ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (26 ก.ค.66) : นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง การป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำและไฟไหม้บ้านริมคลองในพื้นที่เขตสวนหลวง
“เนื่องจากพื้นที่สวนหลวงมีคลอง ลำรางจำนวนมาก บางชุมชนใช้เรือในการเดินทางเป็นหลัก เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินประชาชนได้รับความลำบากในการขนส่งผู้ป่วย จึงขอให้กทม.พิจารณาทำสะพานข้ามคลองเพิ่มเติมให้ ที่สำคัญในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้จะลุกลามเร็วมาก การระงับเพลิงทำได้ยาก จึงขอสอบถามว่ากทม.มีการเตรียมกู้ภัยทางน้ำ ในปี 67 นี้อย่างไร ประปาหัวแดงที่มีอยู่สามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ และสามารถจัดหาเรือกู้ชีพ เรือดับเพลิงให้ครอบคลุมหรือไม่” ส.ก.ปิยะวรรณ กล่าว
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำและไฟไหม้ในพื้นที่เขตสวนหลวง อยู่ในพื้นที่การดูแลของสถานีดับเพลิงสามเสนและบวรมงคล ซึ่งมีฝ่ายปฏิบัติการกู้ภัยทางน้ำ จากข้อมูลชุมชนและแผนที่ความเสี่ยงเขตสวนหลวง พบว่า ในพื้นที่มีจำนวนคลองและลำราง จำนวน 35 สาย มีชุมชนที่จดทะเบียนกับกทม. 45 ชุมชน เครื่องดับเพลิงหาบหาม จำนวน 8 เครื่อง ทั้งนี้เครื่องดับเพลิงหาบหามที่มีประชาชนทั่วไปจะใช้ไม่สะดวก จึงมีเครือข่ายอาสาสมัครในชุมชนช่วยดูแลอีกจำนวน 362 คน สำหรับจุดเสี่ยงอัคคีภัยในพื้นที่มีจำนวน 43 จุด โดย 5 อันดับแรกเป็นพื้นที่ติดลำน้ำ ซึ่งกทม.ได้จัดทำแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันอุบัติเหตุและอัคคีภัย และซักซ้อมแผนกับชุมชนบางส่วนไปแล้ว ในส่วนของประปาหัวแดง ตามที่ได้สำรวจร่วมกับการประปานครหลวงพบว่าทุกหัวใช้งานได้ทุกจุด และได้สำรวจเครื่องดับเพลิงหาบหามเพื่อลงในแผนที่เพิ่มเติม เพื่อปิดช่องว่างจุดเสี่ยงทั้งหมด สำหรับการเตรียมพร้อมเรือกู้ชีพ ดับเพลิง เพื่อให้ครอบคลุม เมื่อวิเคราะห์สภาพพื้นที่พบว่าลำน้ำในเขตสวนหลวงตื้นเขิน จึงต้องประเมินความเสี่ยงใหม่ว่าจะจัดหาเรือได้มากน้อยอย่างไร ทั้งนี้ประชาชนมีเรือท้องแบนหากใช้เครื่องหาบหามขนาดเล็กจะเหมาะสมกับพื้นที่
ส.ก.ปิยะวรรณ ได้กล่าวในช่วงสุดท้ายขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหานี้ให้ครบทุกเขต ทุกกลุ่มโซน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนชาวกรุงเทพฯทุกคน
____________