ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (13 ก.ค.66) : นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก เสนอญัตติขอตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้กัญชาหรือกัญชงบริเวณใกล้สถานที่เปราะบาง
เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ได้ปลดใบและรากกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 ออกจากรายชื่อสารเสพติด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีร้านค้าและรถเร่ ลักษณะคล้ายกับ Food Truck จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมทั้งผลิตภัณฑ์กัญชาแปรรูปตั้งอยู่ใกล้กับสถานศึกษา ซึ่งอาจทำให้นักเรียนเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ง่าย ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีประกาศ เรื่อง การเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน กรุงเทพมหานครควรบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขต สำนักอนามัย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงสาธารณสุข โดยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันผู้ค้าและร้านค้า ในการควบคุมการจำหน่ายกัญชา มีการสำรวจและรวบรวมข้อมูลร้านจำหน่ายกัญชาบริเวณใกล้สถานศึกษาและโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ตลอดจนร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งอาจมีการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ขนม ที่มีส่วนผสมของกัญชาและสารเสพติดอื่น ๆ เพื่อให้คำแนะนำการจำหน่ายกัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเข้มงวดตรวจตรา กวดขัน และดำเนินคดีกับหาบเร่แผงลอยที่ จำหน่าย ตั้งวางกัญชาในพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงสอดส่องกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการไม่กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 หากพบการกระทำผิดต้องดำเนินการตามกฎหมายและประสานหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงที
“ปัญหากัญชาส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองจากนโยบายกัญชาเสรีมากที่สุด ซึ่งควรคำนึงถึงเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และผู้ไม่ประสงค์ใช้กัญชาให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเมหาะสม ซึ่งในช่วงภาวะสูญญากาศส่งผลต่อเด็กและเยาวชนมากที่สุด ส่งผลทั้งด้านสุขภาพ การเรียนรู้ และเมื่อเริ่มใช้แล้วยิ่งเสี่ยงต่อการเสพติด” ส.ก.วิพุธ กล่าว
ที่ผ่านมากทม.มีประกาศ เรื่อง การเฝ้าระวังปัญหากัญชา กัญชงในกทม. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2566 ซึ่งพบว่ายังไม่ครอบคลุม ทั้งในเรื่องการโฆษณาเพื่อคุ้มครองเยาวชน และยังไม่มีการกำหนด Zoning ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ กล่าวว่า การใช้กัญชาและกัญชงเป็นปัญหาที่มีต่อเนื่องตรงพื้นที่คอนแวนต์กับบางรักที่ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งตัวเลขที่พบเป็นเรื่องที่น่าตกใจและกังวลและต้องมีมาตรการดำเนินการ
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังการนำกัญชาหรือกัญชงมาใช้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของร้านอาหารที่มีการนำกัญชาหรือกัญชงมาใช้ในการปรุงต้องแสดงป้ายให้ชัดเจน ซึ่งการสำรวจร้านอาหารได้ควบคุมกำกับทั้งร้านอาหารและแผงลอยที่อยู่รอบโรงเรียน จากการสำรวจพบว่ามีการขออนุญาตจดทะเบียนกับกรมแพทย์แผนไทย จำนวน 2,210 ใน 50 เขต และเป็นร้านที่อยู่ใกล้สถานศึกษา จำนวน 1,444 ร้าน คิดเป็น 65% ของร้านทั้งหมด และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพใต้ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ประสานใช้ข้อมูลจากกรมแพทย์แผนไทย เกี่ยวกับร้านค้าที่อยู่ใกล้โรงเรียนเพื่อให้เขตและสำนักอนามัยได้ตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้น ต่อไปในอนาคตอาจต้องมีการออกข้อบัญญัติกำหนดระยะห่างจากสถานศึกษาต่อไป
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ จำนวน 18 ท่าน กำหนดระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน
——————-