กทม.ประสาน กฟน.-กสทช.ตรวจสอบระบบไฟฟ้า-สายสื่อสาร-จุดเสี่ยงต่าง ๆ ป้องกันเหตุเพลิงไหม้
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นจากหม้อแปลงไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าลัดวงจรว่า ปัจจุบันเหตุหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดและเพลิงลุกไหม้น้ำมันที่บรรจุอยู่ในหม้อแปลงไฟฟ้าแล้วลุกลามไหม้สายสื่อสารเริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สปภ.จะได้บูรณาการความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการ หรือแนวทางป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นจากหม้อแปลงไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงตรวจสอบระบบไฟฟ้าและจุดเสี่ยงต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า ในส่วนของ สนย.ได้ประสาน กฟน.และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อตรวจสอบระบบไฟฟ้าและจุดเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีสายไฟฟ้าอยู่รวมกับสายสื่อสาร รวมทั้งปรับปรุงและจัดระเบียบให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันเหตุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งนี้ กทม.ได้ประสานความร่วมมือ กฟน. และ กสทช.จัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันดำเนินการแล้ว 44 เส้นทาง ระยะทางรวม 190 กิโลเมตร และจะเร่งดำเนินการในจุดเสี่ยงอื่น ๆ ต่อไป
กทม.เตรียมเพิ่มจุดพักคอย-จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในตลาดนัดจตุจักร พร้อมจัดระเบียบทางเข้าโดยรอบ
นายศุภพิพัฒน์ บัลนาลังก์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตตลาดนัดจตุจักรมีจุดนั่งพักน้อย ถังขยะ และห้องน้ำไม่เพียงพอ อีกทั้งวินรถจักรยานยนต์รับจ้างและผู้ค้าด้านนอกตลาดตั้งวางสินค้ากีดขวางบนทางเท้าว่า สงต.ได้สำรวจพื้นที่ว่างบริเวณต่าง ๆ เพื่อจัดให้เป็นจุดนั่งพักคอย ปัจจุบันมีทั้งพื้นที่ว่างในโครงการบริเวณหอนาฬิกา รวมทั้งพื้นที่ว่างริมถนนภายในตลาดนัดฯ ที่สามารถนำพื้นที่ดังกล่าว มาให้บริการเป็นจุดพักคอย จำนวน 7 จุด อาทิ บริเวณพื้นที่ลานเร่หอนาฬิกา พื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงาน อย่างไรก็ตาม สงต.จะจัดหาพื้นที่สำหรับบริการจุดนั่งพักคอยเพิ่มเติม เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวต่อไป สำหรับจุดบริการทิ้งขยะภายในตลาดนัดฯ ได้ตั้งถังขยะไว้บริเวณด้านหน้าห้องน้ำ-ห้องสุขาทั้งหมด 8 จุด และตั้งถุงดำบริเวณเสาไฟฟ้าริมถนนโดยรอบตลาดนัดฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้บริการในวันจัดตลาดนัด (วันเสาร์ – อาทิตย์) เป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีรถวนเก็บขยะตลอดทั้งวัน เพื่อไม่ให้มีขยะตกค้างภายในตลาดนัดฯ ส่วนการบริการห้องน้ำ-ห้องสุขา ปัจจุบันตลาดนัดฯ มีห้องน้ำ-ห้องสุขา จำนวน 8 จุด ตั้งอยู่บริเวณถนนโดยรอบตลาดนัดฯ 4 จุด และภายในโครงการอีก 4 จุด โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด นอกจากนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการให้สิทธิเอกชนเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ห้องน้ำ-ห้องสุขา เพื่อรอการประกวดราคาหาผู้รับสัมปทานต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้มาใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ บริเวณประตูทางเข้าตลาดนัดฯ ทั้ง 3 ประตู จะมีแผนผังตลาดนัดฯ ขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ และแผ่นพับขนาดเล็กแจกฟรีให้กับผู้มาใช้บริการบริเวณประตูทางเข้าทุกประตู นอกจากนี้ สงต.ยังได้กำหนดจุดบริการรถแท็กซี่ (Taxi) บริเวณทางออกประตู 1 ด้านถนนกำแพงเพชร 2 โดยในวันจัดตลาดนัด (เสาร์ – อาทิตย์) ระหว่างเวลา 12.00 – 17.00 น. จะมีรถแท็กซี่เข้ามารับผู้โดยสารประมาณวันละ 400 คัน เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดบนถนนบริเวณโดยรอบตลาดนัดฯ
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวว่า สำนักงานเขตจตุจักร ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันและประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งขอความร่วมมือวินรถจักรยานยนต์รับจ้างไม่ให้กีดขวางทางสัญจรของผู้ใช้ทางเท้า ส่วนกรณีผู้ค้าตั้งวางสินค้า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่จัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยบริเวณ รถไฟฟ้า BTS สถานีหมอชิต ถนนพหลโยธิน ห้ามผู้ค้าตั้งวางแผงค้าในบริเวณดังกล่าวโดยเด็ดขาด ขณะเดียวกันได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ค้า ซึ่งผู้ค้าให้ความร่วมมือดำเนินการ หากมีผู้ค้าฝ่าฝืนฯ สำนักงานเขตฯ จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 โดยจับปรับในอัตราสูงสุด 2,000 บาท พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายแผงค้าออกจากพื้นที่ทันที ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันและขอความร่วมมือไม่ให้ผู้ค้าตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางสัญจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่สัญจรบริเวณดังกล่าวต่อไป
กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลรองรับผู้ป่วยจากเชื้อไวรัส RSV ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงปลายฤดูฝน อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด 19 โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค จัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย จัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูฝน ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัส RSV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการรักษาตามอาการ เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ ทั้งรับประทานและฉีด ไม่มีวัคซีน การรักษาคือ พ่นยา ดูดเสมหะ ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำยาลดไข้ พร้อมจัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันและรักษาโรค ตั้งจุดคัดกรองด้านหน้าทางเข้าโรงพยาบาล ตรวจวัดอุณหภูมิ จัดจุดบริการเจลล้างมือให้ประชาชนที่มารับบริการที่โรงพยาบาล รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง กำหนดมาตรการการรักษาและวินิจฉัยโรค พร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมและรักษาโรคไวรัส RSV เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าวภายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิเด็กทุกคนก่อนเข้ามาภายในศูนย์ฯ หากพบจะแจ้งผู้ปกครองพาพบแพทย์ตรวจรักษาต่อไป หรือหากเด็กภายในศูนย์ฯ มีอาการป่วยด้วยโรคติดต่อ เจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคภายในบริเวณศูนย์ฯ ทันที
นอกจากนั้น สนพ.ยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และประชาสัมพันธ์สร้างความความเข้าใจ ย้ำเตือนประชาชนต้องระมัดระวังดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและครบ 5 หมู่ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ ล้างมือให้สะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สำหรับผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้มาฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นและวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถฉีดพร้อมกันได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง ติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่รับบริการเป็นประจำ หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ “กระเป๋าสุขภาพ” แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าโรงพยาบาลสังกัด กทม.จองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ส่วนผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถ โทร.สายด่วน สปสช.1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ความรู้โรคติดต่อและการป้องกัน เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ แผ่นปลิว สื่ออินเทอร์เน็ต ให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่งประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สุขศึกษาแก่ประชาชน โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลผู้สูงอายุในการดูแลรักษาสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ โดยเฉพาะในสถานที่ที่คนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า สถานดูแลผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือแจ้งเตือนมาตรการการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อไวรัส RSV รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขต เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ ประชาชนผู้มารับบริการ ผู้ปกครองและนักเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ นอกจากนั้น ในสถานศึกษายังจัดให้มีมาตรการคัดกรองนักเรียนในสถานศึกษา โดยคัดกรองเด็กก่อนที่จะเข้าสถานศึกษา หากพบเด็กป่วยให้ผู้ปกครองพากลับบ้าน เพื่อไปพบแพทย์ทันทีและแนะนำให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ หากพบเด็กป่วยในโรงเรียนให้ทำความสะอาดห้องเรียนด้วย
กทม.หารือ รฟม.เร่งคืนผิวจราจร-แก้ปัญหาระบบระบายน้ำพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองว่า สนย.ได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในถนนที่ กทม.รับผิดชอบเข้าร่วมประชุมติดตามเร่งรัดการดำเนินการคืนผิวจราจรและการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.66 เพื่อบูรณาการความร่วมมือ พร้อมเร่งรัดให้แก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางการก่อสร้าง อาทิ ปัญหาผิวจราจร ทางเท้า ไฟฟ้าส่องสว่าง และปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ ขณะเดียวกันได้แจ้งหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดทำแผนการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ จัดเตรียมความพร้อมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกล เพื่อลงพื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมขังหากมีฝนตกหนักในพื้นที่ก่อสร้าง และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้ทันทีที่เกิดเหตุ
กทม.เร่งช่วยเหลือผู้ประสบเหตุต้นไม้ล้มทับบ้านเรือนในซอยเทอดไท 23
ว่าที่ร้อยตรีเดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุต้นไทรขนาดใหญ่ล้มทับบ้านเรือนในซอยเทอดไท 23 ได้รับความเสียหาย 3 หลัง ภายหลังมีฝนตกหนักต่อเนื่องว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบต้นไทรขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่เอกชน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นประมาณ 60 เซนติเมตร ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตัดกิ่งขนาดใหญ่ที่หักโค่นล้มทับบ้านเรือนประชาชนเรียบร้อยแล้ว ส่วนการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.ได้ลงพื้นที่มอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบเหตุ ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะได้ออกหนังสือรับรองผู้ประสบเหตุวาตภัยตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับการตัดแต่งต้นไม้ สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามแผนตัดแต่งต้นไม้ตามแนวสายไฟฟ้า ถนนสายต่าง ๆ และสวนหย่อมที่อยู่ในพื้นที่ กรณีต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่เอกชน สำนักงานเขตฯ ได้จัดทำประกาศสำนักงานเขตธนบุรี เรื่องตรวจสอบความแข็งแรงของต้นไม้ใหญ่บริเวณบ้านพักอาศัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงการหักโค่นล้มในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หรือลมกระโชกแรง และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน