กทม.ยันไม่เบี้ยวหนี้BTS ย้ำมีเงินจ่าย-รอสภาเคาะ
ผู้จัดการรายวัน360 – กทม.โยนครม.ตัดสินสายสีเขียว ยันพร้อมจ่ายหนี้บีทีเอสหมื่นล้าน ไม่มีเจตนาเบี้ยว มีเงินสะสมสำรองกว่า 7 หมื่นล้านบาท อ้างเหตุผลที่ยังเป็นปัญหาของการดำเนินโครงการ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการจ่ายชำระได้ แต่เน้นความครบถ้วนตามข้อบัญญัติ และต้องผ่านการพิจารณาของสภา กทม. ตามขั้นตอนก่อน
ผู้จัดการรายวัน360 – กทม.โยน ครม.ตัดสินสายสีเขียว ยันพร้อมจ่ายหนี้บีทีเอสหมื่นล้าน ไม่มีเจตนาเบี้ยว มีเงินสะสมสำรองกว่า 7 หมื่นล้านบาท อ้างเหตุผลที่ยังเป็นปัญหาของการดำเนินโครงการ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการจ่ายชำระได้ แต่เน้นความครบถ้วนตามข้อบัญญัติ และต้องผ่านการพิจารณาของสภา กทม. ตามขั้นตอนก่อน
วานนี้ (22 พ.ย.) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. แถลงความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว สืบเนื่องกรณี บีทีเอสซี ปล่อยคลิปทวงหนี้ 40,000 ล้านบาท โดยกล่าวว่า กทม.ไม่มีเจตนาชะลอการชำระหนี้ แต่มีเหตุผลที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนี้
ส่วนต่อขยาย 1 คือ สถานีอ่อนนุชสถานีแบริ่ง และสถานีตากสิน-สถานีบางหว้า เนื่องจากมีคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 62 มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการให้ไปเจรจากับเอกชน รับภาระค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ พ.ค. 62 จึงไม่สามารถจ่ายได้ อีกทั้งมูลค่าหนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที คิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
ส่วนต่อขยาย 2 คือ สถานีหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ สถานีแบริ่งสมุทรปราการ เนื่องจากสัญญาส่วนต่อขยายดังกล่าว ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. แต่เคที กลับไปว่าจ้างเอกชนให้ดำเนินการ วันที่ 28 มิ.ย. 59 ก่อนจะมีบันทึกมอบหมาย ในวันที่ 28 ก.ค. 59
นอกจากนี้ ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ต้องรอให้ ครม. พิจารณาและมีมติขยายสัมปทาน หรือไม่ หาก ครม. อนุมัติทุกอย่างจะไปเป็นตามสัญญาใหม่ที่เอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ถ้า ครม.ไม่อนุมัติ เป็นหน้าที่ กทม.ที่จะต้องกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้ขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมี 2 วิธี ได้แก่ 1. ให้สภา กทม.ให้สัตยาบัน ย้อนหลังสัญญาจ้างเดินรถ และสัญญาติดตั้งระบบ และ 2. ถ้าสภา กทม. ไม่ให้สัตยาบัน ให้รอศาลปกครองตัดสิน
ด้านนายต่อศักดิ์ กล่าวว่า กทม.มีเงินสะสมของ กทม. ที่มีอยู่ 7 หมื่นล้านบาทพอชำระหนี้ได้ ยืนยันว่า พร้อมจ่ายเงินทันที แต่กระบวนการไม่พร้อม ขณะที่รายงานข่าวแจ้งว่า มูลค่าหนี้ที่เอกชนทวงเป็นจำนวน 4 หมื่นล้านบาท มาจากค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 จำนวน 3,800 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 14,000 ล้านบาท ค่าระบบอาณัติสัญญาณ จำนวน 19,000 ล้านบาท.
ที่มา: นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 23 พ.ย. 2565