กทม.แจงจ่อยื่นอุทธรณ์ศาลปกครอง

เพิกถอนสะพานคลองมหาสวัสดิ์-ปมโบราณสถาน

ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังลงพื้นที่สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชัน ถึงกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันออกคำสั่ง

โดยนายศานนท์กล่าวว่า คดีดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย สมาคมเรือไทย และประชาชน ยื่นฟ้อง ผอ.สำนักการโยธา (สนย.) กทม. และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพานค.ส.ล.เลขที่ 253/2561 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2561 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพาน คสล. เลขที่ 048/2561 ลงวันที่ 12 ก.ย. 61 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเลขที่ 001/2562 ลงที่ 7 พ.ย.61 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เหตุผลที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนระบุว่า

จากคำให้การของอธิบดีกรมศิลปากรฟังได้ว่า คลองมหาสวัสดิ์ เป็นโบราณสถาน ตามกฎหมาย ประกอบกับการที่บริษัทเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ (กรุงเทพ) จำกัด ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างสะพาน ค.ส.ล.ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อใช้เป็นทางสัญจรกับซอยชัยพฤกษ์ 33 แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ที่เป็นถนนสาธารณะ เป็นการก่อสร้างทางหรือถนนเพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบกใกล้โบราณสถาน ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในระยะทาง 1 ก.ม. ซึ่งตามมาตรา 48 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ประกอบข้อ 3 ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ข้อเท็จจริงพบว่ายังไม่ได้มีการจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ กรมศิลปากรระบุว่า คลองมหาสวัสดิ์เป็นโบราณสถานหากจะดำเนินการก่อสร้างจะต้องขออนุญาตกรมศิลปากร โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตทั้ง 3 ฉบับ เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายวิศณุกล่าวว่า ปัจจุบันสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว ในส่วนของ กทม.โดยสนย.ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นว่า ขณะนั้นสะพานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวง ตามพ.ร.บ. ทางหลวง จึงไม่ต้องทำอีไอเอ ส่วนประเด็นคลองมหาสวัสดิ์ ตามที่กรมศิลปากรระบุว่าเป็นโบราณสถาน หากจะดำเนินการต้องขออนุญาต กรมศิลปากร

ซึ่ง สนย. ชี้แจงว่า คลองมหาสวัสดิ์ แม้ประกาศเป็นโบราณสถาน แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอย่างเป็นทางการ สำหรับแนวทางการดำเนินการ โดยสั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย กทม.และ สนย.รวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมพร้อมการยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีดังกล่าวต่อไป

 

 

ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 22 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200