กทม.ชงรัฐบาลลงทุนรถไฟฟ้า สายใหม่’สีเงิน-เทา’7.7หมื่นล้าน

กทม.ส่งการบ้านรัฐบาลเศรษฐา รอความชัดเจนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท เตรียมแผนผุดรถไฟฟ้าใหม่ 3 สาย 9.2 หมื่นล้าน โยก “สายสีเทา” ช่วงวัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ 2.9 หมื่นล้าน กับ “สายสีเงิน” ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ 4.8 หมื่นล้าน เจรจาให้รัฐบาลลงทุนเพราะจุดตัดเยอะทำให้มีปัญหาค่าแรกเข้า วงเงินลงทุนรวม 7.7 หมื่นล้าน จี้เร่งตัดสินใจ สายสีเขียวปมต่อสัญญา 30 ปี-แก้หนี้ค่าจ้างเดินรถบีทีเอส เล็งเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ส่วนต่อขยายสีเขียวเส้นทางคูคต-บางปู ภายในปลายปี 2566 นี้

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแล ภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานของ กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก มีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทาง กทม.เตรียมนำเสนอแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาการลงทุน โดยเป็นการศึกษาความเป็นไปได้จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย บางหว้า- ตลิ่งชัน, รถไฟฟ้าสายสีเทา และรถไฟฟ้าสายสีเงิน มูลค่ารวม 92,314 ล้านบาท

รถไฟฟ้าใหม่ กทม. 9.2 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ รายละเอียดมูลค่าลงทุน 92,314 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน มูลค่าลงทุน 14,804 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ วงเงินลงทุน 29,130 ล้านบาท และ 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 48,380 ล้านบาท

รศ.วิศณุกล่าวว่า การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนใหม่ทั้ง 3 เส้นทางเป็นแผนงานเดิมของ กทม. ปัจจุบัน นโยบายการลงทุนภายใต้ทีมชัชชาติมีจุดเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี (ปลอดภัยดี โปร่งใสดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี สังคมดี เรียนดี บริหารจัดการดี)

ประกอบกับพิจารณาโดยคำนึงขอบเขตอำนาจของ กทม. ในกรณีรถไฟฟ้าสร้างเสร็จในอนาคต การใช้บริการของผู้โดยสารจะต้องไร้รอยต่อ โดยเฉพาะในด้านการกำหนดอัตรา ค่าโดยสารที่จะต้องไม่เป็นภาระการเดินทางของคนกรุงมากเกินไป

ดังนั้น รถไฟฟ้าใหม่ทั้ง 3 สาย เบื้องต้น กทม.จึงมีนโยบายลงทุนก่อสร้างเอง 1 สาย คือ สายสีเขียวส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน เพราะมีระยะทางสั้น ๆ 7 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี วงเงินลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาทบวกลบ เหตุผลเพราะอยู่ในพื้นที่ทางปกครองของ กทม.โดยตรง

“สายสีเขียวน่าทำเอง เพราะไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่แล้ว สภาพปัจจุบันมีความเจริญของเมืองเริ่มขยับขยายออกไป มีประชาชนอาศัยอยู่มากขึ้นกว่าเดิม ตอนนี้กำลังขออนุมัติ EIA”

โยก “สีเทา-เงิน” ให้ รฟม.สร้าง

อีก 2 สาย คือ สายสีเทากับสายสีเงิน เตรียมเสนอโครงการให้รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับไปดำเนินการ มูลค่าลงทุนรวม 77,510 ล้านบาท ล่าสุดจะมีการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เร็ว ๆ นี้

เหตุผลหลักเพราะเป็นโครงการที่ใช้วงเงินลงทุนสูง แต่เหตุผลสำคัญกว่านั้นคือเป็นโครงการที่มีจุดตัดกับรถไฟฟ้าหลากสี ทำให้มีประเด็นเรื่องการจัดเก็บ “ค่าแรกเข้า” ในการเดินทางด้วย รถไฟฟ้าตั้งแต่ 2 ทอดขึ้นไป เช่น นั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้วไปต่อรถไฟฟ้าสาย สีชมพู การเปลี่ยนสายเปลี่ยนสีรถไฟฟ้าจะทำให้ต้องเริ่มต้นจ่ายค่าโดยสารใหม่ หรือที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 15 บาททันที

แต่ถ้าหากโครงการลงทุนโดยกระทรวงคมนาคม หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของคมนาคม ถือว่าเป็นเจ้าของโครงการรายเดียวกัน ทำให้สามารถยกเว้นค่าแรกเข้าได้ง่ายกว่า ตามแนวทางนี้จึงถือว่าวิน-วิน-วิน โดย กทม.ปลดภาระการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ เพื่อจะได้ทุ่มเทกับนโยบายดูแลเส้นเลือดฝอยของเมือง, รฟม.เป็นเจ้าของโครงการและมีศักยภาพในการลงทุน สุดท้าย ประชาชนมีค่าโดยสารที่ถูกลง

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเทา หากรัฐบาลรับไปพิจารณาก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะ กทม.ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว สามารถเดินหน้าเปิดประมูลและเปิดไซต์ก่อสร้างได้เลย ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเงินอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้โครงการ (feasibility) ซึ่งมีความคืบหน้าค่อนข้างมากแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ โจทย์การเมืองยังรวมถึงนโยบายหาเสียงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ซึ่ง กทม.กำกับดูแลสายสีเขียวเพียงสายเดียว คงไม่สามารถเป็นผู้กำหนดนโยบายได้เอง ต้องรอฟังนโยบายจากรัฐบาลว่าจะต้องให้ความร่วมมือหรือปฏิบัติอย่างไร

“นโยบายเดินทางดี โจทย์คือดูแลคนเดินทางเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ให้รถเดินทาง การให้คนเดินทางสะดวก ค่าใช้จ่ายไม่แพงเกินไป ถ้า กทม.ทำเองทั้ง 2 สายนี้จะมีจุดตัดเยอะมาก โดยเฉพาะสายสีเทาที่วิ่งผ่านเมือง เราก็กังวลเรื่องการเชื่อมทางเชื่อมต่อ ถ้า กทม.เป็นเจ้าของสายสีเทา การเดินทางเปลี่ยนสายที่จุดตัด ไม่ว่าจะเป็นสายสีเหลือง สีชมพู สีส้ม สีน้ำเงิน ค่าแรกเข้าต้องโดนดับเบิลไหม เพราะฉะนั้น ถ้าเลือกให้ประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็มีความชัดเจนระดับหนึ่งว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร ระหว่าง กทม.ทำเอง หรือให้ รฟม.ทำ”

ขอให้เร่งตัดสินใจสายสีเขียว

ด้านรถไฟฟ้าสายสีเขียว รองผู้ว่าราชการ กทม.กล่าวว่า รถไฟฟ้าสาย สีเขียวเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่มองว่ายังมีทางออก ซึ่งการบริหารจัดการต้องแยก 2 เรื่อง คือ 1.การเป็นแมสทรานสิตหรือระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ รัฐบาลจึงต้องซัพพอร์ตในเรื่องค่าก่อสร้าง เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ 2.นโยบายระดับรัฐบาลเกี่ยวกับค่าเดินทางในภาพรวม จะสามารถลดค่าใช้จ่ายประชาชนได้อย่างไร โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสีที่ 1 เข้าสีที่ 2 แล้วไปเจอ ค่าโดยสารที่เป็นค่าแรกเข้าดับเบิล

“อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะเริ่มต้นที่ 15 บาท เช่น ตลอดสายอาจอยู่ที่ 15-45 บาท หรือ 17-47 บาท กรณีนั่งรถไฟฟ้า สีที่ 1 แล้วต้องการต่อสีที่ 2 อีกเพียง 1-2 สถานี แต่ต้องเจอเรียกเก็บเริ่มต้น 15 บาท ทำให้เป็นค่าโดยสารที่ดับเบิลขึ้นมา ทำให้ค่าโดยสารแพงเกินกำลังผู้โดยสาร เพราะฉะนั้น ประเด็นค่าแรกเข้าจึงเป็นบทบาทรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้วิน-วิน”

โดยก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือแสดงความเห็นถึงรัฐบาลที่แล้ว 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.สัญญาสัมปทานสายสีเขียวไข่แดง ช่วงหมอชิตอ่อนนุช ที่มีกำหนดครบอายุ 30 ปีแรกในปี 2572 แต่มีการทำสัญญาค้างไว้ให้ต่ออายุสัมปทานอีก 30 ปี (2572-2602) ซึ่งการต่ออายุสัมปทานยังไม่มีผลตามกฎหมายโดยสมบูรณ์

ข้อเสนอทีมชัชชาติ คือ ในการต่อสัญญาสัมปทานถึงปี 2602 ควรพิจารณา ให้รอบคอบ และเสนอให้เข้ากระบวนการพิจารณาภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 หรือ พ.ร.บ. ร่วมทุน ความหมายคือควรเปิด ประมูลใหม่เป็นการทั่วไป เพื่อให้มี การแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้ กทม.และคนกรุงเทพฯได้ประโยชน์สูงสุด

2.ขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน ค่าโครงสร้างพื้นฐาน หรือค่าก่อสร้าง ในส่วน ที่ รฟม.เป็นผู้ออกเงินลงทุนส่วนต่อขยาย ที่อยู่นอกเขตอำนาจ กทม. ในเส้นทางไป คูคต จ.ปทุมธานี กับเส้นทางไปบางปู จ.สมุทรปราการ ซึ่ง กทม.ยังไม่มีการเรียก เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย เหตุผลเพราะยังไม่ได้รับโอนงานส่วนต่อ ขยายจาก รฟม. ทำให้เป็นข้อกังวลเรื่องความถูกต้องของการจ้างเดินรถ

และ 3.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่ค้างดำเนินการมานาน ทำให้มีมูลหนี้ค้างจ่ายมูลค่าสูง จากการมีสัญญาจ้างเดินรถระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจที่ กทม.ถือหุ้น 100% กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี

“สถานะการแก้ไขปัญหาสายสีเขียว กทม.จะเดินหน้าอะไร อย่างไร ก็ทำได้ลำบาก จะเริ่มเจรจาใหม่ก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ติดขัด ซึ่งมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็ต้องทำหนังสือนำเสนอ 3 ข้อนี้ให้พิจารณา ต่อไป” รศ.วิศณุกล่าว

เล็งเก็บค่าโดยสาร “คูคต-บางปู”

ขณะเดียวกัน ส่วนต่อขยายสายสีเขียวซึ่งเปิดบริการในปี 2563-2564 ทาง กทม.มีแผนเตรียมจัดเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ในสองเส้นทางคือ เส้นทาง หมอชิต-คูคต กับเส้นทางอ่อนนุช-บางปู เพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจะต้องให้ สภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ให้ความเห็นชอบ โดยที่ผ่านมา กทม.ได้ยื่นเรื่องเข้าสู่วาระประชุมสภา กทม.แล้ว แต่ทางสภา กทม.ยังไม่รับบรรจุเป็นวาระประชุม โดยบอกว่าเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งจะได้มีการประสานการทำงานร่วมกับสภา กทม.อย่างใกล้ชิดต่อไป

“การเก็บค่าโดยสารราคาเดียว 15 บาท ของส่วนต่อขยายคูคตกับบางปู คาดว่าถ้าเข้า สภา กทม.แล้วได้รับการอนุมัติ ขั้นตอนจากนั้นจะต้องประกาศล่วงหน้า 1 เดือน ก่อนจัดเก็บจริง ตามไทม์ไลน์ที่ต้อง ใช้เวลาประสานข้อมูลต่าง ๆ น่าจะเริ่ม ได้ภายในปลายปีนี้” รศ.วิศณุกล่าว 

 

ที่มา:  นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 – 6 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200