ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (26 ก.ค.66) : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.256
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงหลักการและเหตุผลร่างข้อบัญญัติฯ ว่า กรุงเทพมหานครตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยกำหนดวงเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ และสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร บนหลักของการมีประสิทธิภาพและโปร่งใส จำนวน 90,819.48 ล้านบาท จำแนกได้ดังนี้ รายจ่ายของกรุงเทพมหานคร 90,000 ล้านบาท และรายจ่ายของการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร 819.48 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณต่าง ๆ ได้มีงบประมาณเป็นหลักในการจ่ายเงินงบประมาณ โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการตั้งงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การคำนึงถึงความคุ้มค่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ พร้อมรายงานสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 20 ก.ค.66 ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2565
“ร่างข้อบัญญัติฯ ที่ได้เสนอเข้าสู่สภากทม.เพื่อพิจารณารับหลักการในวาระที่หนึ่ง ประกอบด้วย งบประมาณตามนโยบายด้านเดินทางดี จำนวน 7,913 ล้านบาท คิดเป็น 38.48 % ด้านปลอดภัยดี จำนวน 1,700 ล้านบาท คิดเป็น 8.27 % ด้านโปร่งใสดี จำนวน 82 ล้านบาท คิดเป็น 0.4% ด้านสิ่งแวดล้อมดี จำนวน 7,137 ล้านบาท คิดเป็น 34.71% ด้านสุขภาพดี จำนวน 2,664 ล้านบาท คิดเป็น 12.96% ด้านเรียนดี จำนวน 488 ล้านบาท คิดเป็น 2.37% ด้านเศรษฐกิจดี 36 ล้านบาท คิดเป็น 0.17% ด้านสังคมดี จำนวน 285 ล้านบาท คิดเป็น 1.39 % และด้านบริหารจัดการดี จำนวน 258 ล้านบาท คิดเป็น 1.25% นอกจากนี้ยังจัดสรรงบประมาณเพื่อลงสู่เส้นเลือดฝอย ครอบคลุม 50 เขต อีกจำนวน 3,356 ล้านบาท และหากจำแนกงบประมาณตามลักษณะงานและลักษณะรายจ่าย พบว่าเป็นการจัดบริการของสำนักงานเขต สูงสุดถึง 22.85%” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
สำหรับงบประมาณปี 67 หากแยกตามหน่วยงาน ระดับสำนัก มีจำนวน 54,713,217,100 บาท งบกลาง 14,718,825,400 บาท และสำนักงานเขต 20,567,957,500 บาท สำนักที่ขอจัดสรรมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักการโยธา 11,563 ล้านบาท สำนักการระบายน้ำ 8,936 ล้านบาท และสำนักสิ่งแวดล้อม 7,579 ล้านบาท กลุ่มเขตที่ขอจัดสรรงบประมาณสูงสุดตามลำดับ คือ กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 4,744 ล้านบาท คิดเป็น 23% กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 3,296 ล้านบาท คิดเป็น 16% กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 3,371 ล้านบาท คิดเป็น 16% กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 3,231 ล้านบาท คิดเป็น 16% กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 3,055 ล้านบาท คิดเป็น 15% และกลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 2,870 ล้านบาท คิดเป็น 14%
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพมหานครในด้านต่าง ๆ อาทิ
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า การตั้งงบประมาณของกทม.ที่ผ่านมาเพื่อให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี งบประมาณกทม.เป็นแบบสมดุล รับเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น แต่ยังพบความล่าช้าโครงการหลายหน่วยงาน อาทิโครงการของสำนักการโยธา นอกจากนี้ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ของสำนักสิ่งแวดล้อม การติดตั้งกล้องCCTV ของสำนักการจราจรและขนส่ง และโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ของสำนักการศึกษา เป็นต้น
“การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความคุ้มค่าของฝ่ายบริหารจะทำให้การขับเคลื่อนการทำงานเป็นไปได้ช้า และซ้ำซ้อนกับการทำงานของสภาที่ได้พิจารณาตรวจสอบ เนื่องจากได้กลั่นกรองงบประมาณไปแล้ว งบที่ผ่านไปแล้วจึงขอให้หน่วยงานรีบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างทันที” ส.ก.สุทธิชัย กล่าว
นายสราวุธ อนันต์ชล ส.ก.เขตพระโขนง อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงความสำคัญของภารกิจการนำข้อมูลร้องเรียนจากทราฟฟี่ ฟองดูว์ มากำหนดเป็นแผนการทำงานเพื่อจัดสรรงบแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับผู้ที่สัญจรบนทางเท้าและถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยขอให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน และขอให้กรุงเทพมหานครได้ศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และเส้นทางเดินเรือคลองบางกอกใหญ่เพื่อส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวของฝั่งธน
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า งบปีนี้จะได้ใช้ตามนโยบายของผู้ว่าฯปัจจุบันมากขึ้น โดยนโยบายที่เห็นว่าควรยกขึ้นมาทำก่อน ได้แก่ นโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนโดยจัดทำจุดจอดรถจักรยานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง นโยบายการเพิ่มรถเมล์สายหลักและสายรอง โดยรถเมล์สายรองจะทำให้ประชาชนเชื่อมต่อกับระบบหลักได้และเป็นการใช้งบที่ไม่มาก นโยบายการจัดตั้ง Command center โดยจัดสรรงบเพื่ออุดหนุนหน่วยงานอื่น เมื่อดำเนินการไปแล้วต้องติดตามการใช้จ่ายอย่างใกล้ชิด และนโยบายรถไฟฟ้าสายสีเขียวประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ฝ่ายบริหารต้องทำนโยบายให้ครบทุกข้อที่ประกาศไว้
*นำหลักวิธีการสรรหา วิธีการพัฒนา และวิธีการรักษาแก้ปัญหาบุคลากรกทม.
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 35 ได้กำหนดเรื่องการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นและลูกจ้าง ที่นำมาจากเงินรายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนและเงินกู้หรือเงินอื่นใดนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะกำหนดสูงเกินกว่าร้อยละ 40 ของงบประมาณท้องถิ่นนั้นไม่ได้
“ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นมากทม.ใช้งบประมาณในส่วนนี้ไม่ถึงร้อยละ 40 ในแต่ละปียังมีส่วนต่างที่ยังไม่ได้ใช้หลายพันล้านบาท แต่พบว่าบุคลากรหลายส่วนของกทม.ยังมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน จึงสอบถามการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ สำนักงาน ก.ก. ว่ามีแนวทางการพิจารณาอย่างไร การแก้ปัญหาโดยใช้การจ้างเหมารายบุคคลที่ทำอยู่จะทำให้บุคลากรไม่ได้รับสวัสดิการ ส่งผลให้เกิดปัญหาสมองไหล และข้าราชการโอนย้าย ซึ่งสำนักงานก.ก.ต้องนำหลักวิธีการสรรหา วิธีการพัฒนา และวิธีการรักษามาใช้ในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ สำหรับวิธีการสรรหา คือเมื่อทราบจำนวนผู้ที่เกษียณอายุราชการให้สำรวจตำแหน่งว่างและเปิดสอบล่วงหน้า รวมถึงการลดเพดานมาตรฐานข้อสอบ วิธีการพัฒนาโดยอบรมและประเมินบุคลากรอย่างต่อเนื่อง วิธีการรักษาโดยการจัดหาสวัสดิการให้มีความมั่นคง ก้าวหน้าในอาชีพ เมื่อแก้ปัญหาได้งานจะได้ไม่โหลด”
จากนั้นส.ก.สุรจิตต์ ได้อภิปรายถึงการปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม
*ชื่นชมการทำงบฐานศูนย์ ทำให้การใช้จ่ายงบมีประสิทธิภาพ
นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา กล่าวชื่นชมการจัดทำงบประมาณของกรุงเทพมหานครซึ่งในปีนี้จัดทำระบบงบประมาณแบบฐานศูนย์ เพราะจะเริ่มจากศูนย์ทุกปี เป็นการเรียงตามลำดับงานใหม่ทุกปี โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนงานได้ตามสถานการณ์แต่ละปี และส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายประเด็นปัญหาในพื้นที่พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา และตั้งข้อสังเกตการจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ประกอบด้วย นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก นายเอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก.เขตราชเทวี นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน และนางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบรับหลักการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวนทั้งสิ้น 45 ท่าน
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาฯได้พิจารณารับร่างข้อบัญญัติ จึงขอให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดภายในวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2566
* เห็นชอบเลือก ส.ก.สุทธิชัย เป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาปี 67 ของกทม
ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้ประชุมนัดแรกในวันเดียวกันนี้ โดยมีมติให้ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง เป็นประธานฯ นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย รองประธานคนที่ 1 นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก.เขตทวีวัฒนา รองประธานคนที่ 2 นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ ส.ก.เขตคลองเตย รองประธานคนที่ 3 นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองประธานคนที่ 4 และนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง เป็นเลขานุการคณะคณะกรรมการวิสามัญฯ
———————————-