(24 พ.ย.65) เวลา 08.00 น. นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการจัดการขยะต้นทางของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และผ่านระบบออนไลน์
ในที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดการขยะที่ต้นทางตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 1.การจัดการขยะครบวงจรตามโครงการ “ไม่เทรวม” ซึ่งในปี 2565 ดำเนินการนำร่องในพื้นที่เขต 3 เขต ได้แก่ เขตหนองแขม เขตปทุมวัน และเขตพญาไท กรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 8 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 โดยขอความร่วมมือประชาชนแยกขยะออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ขยะเศษอาหาร” และ “ขยะทั่วไป” สำนักงานเขตได้ดำเนินการส่งเสริมชุมชนและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่เขตคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ ตั้งจุดรับมูลฝอยรีไซเคิลในสถานที่ราชการและเอกชน เช่น สำนักงานเขต สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ จัดทำประกาศประชาสัมพันธ์การเก็บมูลฝอยเศษอาหารแยกจากมูลฝอย และรายงานผลการดำเนินการใน Google form ผลการดำเนินการจัดเก็บขยะอินทรีย์หรือขยะเศษอาหาร เขตหนองแขมสามารถเก็บได้ 9,060 กิโลกรัม เขตปทุมวัน เก็บได้ 17,073 กิโลกรัม เขตพญาไท เก็บได้ 15,724 กิโลกรัม (ข้อมูลน้ำหนักขยะอินทรีย์ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2565) ปัจจุบันได้ขยายการรับขยะอินทรีย์ โดยให้ประชาชนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการผ่านทางแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)
2.การพัฒนาระบบทิ้งขยะเพื่อปรับสภาพแวดล้อมบนทางเท้าด้วย “กรงตาข่าย” เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของทางเท้า ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานสำนักงานเขตวัฒนา ทดลองตั้งวางกรงตาข่ายจำนวน 20 ชุด บนทางเท้าถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 11 – ซอยสุขุมวิท 79 จำนวน 10 จุด จุดละ 2 ชุด ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 เป็นต้นมา ผลการเก็บข้อมูลพบว่าการทิ้งขยะในกรงตาข่ายทำให้ทัศนียภาพจุดทิ้งขยะเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น แต่ยังพบปัญหาหนูพยายามเข้าไปในกรงตาข่าย และกัดเชือกตาข่ายเป็นรูขนาดใหญ่ รวมถึงมีปริมาณถุงขยะที่นำมาวางมีปริมาณมากกว่าจำนวนกรงตาข่ายจึงพบถุงขยะวางนอกกรงตาข่าย รวมถึงจำนวนถุงขยะที่จุดทิ้งเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นได้ปรับลดจำนวนจุดและนำกรงตาข่ายจากจุดท้าย ๆ มาเสริมในจุดที่จำนวนถุงขยะล้นมานอกกรงตาข่าย ขณะนี้กำลังปรับรูปแบบกรงตาข่ายเป็นกรงเหล็ก เพื่อให้แข็งแรงมากขึ้น
3.จุด Drop Off ตามนโยบายส่งขยะกลับคืนสู่ระบบ ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กลุ่ม PPP Plastics โครงการวน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) Youเทิร์น by PTTGC และ Z-Safe ดำเนินการโครงการ “มือวิเศษกรุงเทพ” โดยเริ่มต้นภารกิจแรก “แยกเพื่อให้..พี่ไม้กวาด” เพื่อช่วยเหลือ พนักงานกวาดถนน ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขต ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต่อยอดความสำเร็จของโครงการ “แยกขวดช่วยหมอ ฝาก กทม. ก็ได้นะ” เมื่อปี 2565 แนวคิดหลักของโครงการ คือ การส่งเสริมการจัดการขยะทั้งที่บ้านและพื้นที่สาธารณะของทุกคน ด้วยการทิ้งขยะให้ลงถัง เพื่อลดภาระของพนักงานกวาดถนน นำขยะพลาสติกขวดเพ็ทใส เบอร์ 1 (PET) กลับเข้าสู่การรีไซเคิล แปรรูปเป็นชุดปฏิบัติงาน ที่มีแถบสีสะท้องแสง มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล จำนวน 1,000 ชุด นำขยะพลาสติกขุ่น เบอร์ 2 (HDPE) เข้าสู่การรีไซเคิล แปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้างหรือจัดทำพื้นที่คืนพลาสติก นำไปติดตั้งใน “แลนด์มาร์คการจัดการขยะครบวงจร” ทั้ง 52 จุดของกรุงเทพมหานคร นำพลาสติกยืด เช่น ถุงพลาสติก บั้บเบิ้ลกันกระแทก เข้าสู่ระบบการรีไซเคิลเป็นถุงขยะ พลาสติกที่คัดแยกสะอาดแต่ยังขายไม่ได้ (ขยะพลาสติกกำพร้า) และกล่องเครื่องดื่ม เพื่อรวมรวมกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล เพื่อส่งเสริมวินัยการแยกขยะครัวเรือน ขณะนี้เตรียมส่งมอบชุดตะแกรงรับขยะพลาสติกกำพร้า และชุดรับกล่องเครื่องดื่มไปติดตั้งเพิ่มใน 51 จุด (ติดตั้งครบ 5 ประเภทแล้วแล้ว 1 จุดที่ ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง) และเตรียมขยายจุดรับขวดในตลาดของกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง และสวนสาธารณะ 2 แห่ง รวมถึงติดตั้งชุดรับพลาสติก 5 ประเภท เพิ่มอีก 1 จุด ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ถนนวิภาวดี-รังสิต โดยสามารถลดขยะที่ต้องนำไปฝังกลบจากความร่วมมือของประชาชน จำนวน 7,056 กิโลกรัม และโครงการฯ ได้ดำเนินการประเมินผลความพึงพอใจและการใช้งานในภาพรวมจากพี่ไม้กวาด เขตดินแดง ซึ่งเป็นเขตนำร่องทดลองใส่ชุดสะท้อนแสงในการปฏิบัติงานจริง
4.ความคืบหน้าการเตรียมแผนการจัดการขยะภายในงานกาชาดประจำปี 2565 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-18 ธันวาคม 2565 ณ สวนลุมพินี โดยสำนักสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบการดูแลรักษาความสะอาดและการจัดการขยะร่วมกับสำนักงานเขต เบื้องต้นกำหนดจุดคัดแยกมูลฝอย เพื่อตั้งวางถังมูลฝอยแยกประเภท 40 จุด ครอบคลุมทั่วพื้นที่การจัดงาน และจุดพักมูลฝอย 6 จุด โดยจะจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดทิ้งขยะทุกจุด และกำหนดจุดสำหรับล้างภาชนะหรือทิ้งเศษอาหารโดยเฉพาะ เพื่อดูแลให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการแยกขยะและทิ้งให้ถูกถัง ไม่ให้มีการลักลอบทิ้งเศษอาหารหรือน้ำจากการล้างภาชนะลงท่อระบายน้ำ รวมถึงร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวันจัดเก็บขยะมูลฝอยภายในบริเวณงานพร้อมชักลากไปที่จุดพักเพื่อรอการจัดเก็บไม่ให้มีขยะตกค้างต่อไป ทั้งนี้ จะได้ขอความร่วมมือจากอาสาสมัครในการให้ความรู้การคัดแยกขยะแก่ที่มาเที่ยวงานกาชาดด้วย
สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ วันนี้มี นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการสำนักสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ภาคีอุตสาหกรรมศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) นักวิจัย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
#สิ่งแวดล้อมดี
—– (จิรัฐคม…สปส./ฐปนรรฆ์…สสล.รายงาน)