เยี่ยมศูนย์ฯ BFC 10 ฝ่ายเขตบางกอกน้อย จัดพื้นที่ทำการค้าในและนอกจุดผ่อนผัน ส่งเทศกิจส่องจุดเสี่ยงอาชญากรรม ตรวจเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างลุมพินีวิลล์ ชมต้นแบบคัดแยกขยะโรงเรียนวัดยาง ปรับสวนเดิมพร้อมทำสวนใหม่เป็นสวน 15 นาที
(24 พ.ย.65) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้
จุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตบางกอกน้อย เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการของกรุงเทพมหานคร โดยนำงานบริการของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต มาให้บริการรวมกันที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการและติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขตฯ เปิดให้บริการครบทั้ง 10 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายปกครอง ฝ่ายรายได้ ฝ่ายการคลัง ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายโยธา ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ โดยแจ้งประเภทงานที่มารับบริการตรงจุดประชาสัมพันธ์ รับบัตรคิวจากตู้ BMA Q รอเรียกเข้ารับบริการตามประเภทงานของฝ่าย หรือนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Application BMA Q ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน จำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ฝ่าย พร้อมทั้งติดตามการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้ประจำปีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
จุดที่ 2 จุดผ่อนผันทำการค้า บริเวณปากซอยอรุณอมรินทร์ 22 (ซอยวังหลัง) ถนนอรุณอมรินทร์ จุดที่ 3 จุดทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยอรุณอมรินทร์ 20 (ศาลาต้นจันทน์) ถนนอรุณอมรินทร์ จุดที่ 4 จุดผ่อนผันทำการค้า บริเวณซอยแสงศึกษา ถนนอิสรภาพ ซึ่งมีการปรับภูมิทัศน์และจัดระเบียบผู้ค้า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม โดยได้รับการสนับสนุนร่มจากโรงพยาบาลธนบุรี ทั้งนี้เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด ได้แก่ 1.บริเวณใต้สะพานอรุณอมรินทร์ (ข้ามคลองบางกอกน้อย) ผู้ค้า 2 ราย ขายข้าวหมกไก่ ก๋วยเตี๋ยว น้ำชง เวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 2.บริเวณถนนอิสรภาพ หน้าร้านสะดวกซื้อ 7 – ELEVEN ผู้ค้า 4 ราย ขายโตเกียว ลูกชิ้นปิ้ง หมูย่าง เนื้อย่าง ยำรวมมิตร เวลาทำการค้า 17.00-20.00 น. 3.บริเวณตรงข้ามกรมควบคุมความประพฤติ ปากซอยวังหลังซอย 4 ผู้ค้า 2 ราย ขายขนมจีนน้ำยา น้ำผลไม้ปั่น เวลาทำการค้า 17.00-20.00 น. 4.บริเวณหน้าวัดเจ้าอาม ถนนบางขุนนนท์ ผู้ค้า 2 ราย ขายลูกชิ้นต้ม หมูทอด เนื้อทอด เวลาทำการค้า 17.00-20.00 น. 5.บริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ผู้ค้า 2 ราย ขายกาแฟ ส้มตำ เวลาทำการค้า 07.00-17.00 น. 6.บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสามแยกไฟฉาย ผู้ค้า 3 ราย ขายขนมครก กล้วยแขก ลูกชิ้นทอด เวลาทำการค้า 07.00-17.00 น. และ 7.บริเวณปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 (ศาลาต้นจันทน์) ถนนอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 1 ราย ขายขนมจีน เวลาทำการค้า 07.00-17.00 น.
จุดที่ 5 จุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม ในพื้นที่เขตฯ มีจุดเสี่ยงจำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.บริเวณกลางซอยบางขุนนนท์ 24 2.บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 แยกอำนวยผล 8 (ชุมชนคลองล่าง) และ 3.บริเวณซอยอิสรภาพ 44 (ตรอกมะตูม) โดยเขตฯ ได้ติดตั้งตู้เขียวและจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตราในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจร
จุดที่ 6 ต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดยางสุทธาราม ถนนพรานนก พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา มีนักเรียนทั้งหมด 485 คน วิธีการคัดแยกขยะโดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ การคัดแยกขยะอินทรีย์ โดยการย่อยสลายลงดิน เพื่อเป็นปุ๋ยในการปลูกพืช การคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำไปเป็นรายได้ของนักเรียนและทำสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล การคัดแยกขยะอันตราย นำถังรองรับขยะอันตราย และประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนทราบ และแจ้งเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บเมื่อมีปริมาณที่มาก การคัดแยกขยะทั่วไป นำถังรองรับขยะทั่วไป และประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนและบุคคลากรในโรงเรียนทราบ สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการคัดแยกเฉลี่ย 15-20 กก./ต่อวัน หลังดำเนินการคัดแยกเฉลี่ย 10-12 กก./ต่อวัน ปัจจุบันโรงเรียนนำขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ กลับมาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับนักเรียน เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บขยะสัปดาห์ละ 3 ครั้ง วันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์
จุดที่ 7 ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 สถานที่ก่อสร้างอาคารชุดลุมพินีวิลล์ จรัญ-ไฟฉาย ระหว่างซอยจรัญสนิทวงศ์ 20 และ 22 ถนนจรัญสนิทวงศ์ อาคารชุดอยู่อาศัย 1,482 ห้อง โดยบจม.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในพื้นที่เขตฯ มีสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ดังนี้ สถานประกอบการ/โรงงาน 25 แห่ง สถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่และตรวจวัดควันดำรถในสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง โรงงานที่มีหม้อไอน้ำ 1 แห่ง สถานประกอบการอู่เคาะพ่นสี 6 แห่ง ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ตรวจสอบตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัย การติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารป้องกันฝุ่น การพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นละอองและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ การตรวจวัดควันดำรถเข้า-ออกโครงการก่อสร้าง ตลอดจนได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
จุดที่ 8 สวนสาธารณะใหม่ ที่เขตฯ จะจัดทำเป็นสวน 15 นาที คือ สวนหย่อมยูเทิร์นเพลินใจ ตั้งอยู่ริมทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางขุนศรี ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 พื้นที่ 22 ตารางวา ชนิดต้นไม้ที่จะปลูก ไม้ยืนต้น ได้แก่ ต้นทองอุไร ต้นลีลาวดี ต้นไทรทอง ต้นไทรอังกฤษ ไม้พุ่มขนาดเล็ก ได้แก่ ต้นเฟื่องฟ้า ต้นชาดัด
จุดที่ 9 สวนสาธารณะเดิม ที่เขตฯ จะพัฒนาเป็นสวน 15 นาที จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สวนหย่อมปากซอยรุ่งประชา ถนนบรมราชชนนี (ซอยโรงพยาบาลเจ้าพระยา) พื้นที่ 1 งาน 27 ตารางวา สวนหย่อมสายใต้เก่า บริเวณจุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อย พื้นที่ 1 งาน 25 ตารางวา
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกน้อย คณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดยางสุทธาราม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี #ปลอดภัยดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)