จี้รับระบายท่วมพื้นที่รถไฟฟ้า

ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนว่า จากพยากรณ์อากาศวันเดียวกัน พบว่ามีร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันออก วันเดียวกันคาดว่าจะมีฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

นายชัชชาติกล่าวว่า กทม.ได้มีการเตรียมความพร้อม อาทิ การพร่องน้ำในคลอง ระบบระบายน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนเรื่องที่กังวลคือการก่อสร้างของหน่วยงานนอกที่อยู่ในพื้นที่ โดยได้เร่งรัดไปแล้ว เช่น คูน้ำวิภาวดี ได้ให้ไปดูทางเดินน้ำทั้งหมด หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงบริเวณถนนสามเสน ซึ่งคราวที่แล้วมีเรื่องท่อระบายน้ำที่โดนตัดไป ก็ให้มีการทำทดแทน โดยให้สำนักการโยธาและสำนักการระบายน้ำติดตามใกล้ชิด หรือถนนแจ้งวัฒนะซึ่งมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ก็กำชับให้ดูเรื่องการระบายน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างแล้ว โดยหน่วยเคลื่อนที่ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดตลอด

นายชัชชาติกล่าวว่า ปีนี้เรื่องน้ำแล้งเป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากกว่าเพราะเริ่มมีน้ำเค็มรุกขึ้นมาแล้ว ซึ่งต้องหารือกับทางรัฐบาลด้วยว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นภาวะที่ค่อนข้างจะรุนแรง ในส่วนของกทม. ปีที่แล้วได้ทำฝายกั้นน้ำสะสมไว้สำหรับการทำการเกษตรในบางพื้นที่ จึงทำให้ยังพอมีน้ำมาทำเกษตรกรรมได้

จากนั้น ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง นายชัชชาติ เป็นประธานในการเปิดมหกรรมส่งเสริมสิทธิสวัสดิการ แก่คนพิการในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่ง กทม. ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคมผู้ปกครองบุคคล ออทิซึม (ไทย) สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้สนับสนุนภาคเอกชน บริษัท ซีพีแรม จำกัด และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานขึ้น โดยมีคนพิการทุกประเภทในเขตกรุงเทพฯ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

นายชัชชาติกล่าวว่า ขอเชิญชวนให้คนพิการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ผ่านระบบไลน์ ออฟฟิเชี่ยล แอ๊กเคาต์ ชื่อ “กรุงเทพฯ เพื่อทุกคน (Bangkok For All)” ที่กทม. ได้พัฒนาให้เป็นระบบจัดเก็บฐานข้อมูลคนพิการ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ของคนพิการ รวมทั้งเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างกทม.กับคนพิการ

นายชัชชาติกล่าวว่า การดูแลคนพิการนั้นกทม.ต้องดูแล ตลอดทั้งชีวิต ทั้งเรื่องการเดินทาง การศึกษา การเข้าถึงสิทธิ เข้าถึงอาชีพ ความรู้ เพื่อให้อยู่อย่างอิสระได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากนัก ซึ่งในอายุ 6 ปีแรกของคนพิการ เป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องได้รับการดูแล เป็นพิเศษอย่างถูกต้อง และใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วย เพราะเป็นช่วงที่พัฒนาการมากที่สุด

 

 

ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200