สัมภาษณ์พิเศษ: รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล อัพเดต 14 เดือนอินฟราสตรักเจอร์ กทม.

เมตตา ทับทิม

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การบริหารยุคทีมชัชชาติ ย่างเข้าสู่อายุการทำงานครบ 14 เดือน ณ สิงหาคม 2566

บนความคาดหวังของคนกรุงในการอัพเกรดมหานครกรุงเทพ ให้เป็นมหานครน่าอยู่สำหรับทุกคน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าราชการ กทม. กำกับดูแลหน่วยงานหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของเมือง ประกอบด้วย หน่วยงาน 5+1 คือ 1.สำนักการโยธา 2.สำนักการระบายน้ำ 3.สำนักการจราจรและขนส่ง 4.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 5.บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT วิสาหกิจที่ กทม.ถือหุ้น 100% และบวกอีก 1 เป็น 6.สำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานโยธา

บนรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านสู่การ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ บนรอยต่อของช่วงโค้งสุดท้ายในการเปลี่ยนปีงบประมาณ (1 ตุลาคม 2566-30 กันยายน 2567) เป็นโอกาสเหมาะที่จะติดตามความก้าวหน้า ของผลงานในช่วง 14 เดือนแรก และสิ่งที่จะทำต่อในอนาคต

Q : ถอดบทเรียนแอชตัน อโศก

บทเรียนง่าย ๆ คือเกิดจากการตีความ ความเข้าใจ ต้องเอาให้ชัดว่าพื้นที่แบบนี้ เอามาใช้ได้ อย่างไรหรือเปล่า เพราะ กทม.ให้ใบอนุญาตก่อสร้าง ตามที่มีคนยินยอมให้ใช้ที่ (ผ่านทาง) คือ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ก็มีหนังสือยินยอมให้ใช้พื้นที่ และเรื่องนี้ไม่มีการทุจริต ผมมองว่าให้มีความชัดเจนขึ้น ที่แบบไหน การนำมาใช้

การขออนุญาตก่อสร้าง ที่มีใบอนุญาตผ่านทางหน่วยงานอื่นมาประกบ วันนี้ที่ศาลท่านตัดสินมา ต้องเคารพคำตัดสินของท่าน มี 2 เรื่อง 1.ที่ดินที่เวนคืนมา ใช้ตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ ประเด็นนี้ ต้องยอมรับที่ รฟม. ก็เป็นที่เวนคืนมา ฉะนั้น ทางเจ้าของที่ดินต้องไปต่อสู้ให้ครบว่า คุณถูกเวนคืนรอนสิทธิไปไหม ให้ใช้ (ผ่านทาง) ได้เท่าไหร่ กี่เมตร การที่บอกว่า ที่ใช้ไม่ได้ ก็ไม่ใช่ เพราะก่อนหน้านั้นที่ใช้ได้แต่ถูกรอนสิทธิไป ก็ต้องทำให้ชัด เราต้องดูประเด็นให้เคลียร์ ว่าเป็นเรื่องรอนสิทธิ

2.เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่มาก ถ้าพื้นที่นั้น ยังมีสงวนสิทธิ์อยู่ คือวันนี้ หน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการ ถ้าอนุญาตให้ใครใช้พื้นที่ผ่านมา เขามีคำสงวนสิทธิ มันก็ต้องดูว่า โครงการนี้ถูกต้อง ขอรอนสิทธิ ประเด็นนี้ต้องไปที่กรรมการควบคุมอาคารต้องตีความอีก

ผมอ่านคำพิพากษาศาล มีข้อหนึ่งและ ข้อสอง สรุปสาระสำคัญข้อสอง แม้ว่าทางรัฐบาลยอมให้ใช้ได้ แต่ยังมีคำสงวนสิทธิอยู่ อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะเกิดยังไง เพราะมันเป็น template ของภาครัฐ ให้ใครใช้ที่ต้องเขียนสงวนสิทธิไว้อยู่แล้ว

Q : ฮอตอิสชูส์ด้านโครงสร้างพื้นฐานของ กทม.

หลัก ๆ ก็มีเรื่องผังเมือง กับน้ำท่วม ซึ่งปัญหาที่คนกรุงเทพฯร้องเรียนหนัก ๆ จะมีน้ำท่วม จราจร ฟุตปาททางเดิน ไฟฟ้าแสงสว่าง ฯลฯ วันนี้โจทย์การเดินทาง เราต้องเอาคนเดินทาง ไม่ใช่ให้รถเดินทาง เราต้องตั้งโจทย์ให้ดี

เช่น คนอาจเดินเท้า ขี่จักรยาน นั่งรถเมล์ นั่งรถไฟฟ้า มีการเดินทางหลากวิธี อย่ามองมิติเดียวว่า การแก้ปัญหาจราจรคือการทำให้รถไม่ติด เราต้องตั้งโจทย์ให้ดี

โจทย์ผมไม่ใช่ทำให้รถไม่ติด โจทย์ผมคือทำให้คนเดินทางให้สะดวกได้ยังไง รายละเอียดก็มีหลากหลายวิธี เดินทางจากบ้านไปที่ทำงานไกล ๆ จากบ้านจะไปเข้าออฟฟิศยังไง ฟุตปาทต้องดี มีหลังคาคลุมไหม

Q : โจทย์ให้เส้นเลือดฝอยเป็นตัวตั้ง

เส้นเลือดฝอยเป็นวิธีการมากกว่า หลังจากเราเข้าใจปัญหา จะเห็นว่าปัญหาต่าง ๆ เกิดจากเส้นเลือดฝอย ฮอตอิสชูส์หลักเราเอาใครเป็นศูนย์กลาง ก็คือคน เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่ง 216 นโยบาย เน้นบริหารจัดการเส้นเลือดฝอยของเมือง คนเข้าใจเส้นเลือดฝอยฟังพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่ที่จริงแล้ว แผนงานเกิดจากอะไร เกิดจากข้อมูล

 

สิ่งที่เราทำในปีที่ผ่านมา เราเก็บข้อมูลเยอะจากแอปแทรฟี่ฟองดูว์ ยกตัวอย่าง แผนปรับปรุงน้ำท่วม ไม่ทำเปะปะ เราทำจี้จุดเลย เช่น เราถอดบทเรียนน้ำท่วมที่ผ่านมา ปี 2565 น้ำท่วม 737 จุด สาเหตุเกิดจากอะไร พบว่า 120 จุดเกิดจากน้ำเหนือน้ำหนุน การระบายน้ำสู่เจ้าพระยาที่มีช่องโหว่ กับ 117 จุดเกิดจากน้ำฝน เรามาพลอตบนแผนที่ เราเอกซเรย์ดูบนแผนที่เลย

 

Q : ยุคทีมชัชชาติ น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯใช่ไหม

 

น้ำจะระบายได้เร็วขึ้น (ตอบทันที) เดิมคือน้ำท่วม ได้รับร้องเรียนว่าน้ำท่วมขัง ท่วมนาน เราเข้าไปดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหน มี 4-5 อย่าง เช่น 1.พื้นที่ต่ำมาก 2.ไม่มีรางระบายน้ำ 3.รางระบายมันเล็ก 4.ระบบไหลต่ออาจยังไม่ดี เครื่องสูบน้ำอาจไม่ดี เราก็เอาระบบเข้าไป เช่น เสริมผิว ทำรางระบายเข้าไป ทำท่อระบายน้ำเพื่อเชื่อมการระบายน้ำ หรือเพิ่มเครื่องสูบน้ำ ฯลฯ

สำหรับเมกะโปรเจ็กต์แก้ปัญหาน้ำท่วม โครงการเดิมมีอยู่แล้ว เราสานต่อ เช่น การขยายพื้นที่อุโมงค์ระบายน้ำในโซนลาดพร้าว มีการก่อสร้างต่อเนื่อง เราก็เดินตามแผนงาน เหตุผลเพราะมีการผูกพันงบฯไปแล้ว และเริ่มเซ็นสัญญาสมัยเราก็มี นี่คือมาสเตอร์แพลนที่เขาวางไว้นานแล้ว

 

Q : ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว มีทางออกไหม

 

มีครับ ต้องแยกสองเรื่อง 1.แมสทรานสิต รัฐบาลต้องซัพพอร์ตในเรื่องค่าก่อสร้างเป็นอย่างน้อย เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้

 

2.รัฐบาลคงมองเป็นนโยบายแล้วล่ะ ค่าเดินทางองค์รวม ในภาพรวมลดได้ยังไง โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่าย ไม่ใช่ขึ้นสาย ก ไปต่อสาย ข เจอค่าแรกเข้าดับเบิล ทำให้ค่าโดยสารมันแพงเกินกำลังผู้โดยสาร ประเด็นค่าแรกเข้าเป็นบทบาทรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้วิน-วินได้อย่างไร

ปมปัญหาต้องดูก่อนว่าสายสีเขียวในส่วนไข่แดง (หมอชิต-อ่อนนุช) ปี 2572 ต้องคืนสัมปทานกลับมาให้ กทม. ก็ต้องรอถึงตอนนั้น ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้ก็คิดกันแล้วว่า กระบวนการที่จะหา ผู้ดำเนินการรายใหม่ ผู้รับสัมปทานรายใหม่จะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มันค้างอยู่ที่ ครม. (คณะรัฐมนตรี)

คือแต่เดิม ม.44 มีการขอให้ขยายสัมปทาน เป็นการต่ออายุ 30 ปีเฟสสอง จากเฟสแรกปี 2542-2572 ไปจบปี 2572-2602 ก่อนปี 2572 รายรับสายสีเขียว เข้าบริษัทผู้รับสัมปทานหมด (บีทีเอสซี) หลังปี 2572 รายรับจะเข้า กทม. 100% แต่มีสัญญาจ้างเดินรถให้เดินรถไปถึงปี 2555-2585 ที่ กทม.ต้องจ่ายค่าจ้างในการเดินรถ อันนี้คือของเดิมนะที่มีอยู่แล้ว

วันนี้เราคิดว่า กระบวนการที่ขยายสัมปทานเฟสสองไปอีก 30 ปีนั้น ต้องทำให้รอบคอบ ความเห็นเราคือควรนำเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งมีการพิจารณารอบด้าน มีการศึกษารัดกุม เรื่องนี้ต้องให้ ครม.ใหม่ตัดสินใจ เพราะเรื่องค้างอยู่ที่ ครม.

 

Q : ในฐานะสอนวิศวะบริหารการก่อสร้าง มองปัญหาสายสีเขียวยังไง

 

ผมว่าทุกโครงการโครงสร้างพื้นฐานพวกนี้ พวกโครงการขนาดใหญ่ การ กลัดกระดุมเม็ดแรกต้องดูให้ดี เพราะถ้าเราก่อสร้างลงไปแล้ว เราอยากเปลี่ยนอยากทำอะไร มันทำไม่ได้ เพราะตอกเข็มไปแล้ว ทำอะไรไปแล้ว ดังนั้น การติดกระดุมเม็ดแรกต้องคิดให้รอบคอบ

ประเด็นที่สอง โครงการในลักษณะนี้

โดยเฉพาะโครงการสัมปทาน เราพูดถึง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว การคาดการณ์อนาคตมันมีความไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น การให้สัญญาสัมปทานต้องมีความยืดหยุ่น ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในอนาคต

 

เพราะถ้าเราฟิกซ์ไปเลยทั้งหมด ในด้านผู้ลงทุนก็ต้องการป้องกันความเสี่ยงตัวเองก่อน เช่น ใส่มา (การคำนวณผลตอบแทนในสัมปทาน) ให้เยอะไว้ก่อน เช่น ดอกเบี้ย เราไม่รู้อนาคตเป็นยังไง ใส่สูงไว้ก่อน ป้องกันตัวเอง หรือปริมาณคนใช้ เราไม่รู้หรอก ต้องคิดให้รอบคอบ ต้องมีบริบทที่รัฐไม่เสียเปรียบ และไม่เอาเปรียบเอกชนเกินไป

หลัก ๆ ง่าย ๆ ถ้าความเสี่ยงในอนาคตอยู่ตรงไหน ใครบริหารความเสี่ยงได้ดีกว่า ก็ควรให้บริหารความเสี่ยง จะรัฐหรือเอกชนได้หมด ขึ้นอยู่กับต้องมีระบบบริหารความเสี่ยงนี้ก่อน คล้ายกับสัญญาสัมปทาน 30 ปี ให้โรลโมเดลทุก 5-10 ปี เพื่อมาดูว่ามีการปรับอะไรบ้าง อะไรคือปัจจัยสำคัญ

ประเด็นที่สาม เป็นเรื่องการติดตามผลงาน ติดตามการทำงาน อย่าลืมว่าตอนทำสัญญา คนร่างสัญญาถึงเวลาผ่านไป 10-20 ปี ไม่รู้ไปไหน คือฝั่งราชการจะเสียเปรียบ เพราะว่าฝั่งราชการเวลาเปลี่ยนคนรับผิดชอบ เปลี่ยนคนทำงาน คนมาใหม่อาจจะไม่เข้าใจโครงการ ในด้านความลึกของความเข้าใจ บริบท เจตนารมณ์ เพราะฉะนั้น การบังคับใช้ การตีความสัญญา และอื่น ๆ สัญญาต้องทำให้ง่าย

ในขณะที่ฝั่งเอกชนอาจเข้าใจมาตลอด รู้เรื่องมาตลอด (ไม่มีการ โยกย้ายเหมือนระบบราชการ) ฉะนั้น การบังคับใช้สัญญาไม่ให้เป็นการเสียเปรียบ เป็นไปตามบริบทในตอนต้น อันนี้สำคัญ

 

 

ที่มา:  นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 – 10 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200