● โค้งสุดท้าย! ให้ความเห็นร่างระเบียบฯ ค่าบำบัดน้ำเสีย ได้ถึงวันพรุ่งนี้
(31 ส.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2547 ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 19 ปี แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการออกระเบียบหรือประกาศกรุงเทพมหานครเพื่อให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย จึงทำให้ยังไม่มีการเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสีย
“ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีค่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียจึงน่าจะเป็นแรงจูงใจให้ลดการใช้น้ำ โดยวัดจากมาตรน้ำประปา ซึ่ง 80% ของมาตรน้ำประปาคิดเป็นน้ำเสีย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโรงบำบัดน้ำเสียและมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้น้ำเสียมากกลายเป็นว่าต้องมาช่วยจ่าย จึงมีแนวคิดในการเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียโดยให้สอดคล้องกับหลักการ Polluter Pay Principle หรือหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เพื่อเป็นการลดรายจ่ายในการดำเนินการโรงบำบัดนำเสีย ลดต้นทุนในการจัดการมลพิษของเมือง และลดปริมาณของมลพิษที่เกิดขึ้นในเมือง อีกทั้งยังทำให้เกิดความตระหนักรู้และเกิดแรงจูงใจในการลดการใช้น้ำ อันจะส่งผลในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยรูปแบบที่จะจัดเก็บจะกระทบกับประชาชนตามบ้านเรือนน้อยที่สุด คือจะเก็บแต่เฉพาะผู้ประกอบการ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้เป็นการรับฟังความเห็นประชาชนก่อน ซึ่งจะสิ้นสุดวันพรุ่งนี้ (1 ก.ย. 66) โดยประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติ่มได้ที่ https://shorturl.asia/bhxaR และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างระเบียบและประกาศ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ฉบับ ได้ที่ https://shorturl.asia/oUdiE
● พร้อมหารือขอพื้นที่ใต้ทางด่วนที่เหลือทำลานกีฬาเพื่อประชาชน
กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดประมูลพื้นที่ใต้ทางด่วน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่สามารถนำพื้นที่ใต้ทางด่วนมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ เราก็ยินดีและสนับสนุน โดยคิดว่าเขาอาจจะไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมด ซึ่งหากมีพื้นที่เหลือที่สามารถหารือกันเพื่อนำมาพัฒนาเป็นลานกีฬาสำหรับประชาชนได้ ก็พร้อมหารือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
—————————