ชัชชาติเล็งถกเศรษฐา แก้ฝุ่น-รถไฟฟ้า-ภาษี

ชี้เป็นวาระเร่งด่วน’กทม.’ ผู้กองสั่งซื้อมังคุดหมื่นตัน ‘ธรณ์’ฝากฟื้นฟูทะเลไทย

‘ชัชชาติ’รอคิวถก’เศรษฐา’ชงหนุนแก้ปัญหา กทม.ทั้งฝุ่นพิษ-รถไฟฟ้า-ภาษีที่ดิน’ธรรมนัส’ ควง 2 รมช.เกษตรฯบินเมืองคอนแก้ราคามังคุดตกต่ำ สั่งปลัด กษ.เปิดจุดรับซื้อทันที เร่งกระจายผลผลิตนับหมื่นตัน

กทม.จี้รบ.หนุนแก้ฝุ่น-รถไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 19/2566 นายชัชชาติเปิดเผยหลังการประชุมว่า เรื่องที่จะต้องหารือกับรัฐบาลเป็นเรื่องฝุ่น PM2.5 เนื่องจากใกล้ถึงฤดูฝุ่นสูงแล้ว สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในการรับมือฝุ่น PM2.5 ปัจจุบันเรามีข้อมูลต่างๆ มากขึ้น เช่น ฝุ่นมาจากไหน มีมาตรการอย่างไร การพยากรณ์เป็นอย่างไร รวมถึงได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่ แถบสีต่างๆ จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ต้องรีบหารือกับรัฐบาล เนื่องจากหลายส่วน กทม.ควบคุมไม่ได้ เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของทางรัฐบาลอยู่แล้ว

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนการสร้างรถไฟฟ้า 2 สายคือสายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ และพระโขนง-ท่าพระ) และสายสีเงิน (บางนาบางโฉลง-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ซึ่งสายสีเทารูปแบบการจัดสร้างจะคล้ายสายสีเหลืองและสายสีชมพู หากให้รัฐบาลทำก็จะมีประโยชน์มากกว่า เพราะการเดินทางจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นของรัฐบาล ส่งผลให้การทำตั๋วมีประโยชน์มากกว่า สอดคล้องกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ส่วน กทม.จะทำในส่วนของรถฟีดเดอร์นำมารับส่ง-คนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า กทม.เป็นท้องถิ่นพอมีกำลังจะทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะ

ปลื้มเก็บรายได้ทะลุเป้า

นายชัชชาติกล่าวว่า ปีนี้ กทม.จัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างดี ตัวเลข ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 จัดเก็บได้ 91,319,809,630.11 บาท คิดเป็น 115.59% จากที่ประมาณการไว้ 79,000 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะจัดเก็บภาษีได้ถึง 97,000 ล้านบาท หากดูรายละเอียด ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจัดเก็บได้ค่อนข้างดีประมาณ 11,000 ล้านบาท จะเห็นว่าการจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากได้เร่งทำฐานข้อมูลมากขึ้นและส่งใบเก็บภาษีได้ถึง 1 ล้านคน รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเองมีประมาณ 19,000 ล้านบาท รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ประมาณ 72,000 ล้านบาท รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ได้มากที่สุดคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 37,285 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่มมี 2 ส่วน คือ แบ่งตามจุดซื้อขายและแบ่งตามจำนวนประชากร ปัจจุบันจำนวนประชากรที่ลงทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯมีจำนวนหนึ่ง แต่จำนวนประชากรแฝงมีเกือบถึง 10 ล้านคน คงต้องหารือกันว่าการให้ทะเบียนประชากรสอดคล้องกับจำนวนประชากรที่อยู่จริง เพื่อจะทำให้ได้งบประมาณสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

จ่อปิดช่องทำเกษตรเลี่ยงภาษี

นายชัชชาติกล่าวว่า ด้านภาษีรถยนต์เก็บได้ถึงประมาณ 17,000 ล้านบาท ยังมีผู้ที่ยังไม่จ่ายอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท กทม.ได้ทำเอ็มโอยูกับกรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้ว เพื่อเร่งเก็บภาษีส่วนนี้เพิ่ม การเก็บภาษีในแต่ละเขต มีหน่วยงานที่เก็บภาษีได้เกินเป้า 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1.กองรายได้ 2.เขตลาดกระบัง 3.เขตลาดพร้าว 4.เขตสวนหลวง 5.เขตจตุจักร 6.เขตหนองจอก 7.เขตห้วยขวาง แต่มีบางเขตที่เก็บได้น้อย เช่น เขตดอนเมืองเก็บได้เพียง 38% เนื่องจากกระทรวงการคลังเปลี่ยนวิธีคำนวณการประเมินภาษี ทำให้ภาษีที่ดินแปลงใหญ่จากแต่ก่อนอาจเก็บได้อัตราหนึ่ง แต่เมื่อมีการปรับวิธีการคำนวณประเมินใหม่การเก็บภาษีจึงเก็บได้ลดลง เพราะฉะนั้นรายละเอียดเหล่านี้เราให้ฝ่ายรายได้ศึกษา 2 ประเด็น คือ 1.การปรับวิธีการคำนวณราคาประเมินทำให้มีการสูญเสียรายได้ที่ควรจะเป็นเท่าใด 2.พื้นที่การเกษตรที่ผิดวัตถุประสงค์ คือพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อหวังลดภาษีมีเท่าใด เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องต้องหารือกับรัฐบาลว่ามีข้อแนะนำอย่างไร

ผู้กองถึงเมืองคอนแก้ราคามังคุด

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 4 กันยายน ที่ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อม นายอนุชา นาคาศัย และนายไชยา พรหมา 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรฯ เดินทางมารับทราบปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนมังคุดในพื้นที่ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช โดยมี ส.ส.นครศรีธรรมราช และหน่วยงานราชการร่วมให้การต้อนรับ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า วันนี้ดีใจที่ได้มีโอกาสมาพบกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องอดีตที่ผ่านมาไม่ต้องพูดถึง มาหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ส่วนปัญหาเรื่องลึกๆ ที่เกิดขึ้น มีข้อมูลหมดแล้ว จะดำเนินการแก้ไขต่อไป

ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัสได้เดินทางต่อไปยังห้องประชุมอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลพรหมโลก อ.พรหมคีรี เปิดโอกาสให้ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนมังคุดระบายความรู้สึกของผลผลิตที่ไม่ได้ราคาและเสนอหนทางแก้ปัญหา ก่อนที่ ร.อ.ธรรมนัสจะกล่าวว่า ก่อนเดินทางมารับทราบปัญหา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำชับว่า เดินทางมาครั้งนี้ไม่ใช่แค่มาทำข่าว ถ่ายรูปแล้วกลับไปโดยไม่ได้แก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกรอย่างจริงจัง การมาเพื่ออีเวนต์ไม่ใช่สไตล์การทำงานของเรา ดังนั้น วันนี้อยากฟังความจริงแล้วหาวิธีการแก้ไขปัญหาทั้งระยะเร่งด่วนที่เกิดวิกฤตขณะนี้ ระยะกลางและระยะยาวว่าจะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมังคุดอย่างไรบ้าง

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า มาหนนี้ขอแก้ปัญหาเรื่องราคามังคุดตกต่ำก่อน ต่อไปก็คงจะมาแก้ปัญหาราคาเงาะ ทุเรียน และยางพารา รวมทุกปัญหาใน 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่อยากเห็นปัญหาเกิดแล้วถึงมาแก้ แต่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขให้พี่น้องเกษตรกรมีความอยู่ดีกินดี

สั่งปลัดเกษตรตั้งจุดรับซื้อพุธนี้

“วันนี้ต้องกระจายมังคุดกว่าหมื่นตันให้เร็ว โดยให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดรับซื้อก่อน ฝากผู้ว่าฯนครศรีธรรมราชและหน่วยงานในจังหวัดต้องคิดทำให้เกิดนครศรีธรรมราชโมเดล ตั้งคณะทำงานมาแก้ปัญหาผลผลิตของเกษตรกร อย่าง จ.พะเยา บ้านของผมแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือก ผมทำมาแล้ว เรามาร่วมบูรณาการโดยให้เจ้าเมืองช่วย เสียดายมากท่านจะเกษียณแล้ว ถือโอกาสสั่งการแก้ปัญหาเร่งด่วนในการกระจาย มังคุดที่เหลือเพื่อเป็นการแทรกแซงราคาทุกเกรด ทุกหน่วยงานรับนโยบายไปทำเลย เปิดจุดรับซื้อด่วนให้ผู้ซื้อผู้ขายตกลงกัน” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวด้วยว่า จะให้สหกรณ์ทั่วประเทศช่วยกันระบายผลผลิตมังคุดที่ล้นตลาด และกรมการค้าภายในจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยในวันที่ 9-10 กันยายนนี้จะประชุมหามาตรการทั้งระยะสั้น กลางและยาว โดยในวันที่ 6 กันยายนนี้ปลัดกระทรวงเกษตรต้องเร่งระบายมังคุดโดยด่วน นอกจากนี้ก็จะเข้าประชุมร่วม 3 ฝ่าย มีทั้งหน่วยงานจากกระทรวงเกษตร และพาณิชย์เข้าร่วมแก้ไข และในวันที่ 8 กันยายนนี้จะมีมาตรการแก้ไขออกมา

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ร.อ.ธรรมนัสยังได้เดินทางต่อไปตรวจเยี่ยมชมมังคุดแปลงใหญ่ มังคุดตำบลทอนหงส์ และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังลุง จำกัด หมู่ 1 ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ส.อบจ.เมืองคอนแนะทางออก

ก่อนหน้านี้ นายอุดมศักดิ์ นวลนุช ส.อบจ.นครศรีธรรมราช เขต อ.พรหมคีรี กล่าวถึงสถานการณ์ราคามังคุดที่ตกต่ำอย่างหนักว่า ขณะนี้เป็นช่วงปลายของฤดูกาลมังคุด จะมีน้อยและลูกเล็กลง ลูกใหญ่เก็บขายไปหมดแล้ว ดังนั้น ราคาลูกเล็กส่งออกต่างประเทศไม่ได้ก็ต้องขายในประเทศ ราคาจึงตกลงมาและบางล้งก็ปิดตัวลง เหลือไม่มากที่จะขายภายในประเทศ ความจริงแล้วการกินมังคุดถ้าจะให้อร่อยต้องกินลูกเล็กๆ

“ราคามังคุดแต่ละปีไม่สามารถคาดการณ์ได้ ราคาตลาดส่งออกแต่ละปีไม่เท่ากัน อยู่ที่พ่อค้ากำหนด ทางออกที่ดีของประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ต้องเปิดลงทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดทุกคน เรียนรู้วิธีการรักษาดูแลต้นมังคุดแบบใหม่ว่าจะผลิตมังคุดอย่างไรให้มีคุณภาพ นักวิชาการจะต้องลงมาให้ความรู้กันอย่างจริงจังและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากใครไม่ลงทะเบียนก็ขายเฉพาะในประเทศ ไม่ต้องส่งออก เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ย่อมทำให้ผลผลิตมังคุดดีมีคุณภาพ การส่งออกไม่ใช่สักว่าลูกโตแล้วจะขายได้ ต้องแบบผิวมัน หูสวย ก้านดีด้วย” นายอุดมศักดิ์กล่าว

นายอุดมศักดิ์กล่าวอีกว่า เชื่อว่าเกษตรกรทำได้หากทุกคนช่วยกับดูแล การลงทะเบียนไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ที่เหลือเป็นกลไกการตลาด ล้งต้องมีใบ GMP และเกษตรกรชาวสวนต้องมีใบ JAP หน่วยงานที่ดูแลต้องคุยกับผู้ส่งออกว่าเงื่อนไขการส่งออก 1 ตู้จะต้องมีใบ JAP ประกอบกี่ใบ กี่ไร่ ต่อผลผลิตมังคุด ใช้ซ้ำได้หรือไม่อะไรทำนองนี้ เพราะมังคุด 1 สวนจะเก็บเกี่ยวเป็นระยะเวลา 1-2 เดือนกว่าจะหมด

ร้องผู้ว่าฯโคราชขอจัดแข่งม้า

ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุนทร แพงไพรี นายกสมาคมเจ้าของคอกม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะกรรมการบริหารเดินทางมายื่นหนังสือกับนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯนครราชสีมา เรื่องขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับม้าแข่งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสนามม้าเป็นเวลากว่า 3 ปี

นายสุนทรเปิดเผยว่า วิกฤตซ้อนจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงทั้งคนและม้า โดยมีโควิด-19 และโรคกาฬโรคม้าแอฟริกาซึ่งมีม้าป่วยตายกว่า 600 ตัว สนามม้าโคราชตั้งอยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ถูกคำสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นเวลากว่า 3 ปี ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับม้าแข่งหลายหมื่นคนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจ๊อกกี้ คนเลี้ยงม้า เทรนเนอร์ หรือ ผู้ฝึกซ้อมม้าแข่งและผู้เลี้ยงม้าต้องตกงาน ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว แม้สนามม้าราชกรีฑาสโมสร กรุงเทพมหานคร จัดม้าแข่งเดือนละ 2 ครั้ง ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ภาพรวมอุตสาหกรรมม้าแข่งในประเทศได้รับผลกระทบเป็นห่วงโซ่ มูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท จึงขอความอนุเคราะห์ ผู้ว่าฯนครราชสีมาอนุญาตให้จัดแข่งขันม้าการกุศลเป็นกรณีพิเศษ

หวังม้าแข่งฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

นายสยามเปิดเผยว่า ผู้ประกอบอาชีพม้าแข่งโคราชต้องการขออนุญาตจัดแข่งขันม้ากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น สิ่งที่เป็นห่วงคือการพนัน จึงมีจำเป็นต้องมีกฎระเบียบกติกามาควบคุมให้รัดกุม ได้รับเรื่องนำมาพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและสนามแข่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 2 ต้องประสานขออนุญาตตามกระบวนการต่อไป

ด้านนายนาย แสนสุนนท์ อายุ 35 ปี ผู้ดูแลม้า กล่าวว่า มีรายได้จากม้าแข่งเฉลี่ยนัดละ 4,000-5,000 บาท หากม้าชนะก็ได้โบนัสเพิ่มกว่า 1 หมื่นบาท ปัจจุบันยังเลี้ยงม้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่าอาหาร ยาบำรุงม้าและอื่นๆ เฉลี่ยเดือนละ 1.5 หมื่นบาท ด้วยความหวังแสงสว่างปลายอุโมงค์ สนามม้าจะกลับมาเปิดอีกครั้ง ส่วนนายมนตรี พวงทอง อายุ 52 ปี เจ้าของร้านครัวกีตาร์ กล่าวว่า ผลกระทบจากสนามม้าปิดยอดขายลดกว่า 30% วิงวอนให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจเปิดสนามม้าโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับม้าได้ลืมตาอ้าปากมีรายได้เลี้ยงชีพ

อปท.เชียงใหม่ขอรัฐช่วยขุดลอก

นายบุญธรรม บุญหมื่น นายกเทศมนตรีตำบลขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงข้อเรียกร้องการบริหารจัดการน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่อรัฐบาล “เศรษฐา 1” ว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ อปท.มีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เนื่องจากใกล้ชิดเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตชลประทาน โดยจัดสรรงบให้ชลประทานขุดลอกและขยายคลองส่งน้ำหลักและคลองซอยให้ครอบคลุม ซึ่ง ต.ขัวมุง เป็นพื้นที่สีเขียว ทำเกษตรกรรม มีพื้นที่รับน้ำ 6,065 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นลำไย ข้าว พืชสวน ไม้ดอกไม้ประดับ และแปลงทุเรียนบางส่วน มีคลองส่งน้ำ อาทิ เหมืองทุ่งกู่ เหมืองหลวง เหมืองเพไร และคลองซอย ยาวกว่า 30 กิโลเมตร รวมพื้นที่ 7 หมู่บ้าน จาก 10 หมู่บ้าน

“ยังมีโคกหนองนา หมู่ 9 และแก้มลิง ที่รับน้ำได้เพียง 4,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ถ้าขยายแก้มลิง สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 10,000 ลบ.ม. สามารถใช้ในฤดูแล้งได้ รวมทั้งสร้างประตูระบายน้ำในช่วงฤดูฝน หรือร่องมรสุมพัดผ่าน รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพาะพันธุ์ปลา และใช้ในงานประเพณีท้องถิ่น อาทิ สงกรานต์ ลอยกระทง แข่งเรือ และมวยทะเล เพื่อสร้างจุดขายท่องเที่ยวด้วย”

อยากให้ผู้กองขึ้นมารับฟัง

นายบุญธรรมกล่าวอีกว่า เทศบาลมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำแบบครบวงจร อาทิ อาคารระบายน้ำเหมืองฝาย ขุดเจาะบาดาลน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากเป็นเขตบาดาลน้ำตื้น ลึกไม่เกิน 10 เมตร ใช้งบลงทุนกว่า 20 ล้านบาท โดยเสนอแผนพัฒนาในปี 2567 ต่อชลประทานลำพูน ที่รับผิดชอบเขตชลประทาน ต.ขัวมุง ต.ดอนแก้ว ต.ท่ากว้าง อ.สารภี เชื่อมต่อคลองส่งน้ำทั้ง 3 ตำบล เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและภัยแล้งแบบยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีกว่าเดิม เพราะน้ำคือชีวิตเกษตรกร

“ที่สำคัญอยากให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มารับฟังปัญหาท้องถิ่น และกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อแลกเปลี่ยนและเพิ่มบทบาท อปท. บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือของชลประทาน และเครือข่ายภาคีผู้ใช้น้ำดังกล่าว เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต สร้างงานและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นด้วย” นายบุญธรรมกล่าว

เสนอพท.ตั้งกองทุนซื้อชุดสูบน้ำ

นายพสธร หมุยเฮบัว ผู้ใหญ่บ้านโนนสำราญ หมู่ 4 รองประธานวิสาหกิจกลุ่ม ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านแฝก-โนนสำราญ ต.สามเมือง อ.สีดา จ.นครราชสีมา ได้แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายการบริหารจัดการน้ำของพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า นโยบายที่ พท.ได้หาเสียงไว้ อาทิ น้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง และประชาชนต้องมีน้ำดื่มน้ำใช้ตลอดปี, เร่งรัดเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จาก 35 ล้านไร่ เป็น 50 ล้านไร่ หรือ 40% ภายในปี 2570, สร้างเขื่อน ฝาย และแก้มลิง, ใช้ระบบน้ำใต้ดิน ทั้งบ่อตื้นและบ่อลึก ให้ประชาชนทุกครัวเรือนมีน้ำใช้อุปโภคบริโภคฟรี และจัดทำชลประทานบาดาลน้ำลึกระดับตำบลเพื่อการเกษตร เป็นต้น มองว่าทำได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยเฉพาะเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบกับปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก หลายพื้นที่ต้องอาศัยน้ำฝนเพาะปลูกพืช เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ อย่างที่ อ.สีดา ไม่มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเลย เมื่อประสบปัญหาภัยแล้ง ชาวนาต้องพากันขุดเจาะน้ำบาดาล และใช้แผงโซลาร์เซลล์ทำไฟฟ้ากับเครื่องสูบน้ำ เพื่อดูดน้ำจากใต้ดินมาหล่อเลี้ยงข้าวในนา แต่ต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก เฉพาะชุดอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์และเครื่องสูบน้ำ ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท หากรวมกับค่าแรงขุดเจาะบาดาลอีก 10,000 บาท ต้องใช้เงินกว่า 40,000 บาทเลยทีเดียว อยากเรียกร้องให้พรรค พท. มีนโยบายกองทุนหรือแหล่งเงินทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนนำไปซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน อยากฝากเรื่องนี้ให้ช่วยพิจารณาด้วย

‘ธรณ์’ฝากรบ.ใหม่7เรื่องทะเลไทย

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กฝากถึงรัฐบาลใหม่ ขอเสนอ 7 ประเด็นใหญ่ในทะเลไทย ดังนี้ 1.ปะการังฟอกขาวที่อาจแรงในต้นปีหน้า ต้องเร่งเตรียมพร้อมสำรวจติดตามและออกมาตรการให้ทันท่วงที รวมถึงมีทางเลือกหากจำเป็นต้องปิดท่องเที่ยวในแนวปะการังบางแห่งที่ฟอกขาวรุนแรง 2.ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี (น้ำเขียว) ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชายฝั่งทะเล เราต้องหายกระดับการเก็บข้อมูลเพื่อการเตือนภัย รวมถึงหาแนวทางในการแก้ต้นเหตุที่เกิดจากมนุษย์ 3.การส่งเสริมสนับสนุนระบบนิเวศทางทะเลเพื่อดูดซับ/กักเก็บคาร์บอน เป็นประเด็นใหม่และละเอียดอ่อน ต้องทำความเข้าใจให้ดีและมีมาตรฐานที่ยอมรับได้ รวมถึงกระจายการมีส่วนร่วมไปหาชุมชนให้มากที่สุด 4.การใช้เทคโนโลยีและแนวทางใหม่ๆ ในการสำรวจติดตาม ลาดตระเวนปกป้องธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เช่น Smart Patrol ทั้งในทะเลและบนบก

ชูอันดามันมรดกโลกค้างมา20ปี

5.ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎกติกาของโลกในการส่งออกสินค้าประมง อีกทั้งยังเกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อการพัฒนาต่างๆ เช่น โลมา/สะพานทะเลสาบสงขลา 6.การสนับสนุนอันดามันมรดกโลก ติดค้างมาเกือบ 20 ปี ตอนนี้ต้นเรื่องเข้าไปที่ยูเนสโกแล้ว รอแค่เขามาเช็ก เราเตรียมพร้อมแค่ไหน นี่จะเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ และจะเกี่ยวข้องตรงๆ กับการท่องเที่ยวที่รัฐบาลตั้งเป้าจะยกระดับเพื่อหารายได้เข้าประเทศ และ 7.โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ที่เราคิดจะลงทุน ผลกระทบจะมีมากไหม คุ้มค่าหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ต้องมีข้อมูลเพียงพอและใช้เหตุผลในการตัดสินใจ

ผศ.ดร.ธรณ์โพสต์ตอนท้ายว่า “2 ผลงานที่ชี้วัดในระยะ 3-6 เดือนคือบทบาทของไทยในการประชุมโลกร้อน COP28 ธันวาคมปีนี้ และการรับมือเอลนิโญที่มาแล้วและจะแรงขึ้นไปจนถึงสิ้นปี/ปีหน้า ผมไม่ทราบว่าเขา ตัดเกรดกระทรวงกันตรงไหน แต่ถ้าวัด จากประเด็นที่ทั่วโลกพูดกันในตอนนี้ นี่คือกระทรวงเกรด A แน่นอน จึงอยากเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่เข้ามารับงานดูแลทรัพยากร/สิ่งแวดล้อมของประเทศชาติ เพื่อทำผลงานเกรด A ครับ”

 

 

ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 5 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200