เพื่อกรุงเทพฯ เดินได้ เดินดี น่าเดิน กทม. จับมือภาคีฯ สำรวจสุขภาพต้นไม้พื้นที่ก่อสร้าง “สกายวอล์กราชวิถี” 197 ต้น พร้อมแผนล้อมย้าย–ตัดแต่ง–ถอนต้นป่วย เริ่มก่อสร้าง เม.ย. 68 – เม.ย. 69

(9 ก.ค. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าโครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี (Rajavithi Skywalk) ช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แยกตึกชัย 1.341 กิโลเมตร โดยเฉพาะรายละเอียดด้านการบำรุงรักษาต้นไม้ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ทั้งนี้ ยืนยันว่า กทม. มีเป้าหมายอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการไว้มากที่สุด พร้อมกับส่งเสริมเมืองเดินได้ เดินดี และน่าเดิน

โดยระหว่างขั้นตอนการศึกษาและสำรวจ ได้ร่วมมือกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่ม BIG TREES สำรวจสุขภาพต้นไม้ในแนวโครงการก่อสร้าง พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 197 ต้น สามารถคงรักษาในพื้นที่ตามสภาพเดิมได้ 49 ต้น ส่วนอีก 148 ต้น จะดำเนินการ “ล้อมย้าย-ตัดแต่ง-ถอนต้นป่วย” คือล้อมย้ายนำไปอนุบาลในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ 12 ต้น เก็บรักษาในพื้นที่เดิมโดยตัดแต่งกิ่งก้าน 105 ต้น และล้อมออกเนื่องจากไม่ผ่านการประเมินสุขภาพ 31 ต้น

นายเอกวรัญญู ยืนยันว่า กทม. ดำเนินการล้อมย้ายต้นไม้อย่างถูกหลักรุกขกรรม โดยนำไปอนุบาลไว้ในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ส่วนต้นไม้ที่ล้อมออกนั้นจากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาสังคม พบว่าสุขภาพต้นไม้ขาดความสมบูรณ์ มีความกลวงภายในลำต้นของต้นไม้ ในอนาคตอาจจะยืนต้นตาย หรืออาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการหักหรือโค่นล้มของต้นไม้ จึงจำเป็นต้องล้อมออกจากพื้นที่ดังกล่าว

“กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับต้นไม้ใหญ่ทุกต้น ดังที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติเองย้ำเสมอว่า ต้นไม้คือมรดกล้ำค่าของเมือง เราจึงจับมือกับสถาบันการศึกษาและภาคประชาสังคม ดำเนินการทุกขั้นตอนตามหลักรุกขกรรม เพื่อรักษาต้นไม้ในพื้นที่โครงการให้มากที่สุด ขอย้ำว่าต้นไม้ทุกต้นมีประโยชน์ แม้ต้นที่หมดสภาพแล้วก็ยังสร้างประโยชน์ต่อเมืองได้ ไม่ว่าจะนำไปทำฟืน ปุ๋ย หรืองานไม้ต่อยอดอื่น ๆ ตามหลักการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า” โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าว

นายเอกวรัญญู กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแบบ “ทางเดินลอยฟ้าราชวิถี” ดำเนินการภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านราชวิถี–อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง ประกอบด้วยโรงพยาบาลหลักหลายแห่ง เช่น รพ.ราชวิถี รพ.พระมงกุฏเกล้า รพ.รามาธิบดี และยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนคนตาบอด การออกแบบจึงให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตาและกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ โดยเน้นความสะดวกปลอดภัยตลอดเส้นทาง

“ที่สำคัญคือเสาของสกายวอล์กทั้งหมดจะไม่ปักลงบนทางเท้าสาธารณะเลย เพื่อไม่ให้กระทบต่อการสัญจรของประชาชนโดยรวม แต่จะวางในรั้วตลอดแนวทางเท้า ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการเจรจาสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถใช้เป็นหลังคาบังแดดบังฝนให้กับผู้เดินเท้าได้ตลอดแนว เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองเดินได้ เดินดี น่าเดินอย่างแท้จริง” นายเอกวรัญญู กล่าว

โครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี (Rajavithi Skywalk) รวมระยะทางทั้งสิ้น 1.341 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ช่วงแยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แยกตึกชัย เชื่อมทางเดินลอยฟ้า โรงพยาบาลรามาธิบดี ระยะทาง 1 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 ช่วงเกาะราชวิถีและเกาะพหลโยธิน ระยะทาง 341 เมตร เริ่มต้นสัญญาวันที่ 19 เมษายน 2568 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 เมษายน 2569 ระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน

ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในการเดินทางสัญจร จึงแบ่งการทำงานออกเป็น 6 ช่วง แต่ละช่วงจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 4 เดือน เริ่มจากแยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แยกตึกชัย ดังนี้ ช่วงที่ 1 เกาะพหลโยธิน เริ่มวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ช่วงที่ 2 เกาะราชเทวี เริ่มวันที่ 1 กันยายน 2568 ช่วงที่ 3 เริ่มวันที่ 15 กันยายน 2568 ช่วงที่ 4 เริ่มวันที่ 15 ตุลาคม 2568 ช่วงที่ 5 เริ่มวันที่ 15 พฤศจิกายน 2568 ช่วงที่ 6 เริ่มวันที่ 15 ธันวาคม 2568 ซึ่งหลังจากทำงานในแต่ละช่วงแล้วเสร็จ จะคืนพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้สอยได้ตามปกติ โดยงานก่อสร้างในช่วงอื่น ๆ ยังคงดำเนินต่อไป ไม่ส่งผลกระทบกับการใช้พื้นที่ในการสัญจรของประชาชน

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200