(7 ก.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สำรวจทางเท้าเส้นทางซอยอินทามระ 14 ถึงแยกสะพานควาย เขตพญาไท เพื่อทดสอบการใช้พอรัสแอสฟัลต์(Porous Asphalt) ปูบริเวณโคนต้นไม้ การปรับปรุงทางเท้าทั้งเส้น ด้วย Universal Design และการปรับภูมิทัศน์นำสายสื่อสารลงดิน โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา(สนย.) นายนำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และ กลุ่ม Big Tree ร่วมลงพื้นที่
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กทม.อยู่ระหว่างปรับปรุงทางเท้าใน 17 เส้นทาง โดยในปีนี้จะดำเนินการประมาณ 200 กิโลเมตร สิ่งที่สำคัญ คือต้นไม้บนทางเท้าต้องสามารถรดน้ำได้และหายใจได้ ซึ่งจากการไปดูงานที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้ยางมะตอยพอรัสแอสฟัลต์ปูบนทางเท้าก่อนใช้กระเบื้องปูทับเพื่อให้น้ำสามารถซึมลงไปได้ และยังสามารถช่วยเมืองในกรณีระบายน้ำจากถนนได้ด้วย เนื่องจากพอรัสแอสฟัลต์ เป็นแอสฟัลต์ประเภทที่มีรูพรุน มีคุณสมบัติเด่นในการระบายน้ำในแนวดิ่ง ทำให้รากต้นไม้สามารถระบายอากาศและรับการรดน้ำได้ดี และช่วยเพิ่มพื้นที่ทางเท้าได้บางส่วน ซึ่งก่อนจะเทต้องมีการปรับปรุงดินและใส่ปุ๋ยให้เรียบร้อย จากนั้นใส่ทรายใส่กรวด ก่อนดำเนินการลาดยางมะตอย ทำให้น้ำลงไปที่รากต้นไม้ได้เต็มที่ 100%
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพอรัสแอสฟัลต์ที่ใช้เทบริเวณโคนต้นไม้เส้นทางซอยอินทามระ 14 ถึงแยกสะพานควาย ตามโครงการนำร่องการใช้พอรัสแอสฟัลต์ทดแทนการปูอิฐบล็อกเพื่อขยายพื้นที่ทางเท้า ซึ่งภาพรวมก็เรียบเสมอกับทางเดินเท้าดี และน้ำสามารถไหลผ่านได้ดี วิธีนี้เมื่อมีการซ่อมแซมปรับปรุงทางเท้าก็จะทำให้แก้ไขได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งการสร้างทางเท้าในรูปแบบนี้ได้มีการสร้างท่อสายสื่อสารใต้ดินไว้รองรับผู้ประกอบการสาธารณูปโภค และรองรับการขยายท่อประปาในอนาคตอีกด้วย ลดปัญหาการขุดก่อสร้างทางเท้าซ้ำซาก ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยประชาชนตลอดเส้นทางชื่นชมว่าสามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว นอกจากนี้ เพื่อให้ถนนในกรุงเทพฯ เดินได้สะดวดขึ้น แก้ปัญหาการจราจร และสามารถเชื่อมต่อกับการเดินทาง เช่น รถไฟฟ้า และระบบ Feeder ในอนาคตจะปรับเปลี่ยนทางเดินเท้าให้เป็น covered walkway ซึ่งมีหลังคาคลุมตลอดเส้นทาง ซึ่งในขณะนี้มีการดำเนินการแล้วที่บริเวณโรงเรียนหอวัง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวตอนท้ายว่า สิ่งที่ต้องขอความร่วมมือ คือ เรื่องของหาบเร่แผงลอย ต้องไม่กลับมาขายบนทางเท้าที่ห้ามขาย รวมถึงรถจักรยานยนต์ห้ามขับขี่บนทางเท้า ซึ่งเส้นทางในวันนี้มีร้านซ่อมรถจักรยานยนต์จำนวนมาก ก็ได้ขอความร่วมมือให้ประชาสัมพันธ์บอกลูกค้าว่าอย่าขับขี่บนทางเท้าเพื่อนำรถขึ้นมาซ่อม แต่ให้ใช้วิธีจูงรถจักรยานยนต์ขึ้นมาซ่อมแทน เนื่องจากน้ำหนักของรถจักรยานยนต์ส่งผลต่อความเสียหายของกระเบื้องทางเท้า อีกทั้งเกิดอันตรายแก่ประชาชนคนเดินเท้า และยังผิดกฎหมายอีกด้วย
รองฯ วิศณุ กล่าวเสริมว่า ในอนาคตการก่อสร้างหรือซ่อมแซมทางเท้าในกรุงเทพฯ จะใช้รูปแบบดังกล่าว คือ รูปแบบที่ 1 คือ เทคอนกรีตและเสริมตะแกรงเหล็กไวร์เมช 10 cm แล้วปูกระเบื้องทับ ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ การลาดยางมะตอยทั้งหมดแล้วค่อยปูกระเบื้องทับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทการซ่อมแซมก่อสร้างทางเท้าแต่ละเส้นทาง ซึ่งต้องวิเคราะห์จากวิธีการที่ใช้งบประมาณให้ประหยัดที่สุด แต่ได้จำนวนระยะทางมากที่สุด นอกจากนี้ทางเท้าที่ปรับปรุงใหม่จะปรับปรุงเป็นแบบ universal design คือให้เหมาะกับคนทุกประเภท ทุกวัย รวมถึงผู้พิการซึ่งสำนักการโยธา กทม. พยายามปรับปรุงมาตรฐานในการทำทางเท้าใหม่ให้เป็นตามมาตรฐานโลกในปัจจุบัน เพื่อนำมาปรับใช้ให้เป็นลักษณะนี้ทั้งกรุงเทพฯ ในอนาคต
ทั้งนี้ ประโยชน์ของการใช้ยางมะตอยพรุน พอรัสแอสฟัลต์ (Porous Asphalt) บริเวณโคนต้นไม้ คือ 1. แก้ปัญหาทางเท้าแคบช่วงต้นไม้ 2. แก้ปัญหารากต้นไม้ดันกระเบื้องทางเท้า 3. แก้ปัญหาน้ำขังบนทางเท้าช่วงฝนตก โดยแนวทางพัฒนาการใช้งานต่อไป จะจัดทำพื้นที่ทดลองใช้งาน เช่น รอบต้นไม้บริเวณศาลาว่าการกทม. และถนนต่างๆ พร้อมทั้งทำการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่/ผู้รับเหมาเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง รวมถึงการจัดทำมาตรฐานการใช้งานยางมะตอยพรุน ระหว่างสำนักการโยธาและสำนักงานสวนสาธารณะ ร่วมกับผู้ผลิตยาง มะตอยพรุน และองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย อีกด้วย
#เดินทางดี
—————