ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย จัดกิจกรรม โอเพ่นเฮ้าส์ให้สื่อมวลชนและผู้สนใจ ได้เยี่ยมชม “พระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย” พระวิหารแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งที่ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นพระวิหารลำดับที่ 185 ของศาสนจักร ซึ่งพระวิหารถือว่าเป็นพระนิเวศน์ของพระเยซูคริสต์ ผู้ที่เข้าภายในพระวิหาร ได้จะต้องเป็นสมาชิกศาสนจักรเท่านั้น ในการนี้ มี เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง อัครสาวก, เอ็ลเดอร์เควิน อาร์. ดันแคน ผู้อำนวยการบริหารแผนกพระวิหาร, เอ็ลเดอร์เจมส์ อาร์. ราสแบนด์ สาวกเจ็ดสิบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ในงานมอบหมายสำหรับแผนก พระวิหาร, เอ็ลเดอร์เบนจามิน เอ็ม. ซี. ไท ประธานฝ่ายประธานภาคเอเชีย, เอ็ลเดอร์เคลลี อาร์. จอห์นสัน ฝ่าย ประธานภาคเอเชีย และ เอ็ลเดอร์สุชาติ ไชยชะนะ สาวกเจ็ดสิบภาคในประเทศไทย พร้อมด้วย คณะเจ้าหน้าที่ศาสนจักรให้การต้อนรับ โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมเยี่ยมชม เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองอัครสาวก กล่าวว่า “ประเทศไทยให้อิสรภาพในการนับถือศาสนา ในประเทศไทยมีบุคคลและครอบครัว กว่า 23,000 คน ที่เป็นสมาชิกของศาสนจักร มีพระวิหารหลายแห่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับพระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทยนี้ จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะเป็น สื่อกลางและรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า ผ่านพิธีการต่างๆ ของศาสนจักรที่เป็นประโยชน์ และเป็นพรต่อครอบครัวและบุคคลในชีวิตนี้ และชีวิตหน้า พระวิหารยังเป็นสถานที่แห่งความ คารวะ เป็นที่หลบภัยอันเงียบสงบจากความกังวล ความฟุ้งซ่านและความมัวหมองของโลกนี้ นี่เป็นเหตุผลที่เรากล่าวว่า “ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า พระนิเวศน์ของพระเจ้าอยู่เหนือประตูพระวิหาร” พระวิหารที่สวยงามนี้จะรับใช้สมาชิกของศาสนจักรจากทั่วทั้งประเทศไทย และยินดีต้อนรับสมาชิกศาสนจักรจากทุกพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า “พระวิหารกรุงเทพฯ นับว่าเป็นพระวิหารที่มีความสวยงาม และ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของ กรุงเทพฯ ในอนาคต การมีพระวิหารแห่ง ศาสนจักรนี้ แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพมหานครนั้น เป็นเมืองแห่งพหุวัฒนธรรมที่แท้จริง เพราะไม่ว่าจะศาสนาใด วัฒนธรรมใดก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ สำหรับกรุงเทพมหานคร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมร่วมงานกับศาสนจักรในทุกมิติที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน”
พระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 1645/6 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เป็นพระวิหารลำดับที่ 185 ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย การออกแบบสถาปัตยกรรม ต่างๆ ได้รับการสร้างสรรค์อย่างพิถีพิถัน เพื่อแสดงถึงการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมศาสนจักร พระวิหารกรุงเทพฯ มีขนาด 48,525 ตารางฟุต สะท้อนลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมไทย อาทิ ลวดลายซ้อนทับรูปทรงข้าวหลามตัด หลายรูปแบบที่มีส่วนประกอบของดอกบัวและลายก้างปลา โคมไฟรูปทรงฉัตรคว่ำ พระวิหารมียอดแหลม 9 ยอดหลายขนาด แต่ละยอดครอบด้วยแผ่นลายฉลุที่ออกแบบให้กลมกลืนกับท้องฟ้าได้อย่างลงตัวและส่องแสงเรืองรองในยามค่ำคืน ภายในพระวิหารประกอบไปด้วยห้องพิธีกรรม เช่น ห้องรับคำสอน ห้องบัพติศมา ห้องผนึก แม้พระวิหารจะตั้งอยู่ย่านเศรษฐกิจ ที่มีการจราจรหนาแน่น แต่เมื่อเข้าสู่เขตพระวิหาร แล้วจะได้พบกับความสงบอย่างน่าอัศจรรย์
ทั้งนี้ จะมีพิธีอุทิศ พระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย ในวันที่ 22 ตุลาคม 2566 การอุทิศ หมายถึงการถวายพระวิหารไว้เพื่องานของพระเจ้า โดยพิธีจะประกอบด้วยบทเพลงนมัสการพระเจ้า คำปราศรัยจากผู้นำศาสนจักร การสวดอ้อนวอน อุทิศ เพื่อแยกอาคารนี้ไว้สำหรับงานของศาสนจักร และการแสวงหาพรจากสวรรค์บนโครงสร้าง พระวิหารและบริเวณโดยรอบ เมื่อประกอบพิธีอุทิศแล้ว ผู้ที่เข้าสู่พระวิหารได้จะมีแต่เพียงสมาชิกศาสนจักรเท่านั้น
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการสร้าง พระวิหารกรุงเทพฯ เสร็จสมบูรณ์ รวมถึงเพื่อ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม ทำความ รู้จักกับพระวิหารและศาสนจักร ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ขอเชิญผู้สนใจร่วมกิจกรรมโอเพ่นเฮ้าส์ได้ระหว่างวันที่ 1-16 กันยายน 2566 (ยกเว้นวันอาทิตย์) สามารถลงทะเบียนเข้าชมได้ที่ BangkokTemple.ChurchofJesusChrist.org
บรรยายใต้ภาพ
เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง มอบของที่ระลึกให้แก่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และ ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม.
เอ็ลเดอร์เจมส์ อาร์. ราสแบนด์, เอ็ลเดอร์สุชาติ ไชยชะนะ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ดร.พิจิตต รัตตกุล, เอ็ลเดอร์เคลลี อาร์. จอห์นสัน และ เอ็ลเดอร์เบนจามิน เอ็ม. ซี. ไท
เอ็ลเดอร์เคลลี อาร์. จอห์นสัน และ ซิสเตอร์เทอร์รี่ จอห์นสัน ให้การต้อนรับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล
ห้องรับคำสอน
ห้องผนึก สำหรับพิธีจัดแต่งงาน
พระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย สถาปัตยกรรมเรียบง่ายแต่สง่างาม
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2566