อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยสำนักงานเขตฯ เป็นเพียงผู้ตรวจสอบโครงการที่อยู่ในพื้นที่เขตจตุจักรให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณข้างเคียง ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 โครงการยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างต่อสำนักงานเขตฯ ทั้งนี้ หากมีการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง สำนักงานเขตฯ จะตรวจสอบความถูกต้องตามข้อกฎหมายทั้งด้านผังเมืองและด้านควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัดต่อไป
กทม.ประสาน รฟม.ปรับรูปแบบ-ตำแหน่งสะพานลอยคนข้ามสี่แยกไฟฉายเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าทุกทิศทาง
นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณสี่แยกไฟฉายว่า สำนักงานเขตบางกอกน้อย ได้ประสานสำนักการโยธา (สนย.) ได้รับแจ้งว่า บริเวณแยกไฟฉายที่เกิดจากถนนจรัญสนิทวงศ์ตัดถนนพรานนกและถนนตัดใหม่ต่อเชื่อมจรัญสนิทวงศ์ – กาญจนาภิเษก ปัจจุบันมีสะพานลอยคนข้ามในแนวถนนพรานนกและในแนวถนนตัดใหม่แล้ว เหลือเพียงในแนวถนนจรัญสนิทวงศ์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดเตรียมรูปแบบและงบประมาณการก่อสร้างไว้แล้ว แต่เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่จะไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางจากสะพานลอยคนเดินข้ามไปยังสถานีรถไฟฟ้า จึงได้ประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนรูปแบบและตำแหน่งสะพานลอยคนเดินข้ามใหม่ให้สามารถต่อเชื่อมเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าได้จากสะพานลอยคนข้ามในทุกทิศทาง ซึ่งได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดินในตำแหน่งที่จะก่อสร้างฐานรากสะพานลอย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างสะพานลอยได้ในเดือน ต.ค.66 และจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.67 โดยในระหว่างที่สะพานลอยยังไม่แล้วเสร็จประชาชนสามารถใช้ทางขึ้น – ลงของสถานีรถไฟฟ้าไฟฉาย เพื่อข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์เป็นการชั่วคราวไปได้ก่อน
สำหรับประชาชนในชุมชนวัดใหม่ยายมอญที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของหน่วยงานราชการ เป็นกรณีพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับประชาชนที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยบุกรุกพื้นที่ รฟท.แบ่งเป็น 2 กรณี ประกอบด้วย กรณีคดี รฟท.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ เพื่อนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้ประชาชนที่บุกรุกย้ายออกจากพื้นที่พิพาท ปัจจุบัน รฟท.ได้รื้อถอนอาคารรุกล้ำออกหมดแล้ว ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้บุกรุกไม่มีที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ได้เข้ามาดูแลแล้ว และกรณีส่วนที่เหลืออีก 6 หลัง ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาลที่จะตัดสินในวันที่ 20 ก.ย.66 รวมถึงการร้องเรียนกรณีน้ำท่วม เป็นส่วนที่ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาล
กทม.เร่งตรวจสอบความปลอดภัยโครงสร้างอาคารเก่าริมถนนเจริญกรุง
นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของอาคารเก่าบริเวณริมถนนเจริญกรุง ภายหลังมีแผ่นกันสาดปิดบังตัวอาคารถล่มลงมาว่า สำนักงานเขตบางคอแหลม ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สิน รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยโครงสร้างและความแข็งแรงของอาคาร โดยเบื้องต้นได้ประสานเจ้าของอาคาร เพื่อแก้ไขให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยต่อการใช้งานแล้ว ขณะเดียวกันมีแผนที่จะตรวจสอบอาคารเก่าที่มีอายุการใช้งานมานาน หรืออาคารที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อจะได้แจ้งและออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เจ้าของอาคารปรับปรุงแก้ไขอาคารให้มีความปลอดภัยในการใช้งานตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 นอกจากนั้น จะเร่งประชาสัมพันธ์แนะนำเจ้าของอาคารและผู้ใช้อาคารให้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบอาคารและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอาคารที่มีอายุมากให้ครอบคลุมพื้นที่เขตต่อไป