ห้วยขวาง…โมเดล ชู5ข้อ’ปิดประตูทุนเทา’

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน

จากกระแสการพูดถึงธุรกิจของ “ชาวต่างชาติ” ที่มาเปิดทำการค้าขายอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะชาวจีนที่มีให้เห็นมากขึ้นผ่านธุรกิจร้านอาหาร และร้านซูเปอร์มาร์เกต จนเกิดคำถามว่า ธุรกิจเหล่านี้เปิดอย่างถูกต้องหรือไม่ พร้อมข้อกังวลอนาคตนี่อาจกลายเป็นธุรกิจคล้าย “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ในอดีต หลังรัฐบาลเตรียมเปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน

โดยโซนที่ถูกจับตาครั้งนี้เป็นพื้นที่ในเขตเมืองอย่าง ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง ที่พบว่ามีธุรกิจร้านอาหารและร้านซูเปอร์มาร์เกตสัญชาติจีน ผุดขึ้นเป็น “ดอกเห็ด” ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งมีปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน ตำรวจ สน.ห้วยขวาง สน.สุทธิสาร และ บก.ตม.1 สตม. ลงพื้นที่กวดขันมาตรการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวในประเทศไทย เพื่อป้องปรามไม่ให้ใช้ช่องว่างของกฎหมายกระทำผิด

“ทีมข่าวชุมชนเมือง” สอบถามกับ นายไพฑูรย์ งามมุข ผอ.เขตห้วยขวาง ถึงการดำเนินการประเด็นดังกล่าว ซึ่งระบุว่าเป็นไปตามนโยบาย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ที่มอบนโยบายให้ 50 เขตใน กทม. ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ใช่การไล่ “จับผิด” และห้วยขวางถือเป็นเขตนำร่อง เน้นการตรวจตราครอบคลุมตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535, การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวใช้ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551, การจดแจ้งภาษีและการจ่ายภาษีต่าง ๆ ทั้งภาษีรายได้แบบนิติบุคคล การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (ภาษีVAT) ภาษีป้ายร้านค้า ฯลฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับเขตห้วยขวางมีธุรกิจของชาวจีนที่มีทั้งลักษณะที่เป็น “เจ้าของ” โดยตรง และ “ร่วมหุ้น” กับคนไทย รวม 72 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจร้านจำหน่ายอาหาร 67 ราย ร้านสะสมอาหาร (ซูเปอร์มาร์เกต) 4 ราย ร้านนวดสปา 1 ราย แต่ไม่ใช่ร้านตัดผม เพราะเป็นอาชีพสงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น ส่วนใหญ่ร้านเหล่านี้จะตั้งอยู่บริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบเมื่อลงตรวจสอบอย่างจริงจังจะพบร้านค้ามี 2 แบบ คือ เป็นของคนไทยที่เปลี่ยนจากขายอาหารไทยมาเป็นอาหารจีน เหล่านี้จะทำธุรกิจถูกต้องอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกส่วนที่เป็นร้านไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตในการประกอบกิจการ โดยมีเจ้าของเป็นชาวจีน ซึ่งได้เรียกผู้ประกอบการทั้งหมดมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจก่อนหน้านี้แล้ว

ผอ.เขตห้วงขวาง เผยว่า ได้เชิญเหล่าซือมาเป็นล่ามแปลภาษาให้กับเจ้าของ หรือผู้ร่วมหุ้นชาวจีน ให้เข้าใจถึงระเบียบและกฎหมายที่ต้อง ทำอย่างถูกต้อง โดยให้ร้านเหล่านี้ปรับปรุงแก้ไขตามระเบียบ เช่น หากไม่มีใบอนุญาตหรือใบจดทะเบียนการค้าก็ต้องไปยื่นขอที่กระทรวงพาณิชย์ให้ถูกต้อง ย้ำว่าหลังพูดคุยไปแล้วก็ต้องกลับไปตรวจสอบอีกครั้ง เพราะมีร้านปิดกิจการไปหลายแห่ง เนื่องจากปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้ “สิ่งที่เจอคือบางคนแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจในสิ่งที่เราสื่อออกไป ดังนั้น หากคุณตัดสินใจทำธุรกิจในไทยก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไทยด้วย”

สำหรับแนวทางในการจัดการธุรกิจเหล่านี้ให้ถูกกฎหมาย ป้องกันเหตุซ้ำรอยแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ ผอ.เขตห้วยขวาง ระบุ มี 5 แนวทาง ได้แก่ 1.ร้านค้าต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง เพราะการขออนุญาตเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติกทม. เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เช่น ร้านสะสมอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เกต สินค้าที่นำมาขายต้องมี อย. มีชื่อสินค้าเป็นภาษาไทย เป็นต้น

2.แรงงานภายในร้านต้องถูกกฎหมาย หากเป็นร้านจำหน่ายอาหาร แรงงานต้องได้รับการอบรมผู้สัมผัสอาหารและได้ใบประกาศ ซึ่งเขตมีภาษาอื่น ๆ ให้อบรมด้วย อย่างไรก็ตาม มีความกังวลหลังรัฐบาลเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวอาจกลายเป็นช่องทางให้ร้านค้านำแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเข้ามาทำงานโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยวแทน และอยู่ยาว เมื่อวีซ่าหมดอายุก็จะกระจายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่มีคนรู้จัก หรือญาติทำงานอยู่ ดังนั้น การตรวจสอบใบอนุญาตทำงานต้องเข้มข้น

3.การจดทะเบียนสำหรับต่างด้าวในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีน้อยรายที่เป็นต่างด้าวและเป็นเจ้าของ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ร่วมหุ้นกับคนไทย จะติดตามร้านเหล่านี้ด้วยระบบภาษีว่ามีการชำระอย่างถูกต้องหรือไม่ อาทิ ใบ ภพ.20, บิลเป็นภาษาไทย, ภาษีป้าย, ภาษีรายได้ต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีการชำระเข้าประเทศหรือไม่ เพื่อเป็นการปิดช่องทางไม่ให้เกิดธุรกิจศูนย์เหรียญ เพราะรายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าจะต้องเข้ารัฐ 100% ยืนยันต้องทำให้เข้าสู่ระบบ

4.ความปลอดภัยทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ที่มาลงทุนประกอบกิจการ หรือแม้แต่คนไทยที่อาศัยในย่านที่มีธุรกิจเหล่านี้เปิดก็จะต้องได้รับความปลอดภัย ไม่เพียงแค่ร้านอาหารหรือร้านสะสมอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยในธุรกิจสถานบันเทิง สถานประกอบการคล้ายสถานบันเทิงด้วย

5.การป้องปรามไม่ให้แรงงานต่างด้าวนำสินค้าไปเร่ขายยังจุดอื่น ๆ เช่น ตลาดนัด เนื่องด้วยการขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสำหรับนายจ้างหรือสถานประกอบการ “ห้ามให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่กำหนดในใบอนุญาตทำงาน”

ทั้งนี้ จากการบูรณาการหน่วยงานลงตรวจป้องกันและป้องปรามการกระทำผิด ทำให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งเทศบาล/อบต.สอบถามถึงแนวทางการทำงาน เพื่อนำไปเป็น “โมเดล” จัดการพื้นที่ตัวเอง

มีข้อสังเกตเมื่อมีธุรกิจต่างชาติเข้ามาเปิดมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อคนไทยหรือไม่ ผอ.เขตห้วงขวาง ยอมรับ หากในพื้นที่ห้วยขวาง โดยเฉพาะบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญนั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก ตั้งแต่ลงพื้นที่ตรวจพบว่า สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการชาวไทยเผชิญคือการขึ้นค่าเช่าของเจ้าของอาคารมากถึง “เท่าตัว” แม้จะไม่ใช่ธุรกิจสัญชาติจีนก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจราจรที่ติดขัด หรือการแย่งที่จอดรถ ส่วนเรื่องมลพิษทางเสียงแบบสถานบันเทิงจะมีน้อย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเสียงที่ดังจากการเรียกลูกค้า

“สิ่งที่เขตได้รับร้องเรียนก็จะนำไปหาทางแก้ไข เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ และสามารถกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับคนไทยและประเทศได้อย่างแท้จริง”.

“สิ่งที่เจอคือบางคนแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจในสิ่งที่เราสื่อออกไป ดังนั้น หากคุณตัดสินใจทำธุรกิจในไทย ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไทยด้วย” 

 

ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200