอ ป้ายเครื่องหมายจราจร และปัญหาอื่น ๆ ตามที่รับแจ้ง โดย สนย.ได้ประสานแจ้ง รฟม.ดำเนินการแก้ไขทันที ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างเป็นประจำและรายงานความเรียบร้อยต่อผู้บริหาร กทม.ทุกเดือน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่สัญจรไป-มา ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนสามารถแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป
สำหรับปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอในชุมชนโชติวัฒน์และบริเวณริมทางรถไฟบางซ่อน อยู่ระหว่างตรวจสอบและแก้ไข ส่วนบริเวณรถไฟฟ้า MRT สถานีวงศ์สว่าง ได้ตรวจสอบพบกระแสไฟฟ้าหายไป 1 เฟส ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไข คาดว่าทั้งสองกรณีจะแล้วเสร็จภายใน 15 วัน
กทม.ตรวจสอบความกว้างเขตทางถนนสาธารณะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในซอยประดิพัทธ์ 23
นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง ผู้อำนวยการเขตพญาไท กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ขอให้ กทม.ทบทวนและยุติการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ภายในซอยประดิพัทธ์ 23 เขตพญาไท ว่า สำนักงานเขตพญาไทในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ลงพื้นที่ตรวจสอบถนนซอยประดิพัทธ์ 23 เพื่อตรวจวัดความกว้างของถนนและเขตทางสาธารณประโยชน์ ตลอดแนวเขตทางจนถึงหน้าแปลงที่ดินตามนิยามทางสาธารณะและเขตทาง ตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 โดยคำนึงถึงสิ่งกีดขวางจะไม่เป็นไปตามนิยามทางสาธารณะและเขตทาง ประกอบกับสถานที่ตั้งโครงการอยู่ในชุมชนที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่นนั้น ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม กทม. พ.ศ.2556 กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณซอยประดิพัทธ์ 23 เป็นที่ดินประเภท ย.9-9 หรือที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นมากและที่ดินประเภท พ.3-7 หรือที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ซึ่งสถานที่ตั้งโครงการจะต้องไม่ขัด หรือแย้งกับกฎกระทรวงดังกล่าว ส่วนการคำนวณจำนวนที่จอดรถ ให้ปฏิบัติตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 83 ข้อ 84 และข้อ 85 คือ กรณีที่มีขนาดพื้นที่ห้องชุดตั้งแต่ 60 ตารางเมตรขึ้นไป ให้คิดที่จอดรถจำนวน 1 คัน/หนึ่งห้องชุด หรือคิดแบบอาคารขนาดใหญ่ให้มีที่จอดรถ 1 คัน/พื้นที่อาคาร 120 ตารางเมตร โดยให้ถือจำนวนที่มากกว่าเป็นเกณฑ์
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความกว้างถนนซอยประดิพัทธ์ 23 พบว่า มีความกว้างเขตทาง 07.00 – 10.00 เมตร และซอยดังกล่าวได้มีการประกาศลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นแล้ว ซึ่งมีความกว้าง 07.00 เมตร ปัจจุบันโครงการเอส – ประดิพัทธ์ 23 ได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาต หรือยื่นแจ้งการก่อสร้างจากสำนักงานเขตฯ แต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ สอบ.เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.ย.66
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า การวัดเพื่อกำหนดความกว้างของถนนสาธารณะเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเขตในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานเขตได้เคยมีหนังสือตอบความกว้างของเขตทางถนนสาธารณะว่า มีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับสภาผู้บริโภค สื่อมวลชน และผู้ร้องเรียน สภาผู้บริโภคให้วัดความกว้างของถนนตามสภาพการใช้งานจริง ทำให้ถนนสาธารณะมีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร อย่างไรก็ตาม สนย.จะได้ประสานสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อพิจารณาทบทวนการวัดความกว้างของถนนสาธารณะให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์และขั้นตอนการอนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องพิจารณาว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม กทม. พ.ศ.2556 อยู่ในพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทใด เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปตามกฎกระทรวงหรือไม่ บริเวณที่ก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่มีข้อบัญญัติกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารบางชนิด หรือบางประเภทหรือไม่ และอาคารเข้าข่ายเป็นอาคารที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ส่วนเรื่องความกว้างของถนนสาธารณะและเรื่องอื่น ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการอนุญาตก่อสร้างอาคาร ทั้งนี้ การควบคุม กำกับ ดูแล และตรวจสอบการก่อสร้าง เป็นอำนาจหน้าที่ที่ผู้อนุญาตจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัด
กทม.กำชับนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเลือกผลิตภัณฑ์อาหาร-ขนมที่มีฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย.
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงมาตรการดำเนินการกรณีคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนภัยพบขนมบรรจุในขวดมีหัวเป็นลูกกลิ้ง (โรลออน) วางจำหน่ายใกล้โรงเรียนว่า สนศ.ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนในสังกัด ทั้ง 437 โรงเรียน กำชับนักเรียนเลือกผลิตภัณฑ์อาหาร หรือขนมที่มีฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น ขณะเดียวกันให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครูตรวจตราร้านค้าที่จำหน่ายอาหาร หรือขนมบริเวณใกล้โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ หากพบร้านค้าที่วางจำหน่ายขนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีฉลาก อย.กำกับ ให้ประสานสำนักงานเขต เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์และร้านค้าดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการ อย.น้อย เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรม อย.น้อย ในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้แก่นักเรียน และประสานโรงเรียนให้ดำเนินการตามกิจกรรม อย.น้อย ตามคู่มือ อย.น้อย อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับการอ่านผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารเสริมและยา โดยบูรณาการผ่านการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์และสุขศึกษา นอกจากนี้ ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร หรือขนมที่ผิดกฎหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี ณ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ สำนักงานเขตบางเขน