AIS ส่ง ‘อุ่นใจไซเบอร์’ สู่ 437 โรงเรียน กทม. สร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทยจากภัยยุคดิจิทัล

นับจากวันที่ “เอไอเอส” เริ่มต้นภารกิจส่งเสริมทักษะเด็กและเยาวชนใช้งานดิจิทัลอย่างชาญฉลาด หรือ DQ-Digital Intelligence Quotient เพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมกลั่นแกล้งออนไลน์ เข้าถึงสื่อลามก เสพติดเกมจนถึงการถูกหลอกให้ออกไปพบกับคนแปลกหน้า ด้วยการเปิดตัวโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” เมื่อปี 2562 ภายใต้หมุดหมาย “สร้างเด็กไทยให้รู้เท่าทันดิจิทัล” จากชุดการเรียนรู้แบบ 360 องศา พัฒนาจนเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการเสริมทักษะดิจิทัลหลักสูตรแรกของไทย ที่ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นำไปบรรจุในการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 29,000 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ปีการศึกษา 1/2566 ที่ผ่านมา

ล่าสุด เอไอเอส จับมือกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายภาครัฐอย่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ส่งต่อความรู้ให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง รวมกว่า 250,000 คน

ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัล พร้อมยกระดับดัชนี สุขภาวะดิจิทัลของกลุ่มนักเรียนให้อยู่ในระดับรู้เท่าทัน มีทักษะดิจิทัล สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย

ยกระดับการศึกษากรุงเทพมหานครครั้งสำคัญ”ศานนท์ หวังสร้างบุญ” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงนโยบายที่มุ่งเน้นการศึกษาคือการเรียนรู้ ต้องทำให้การศึกษาสามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐานโรงเรียนในสังกัด กทม. ให้ทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงการเรียนรู้ในห้องเรียน ต้องเป็นดิจิทัลคลาสรูม จากหนังสือตำราเรียนเปลี่ยนเป็นดิจิทัล ดีไวซ์ เพื่อเด็กนักเรียนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“ในโลกดิจิทัลนั้น คอนเทนต์ต่างๆ อาจนำพาเราไปสู่อีกด้านหนึ่ง หรือแม้แต่การหลอกลวงต่างๆ ดังนั้น การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเข้าใจเรื่องดิจิทัลถือเป็นเรื่องสำคัญ ขอบคุณเอไอเอสที่นำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้ กทม. นำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ให้ยกระดับไปอีกขั้น”

ตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์จะถูกนำเข้าไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอน ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยรอบ ในชุมชน รู้จักการใช้งานสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีแบบมีภูมิคุ้มกัน เพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ

เรียนรู้การใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย ภาคีสำคัญจากภาคสาธารณสุข “พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ” ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต อธิบายเป้าหมายในการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะอยู่ในโลกออนไลน์ตั้งแต่ตื่นนอน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ครึ่งหนึ่งของการใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งมีทั้งความสุข ความทุกข์ ความจริง การหลอกลวง การรังแก และการเอื้ออาทร

“เป็นความร่วมมือของกรมสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องในประเด็นการใช้ความรู้ทางสุขภาพจิต บวกกับความรู้ด้านดิจิทัล ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำให้เกิดหลักสูตรที่คนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่แม้กระทั่งผู้ใหญ่ สามารถใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลอย่างมีความสุขและปลอดภัย เหมาะกับโลกยุคปัจจุบัน สามารถเรียนผ่านออนไลน์หรือเรียนเวลาใดก็ได้”

ด้าน “รศ.ดร.ณรงค์ มั่งคั่ง” รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวสั้นๆ ถึงการมีส่วนร่วมในการทำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ด้วยการบูรณาการจากการเข้าใจเข้าถึง ตลอดจนการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรของกรมสุขภาพจิต

ทั้งนี้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เป็นผู้พัฒนาจัดทำสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในแต่ละเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ครอบคลุมทักษะดิจิทัลให้ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ประกอบด้วย แอนิเมชัน โมชันกราฟิก และวีดิทัศน์จำลองสถานการณ์

หวังเพิ่มดัชนีสุขภาวะดิจิทัลเด็กไทยและคนไทย “สายชล ทรัพย์มากอุดม” รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการที่คนไทยจะต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในลักษณะการเรียนรู้ ดังนั้น เอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider จึงได้จัดทำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์โดยระดมผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา และมีความร่วมมือกับ มจธ. พัฒนาหลักสูตรในรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นแอนิเมชัน เพื่อให้สอดคล้องไปตามบริบทของคนในโลกยุคปัจจุบัน

นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ได้แก่ Practice-ปลูกฝัง ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม, Personality-แนะนำ การปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์, Protection-เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลก ออนไลน์ และ Participation-รู้จักการปฏิสัมพันธ์ ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์ อย่างเหมาะสม

“นอกจากนี้ จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย (Thailand Cyber Wellness Index) ยังพบกลุ่มนักเรียนที่เอไอเอสเข้าใจว่าสามารถใช้งานสื่อดิจิทัลออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญในฐานะคนรุ่นใหม่ แต่ผลวิจัยกลับชี้ว่า เป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์”

จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่มีการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่ กทม. หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการนำหลักสูตรส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งขยายผลไปสู่ระดับอุดมศึกษา รวมถึงส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

“เอไอเอสหวังให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร จะทำให้เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจน ผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัล ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและ คนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไปได้” 

 

ที่มา:  นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 – 30 ส.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200