รังสิต-นนทบุรี รับมือน้ำเหนือ

เจ้าพระยาทะลัก ตั้งทรายแสนถุงอุดแนวฟันหลอ กทม.เฝ้า24ชม.

รังสิตขึ้นธงเหลืองแจ้งบ้านริมน้ำยกของขึ้นที่สูง เตรียมรับมวลน้ำเขื่อนเจ้าพระยาชัยนาทระบายต่อเนื่อง ระดับน้ำคลองระพีพัฒน์-คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ปทุมธานี สูงขึ้นเรื่อยๆ นายกแจ๊ดสั่งเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มเร่งสูบออกเจ้าพระยา ด้านนนทบุรีเตรียมกระสอบทราย 1 แสนใบพร้อมรับน้ำบ่า จัดจนท.เฝ้าระวัง 17 ประตูน้ำริมเจ้าพระยาตลอด 24 ช.ม. แจ้งบ้านริมตลิ่งยกของขึ้นที่สูง กทม.แจงฝนถล่มข้ามคืน เขตบางนาฝนเทมากสุดกว่า 153 ม.ม. ผู้ว่าฯ ชัชชาติสั่งรับเหตุฉุกเฉิน ต้นไม้หักโค่น ไฟดับ จุดเสี่ยงท่วมขังซ้ำซาก ส่งรถเขตให้บริการรับ-ส่งประชาชนพื้นที่จุดเสี่ยง ชะอำ เพชรบุรี ระดมหาชาวประมงเรือไดหมึกจมทะเล สุพรรณฯ ผวาจระเข้ 30 ตัวหลุดฟาร์ม จับคืนมาได้แล้ว 20 ตัว เร่งหาที่เหลือ เตือนทั่วไทยฝนยังหนักเหตุมรสุมพาดผ่านทะเลอันดามัน

เตือนทั่วไทยฝนยังหนัก

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 48,201 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,003 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ รวมกัน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และด้านตะวันตกของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยง สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ด้านสถานการณ์เอลนีโญ ปัจจุบันมีกำลังปานกลาง แต่มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จึงได้สั่งการให้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

รังสิตสั่งเก็บของขึ้นที่สูง

ที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี, ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต เจ้าหน้าที่เทศบาลนครรังสิต ร่วมลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำ หลังเกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมขังหลายพื้นที่ โดยมี นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกลร่วมตรวจสอบ เพื่อประสานงานร่วมมือบูรณการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า หลังจากมี ฝนตกหนักมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ พบว่าคลอง ระพีพัฒน์ ปล่อยน้ำมามาก เพราะฝนตกใต้เขื่อนมาก ทำให้ที่คลอง 11 คลอง 12 คลอง 13 เขตพื้นที่ศาลาครุ น้ำเริ่มเอ่อล้นเข้าท่ว มที่พักอาศัยพี่น้องประชาชน ตนได้ประสานไปทางรังสิตเหนือ ขอให้เปิดประตูระบายน้ำให้สูงขึ้น ปล่อยน้ำในคลองรังสิตฯ ส่วนประตูระบาย น้ำและสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ต.บ้านใหม่ จุดสำคัญคือ จุดนี้ ที่มีปัญหาในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมาตรวจสอบดูว่าจุดนี้มีความพร้อมหรือไม่ ชลประทานพร้อมหรือไม่ ที่จะสูบน้ำออกเจ้าพระยา ซึ่งจากการตรวจสอบมั่นใจว่าดูแลปัญหาได้

ด้านร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปีที่ผ่านมา ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาว่ามีอะไรมากขึ้นที่เราต้องปรับปรุง ตั้งแต่เช้าวันเดียวกัน พบว่ามีปริมาณน้ำที่สูงขึ้นร้อยละ 20 สิ่งที่เป็นห่วงคือระดับน้ำในคลองรังสิตฯ ถ้าน้ำสูงขึ้นจนเอ่อเข้าท่วมชุมชน เบื้องต้นท่อที่อยู่ในระดับต่ำได้ป้องกันไว้ทั้งหมดแล้ว และเตรียมเครื่องที่จะสูบออกแทน เพื่อรองรับน้ำที่เพิ่มขึ้นมา ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ที่ 1.43 สีเหลือง ฝากเตือนพี่น้องประชาชนในเขตนครรังสิต ให้เก็บของขึ้นที่สูง แต่ขอให้อย่าตื่นตระหนก มั่นใจว่าเรามีความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ เพราะมีหลายภาคส่วนที่มาช่วยกัน ในเวลานี้ ก็จะเห็นว่าประตูน้ำ 3 บานเปิดหมดแล้วก็เครื่องสูบน้ำ 7 เครื่อง ได้ดำเนินการเต็มที่แล้ว

นนท์สั่งยกของหนีท่วม

ขณะที่ นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทานได้ประกาศให้จังหวัดในพื้นที่ใต้เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากการที่ระบายน้ำเพิ่ม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้ำเหนือเริ่มมาแล้ว ในส่วนเทศบาลนครนนทบุรีได้เตรียมกระสอบทรายไว้ 1 แสนใบ พร้อมทั้งทราย และเร่งขุดลอกคูคลองในพื้นที่ทั้ง 45 คลองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทางเทศบาล ยังจัดเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้ง 17 สถานี เพื่อดูแลทุกสถานีตลอดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา 10 กิโลเมตร

“บริเวณแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ที่เทศบาลนครนนทบุรีรับผิดชอบดูแลนั้น มีความยาว 10 กิโลเมตร ทางเทศบาลจึงได้จัดเตรียมกระสอบทรายไว้รับมือเสริมเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว หากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง 1.70-1.80 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป ก็จะเรียงตั้งแนวกระสอบทรายรับมือมวลน้ำในทันที ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว 100% ผมขอฝากไปถึง พี่น้องประชาชนที่มีบ้านอยู่ริมน้ำด้วยว่า ให้ติดตามข่าวสารจากกรมชลประทานและเทศบาลนครนนทบุรีตลอดเวลา และควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ด้วยการเก็บข้าวของยกขึ้นที่สูงเพื่อเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เพราะหากในกรณีที่มีน้ำเหนือไหลลงมามากเหมือนเมื่อปี 2554 จะรับมือได้ทัน แม้ตั้งแต่ต้นปีนี้จะเห็นว่าเกิดปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ก็ตาม แต่พอเริ่มช่วงเดือนก.ย. มีพายุพัดผ่านเข้ามาถึง 3 – 4 ลูก จึงทำให้มีการเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว” นายสมนึกกล่าว

ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ว่า เมื่อวานมีพายุลมแรงจนทำให้ต้นไม้หักโค่นและมีปัญหาน้ำท่วมขังในบางจุด อาทิ ย่านบางนา จริงๆ แล้วบางนามีคลองบางอ้อและคลองบางนาที่จะระบายน้ำออก ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำหลักที่มีศักยภาพในการสูบน้ำได้ 20 ลบ.ม. ต่อวินาที แต่มีเหตุต้นไม้หักหล่นทับหม้อแปลงบริเวณสถานีสูบน้ำทำให้ไฟฟ้าดับ

เกิดปัญหาในเรื่องของการระบายน้ำไม่สามารถ สูบน้ำออกได้ ซึ่ง กทม.ได้ประสานการไฟฟ้านครหลวงให้เร่งรัดดำเนินการซ่อมแซมและกลับมาใช้การได้ช่วงเวลา 21.00 น. ปัญหาหลักคือเรื่องเหตุไม่คาดคิดของไฟฟ้าดับ หลังจากนี้คงต้องดูแลต้นไม้ที่อยู่ใกล้หม้อแปลง หรือติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่เป็นดีเซลเสริม

นายชัชชาติกล่าวว่า อีกปัญหาที่พบคือประชาชนเดินทางกลับบ้านลำบาก เพราะหลังจากเกิดน้ำท่วมขังทำให้รถวินมอเตอร์ไซค์ใช้เวลานานในการวนมารับผู้โดยสารใหม่ จึงมีคนรอรถจำนวนมาก กทม.จึงต้องพยายามระดมรถจากเขตต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และคงต้องมีมาตรการรับมือเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้น และให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลประชาชนด้วย ซึ่งต่อไปต้องเตรียมรถรองรับประชาชนให้กระจายไปอยู่ตามจุดที่อาจมีปัญหามากขึ้น

‘บางนา’ฝนเทหนักสุด

ด้านศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝนตกพื้นที่กรุงเทพฯ ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ณ เวลา 07.00 น. วันเดียวกันว่า มีฝนตกปานกลางถึงหนัก ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่จุดวัด สำนักงานเขตบางนา 153.5 ม.ม., สถานีสูบน้ำคลองบางจากเขตพระโขนง 132 ม.ม., ประตูระบายน้ำคลองประเวศฯ-ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง 103.5 มม., สถานีสูบน้ำคลองสามเสน-แสนแสบ เขตห้วยขวาง 77.0 ม.ม.

มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก จำนวน 9 จุด ได้แก่ 1.บริเวณ ร.1 พัน 1 รอ. ถนนวิภาวดีรังสิต เขตพญาไท 2.แยกเตาปูน ถนนประชาราษฎร์ เขตบางซื่อ 3.หน้าห้างบิ๊กซี-อาคารมาลีนนท์ ถนนพระราม 4 4.สุขุมวิท 26 เขตคลองเตย 5.บ่อสูบน้ำเจ้าคุณสิงห์ ถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง 6.ซอยแบริ่ง ถนนสุขุมวิท 7.หน้ากรมอุตุนิยมวิทยา ถนนสุขุมวิท 8.แยกบางนา ถนนสุขุมวิท และ 9.ซอยอุดมสุข 1 ถนนสุขุมวิท เขตบางนา

สบเมยสะพานทรุด

ส่วนสถานการณ์ฝนและน้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่เมื่อค่ำวันที่ 21 ก.ย. ได้เกิดฝนตกอย่างหนักในพื้นที่ อ.สบเมย และแม่สะเรียง ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลทะลักจากลำห้วยสายต่างๆ บ่าท่วมพื้นที่ลุ่มเป็นบริเวณกว้าง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากพื้นดินในป่าได้อุ้มน้ำไว้อย่างเต็มที่แล้ว ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบทำให้เกิดเหตุอุทกภัยกระทบต่อราษฎรในพื้นที่อย่างหนัก

นายอัครพันธุ์ พูลศิริ นายอำเภอสบเมย เปิดเผยว่า จากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อคืนที่ผ่านมา คอสะพานบ้านแม่ทะลุ หมู่ 5 ต.สบเมย ได้ถูกน้ำกัดเซาะจนทรุดตัวลง ทำให้ยานพาหนะทุกชนิดสัญจรผ่านไม่ได้ แขวงทางหลวงชนบทแม่สะเรียงได้เร่งนำโครงสร้างสะพานเบลีย์มาเตรียมติดตั้งแล้ว ขณะที่น้ำป่ายังได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวนมาก ทางอำเภอสบเมยจึงได้ส่งกำลัง เจ้าหน้าที่ อส. ลงพื้นที่ไปให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเป็นการด่วน

แพร่ปิดถ้ำผานางคอย

ด้าน จ.แพร่ นายเสรี ทรงศักดิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติราชการแทน นายก อบจ.แพร่ ได้ออกประกาศแจ้งปิดการท่องเที่ยวบริเวณถ้ำผานางคอย อ.ร้องกวาง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว หลังได้รับผลกระทบจากพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ดินอุ้มน้ำไม่อยู่ ส่งผลให้รากไม้ที่เกาะยึดกับก้อนหินหลุดจากพื้นดิน ก้อนหินร่วงลงมาจากหน้าผาทับบันไดทางขึ้นถ้ำผานางคอย

ขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่แม่น้ำมูนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต่ำกว่าตลิ่งไม่ถึง 20 ซ.ม.แล้ว ทำให้ไหลท่วมชุมชนสองฝั่งแม่น้ำใน 3 เขตเทศบาล ทั้งที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ เทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองแจระแม ทำให้มีชาวบ้านที่มีบ้านชั้นเดียวและถูกน้ำ

ท่วมสูง ต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวเพิ่มขึ้นเป็น 10 ชุมชน จำนวน 106 ครอบครัว รวม 365 คน โดยบางครอบครัวต้องอพยพหนีน้ำท่วมย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 แล้ว ซึ่งหน่วยงานได้เตรียมพร้อมอพยพชาวบ้านเพิ่มเติมทันที หากระดับน้ำสูงจนวิกฤต

เร่งระบายน้ำบึงแก่นนคร

ที่จ.ขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยังคงตรึงกำลัง และประจำในจุดที่เกิดน้ำท่วมและจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม จากการที่มวลน้ำได้ไหลมาตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่ต้องไหลเข้าสู่เขตเทศบาลนครขอนแก่น ตามเส้นทางน้ำและแผนการระบายน้ำ โดยที่ฝนยังคงตกลงมาในบางเวลา โดยเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำทุกจุดยังคงเตรียมการและเตรียมความพร้อมที่จะระบายน้ำได้ทันที ทุกครั้งที่ฝนตก โดยให้ประสานงานร่วมกันกับเทศบาลข้างเคียงและประตูระบายน้ำทุกจุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง และเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่บึง แก่นนครและบึงทุ่งสร้าง ลงไปยังแม่น้ำชี ตามเส้นทางน้ำให้เร็วที่สุด ให้ระดับน้ำในบึงแก่นนครลดระดับลงอีก 1 เมตรเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะตกลงมาอีกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ต่อเนื่องไปจนถึงสัปดาห์หน้า ซึ่งมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจเมืองขอนแก่น

ส่วนภาคใต้ นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล ได้ออกประกาศแจ้งเตือนในพื้นที่จังหวัดสตูล ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย. หลังกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศเกี่ยวกับสภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยงในช่วงวันดังกล่าว

โดยเฉพาะถ้ำ ถ้ำลอด และน้ำตก หากมีความเสี่ยงให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ทันที พร้อมกันนี้ให้เตรียมความพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล และปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และขอให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่ง ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

เรือไดหมึกล่มระดมหาผู้สูญหาย

ที่ จ.เพชรบุรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองชะอำ ร่วมกับอาสากู้ภัยมูลนิธิสว่างสรรเพชญธรรมสถาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมออกค้นหาร่างนายประจักษ์ มิ่งขวัญ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 ถนนบ้านพลี ต.ชะอำ อ.ชะอำ ชาวประมงที่ถูกพายุพัดถล่มขณะนำเรือประมงพื้นบ้านชื่อ “โชคมิ่งขวัญ” ขนาดความกว้าง 2.5 เมตร ยาว 8 เมตร ออกไปไดหมึก เกิดจมหายกลางทะเลในเขตพื้นที่ อ.ชะอำ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 21 ก.ย. โดยนายณัฐชัย นำพูนสุขสันต์ ผวจ.เพชรบุรี เดินทางมาเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการค้นหาผู้ประสบภัยด้วยตนเอง พร้อมประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทั่งเวลา 12.00 น. ชุดค้นหาพบเสื้อแจ๊กเกตสีดำของนายประจักษ์ลอยอยู่กลางทะเล แต่ยังไม่พบตัวผู้สูญหาย ขณะที่นางปทุม มิ่งขวัญ มารดานายประจักษ์ น.ส.เจนกีฬา พุทธา ภรรยา และญาติพี่น้อง มาร่วมสังเกตการณ์ พร้อมจุดธูป 16 ดอก และบุหรี่ บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้เปิดทางให้พบผู้สูญหายด้วย

น.ส.เจนกีฬาเล่าทั้งน้ำตาว่า สามีนำเรือออกจากท่าเรือสะพานหินเพื่อไปไดหมึกตั้งแต่เวลา 17.30 น. วันที่ 21 ก.ย. ต่อมาเวลา 20.30 น. สามีได้โทรศัพท์มาบอกว่าที่กลางทะเลเกิดพายุแรงกำลังนำเรือฝ่าพายุกลับเข้าฝั่ง จากนั้นก็ติดต่อสามีไม่ได้อีกเลย ที่เรือลำดังกล่าวมีเสื้อชูชีพและแกลลอนอยู่หลายใบ คาดว่าสามียังมีชีวิตและกำลังลอยคออยู่ในทะเล อยากให้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นจริง

ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้รับภาพคลิปวิดีโอจากเรือประมง ซึ่งขับฝ่าพายุเข้าฝั่งในช่วงเวลาเดียวกับที่เรือโชคมิ่งขวัญพยายามกลับเข้าฝั่งเช่นกัน โดยพบว่าช่วงขณะนั้นกลางท้องทะเลมีพายุรุนแรง คลื่นสูง ฝนตกและฟ้าแลบเป็นช่วงๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เรือประมงโชคมิ่งขวัญอับปางลงกลางทะเล

บ้านโป่งสะพาน 50 ปีทรุด

ที่ จ.ราชบุรี นายอัศนีย์ สุภานัย ผอ.แขวงทางหลวงราชบุรี นายมงคล จันทสุวรรณ วิศวกรชำนาญการ ศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคอสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองบ้านโป่ง-เบิกไพรที่เกิดทรุดตัว หลังเมื่อช่วงเย็นวานนี้เกิดพายุฝนอย่างหนักและลมกระโชกในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง โดยพบว่าบริเวณคอสะพานฝั่งหน้าสำนักงานเทศบาลตำลเบิกไพรเกิดทรุดตัวกินพื้นที่เข้ามาในถนน 1 ช่องทางจราจร และเป็นทางยาวกว่า 30 เมตร บางจุดเป็นโพรงหลุมลึกจนเห็นตอม่อใต้สะพาน นอกจากนั้นพบว่าอีกฝั่งถนนก็เริ่มมีรอยแตกและยุบตัวเช่นกัน

นายอัครเดชเปิดเผยว่า สะพานแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2516 และมีการใช้งานจนถึงปัจจุบันรวม 50 ปี ต่อมาปี 2565 ได้รับการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างสะพานใหม่ที่มีขนาด 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับถนน 4 เลน บนทางหลวงหมายเลข 3291 เตาปูน-เบิกไพร โดยอยู่ใน ขั้นตอนตอกเสาเข็มตอม่อสะพานใหม่ทั้งสองฝั่ง โชคดีไม่มีชาวบ้านประสบอุบัติเหตุ ซึ่งทางศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) กรมทางหลวง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าว พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันประชุมแก้ปัญหา โดยมีมติว่าจะปิดการใช้งานสะพานดังกล่าวชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน พร้อมทั้งจัดตั้งงบประมาณซ่อมคอสะพาน ซึ่งคาดว่าจะกลับมา ใช้งานได้เหมือนเดิมในปี 2567 โดยในระหว่างนี้ให้ไปใช้สะพานข้ามแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ สะพานลาดบัวขาว สะพานค่ายหลวง และสะพานวัดบ้านโป่ง

สุพรรณฯผวาจระเข้หลุด 30 ตัว

ที่ฟาร์มจระเข้ หมู่ 4 ต.ดอนมะสังข์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จระเข้หลุดออกจากฟาร์ม 30 กว่าตัว อายุ 3 ปี ยาว 2-3 เมตร หลังเกิดเหตุ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน อบต.ดอนมะสังข์ ได้ช่วยกันจับได้แล้ว 20 ตัว ยังคงเหลืออีก 10 ตัว สร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ขณะที่ผู้นำชุมชนได้แจ้งเสียงตามสาย ไม่ให้ลงเล่นน้ำในคลองสาธารณะ หวั่นเกิดอันตราย

สอบถาม นายอมร สุขสมศรี เจ้าของฟาร์มกล่าวว่า เลี้ยงจระเข้มากว่า 14 ปี 10 บ่อ มีจระเข้กว่า 300 ตัว หลังจากเมื่อคืนมีลมพายุแรงพัดจนกำแพงพัง ซึ่งความเสียหายประเมินไว้เบื้องต้นก็ 2 แสนกว่าบาท มีหลายหน่วยงานและชาวบ้านเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้ง ชุดปฏิบัติการทีมไกรทอง จากกรมประมง มาช่วยกันจับอีก ซึ่งคาดว่าจะได้ครบทั้งหมด

นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีอยู่ 2 บ่อ จาก 3 บ่อ คาดว่าจระเข้ที่ยังจับกลับมาไม่ได้กว่า 10 ตัว น่าจะอยู่ตามคูคลองน้ำในพื้นที่ของเอกชน ไม่ใช่คลองสาธารณะ ประกอบกับบริเวณดังกล่าวไม่มีบ้านเรือนประชาชน กรอบของการทำงานในการ จับจระเข้จะง่ายขึ้น ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันนี้ ถ้าข้ามคืนไปอีกอาจขยายวงกว้างออกไป

อ่างทองเร่งช่วยบ้านพัง

ด้านอ.สามโก้ จ.อ่างทอง ที่เขตเทศบาลสามโก้ หลังฝนตกหนักข้ามคืน ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายกว่า 30 หลังคาเรือน โดยเฉพาะส่วนของหลังคาที่ถูกแรงลมพัดจนเสียหาย เช่นเดียวกับโรงจอดรถของทางเทศบาลตำบลสามโก้ ก็เกิดพายุพัดพังลงมาได้รับความเสียหายเช่นกัน

ขณะที่ นายสุชาติ คงประสงค์ นายกเทศ มนตรีเทศบาลตำบลสามโก้ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนแล้ว และเตรียมประสานจังหวัดอ่างทองเพื่อเร่งช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

 

 

ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 23 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200